เที่ยว“ศรีสัชนาลัย” มรดกโลกทรงคุณค่า ชุมชนทรงเสน่ห์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
13 ตุลาคม 2553 16:50 น.รถราง พาหนะชมโบราณสถาน
ก่อนหน้าที่กรุงสุโขทัยจะขึ้นมาเป็นราชธานีแรกแห่งสยามประเทศนั้น ปรากฏหลักฐานว่ามีเมือง 2 เมืองในลุ่มแม่น้ำยมเจริญรุ่งเรืองเคียงคู่กัน
หนึ่งนั้นคือเมืองสุโขทัย ส่วนอีกหนึ่งคือเมืองเชลียง
เมื่อเมืองสุโขทัยพัฒนากลายมาเป็นราชธานีโดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรก เมืองเชลียงได้ลดฐานะลงเป็นเมืองลูกหลวง* แต่ก็ยังมีความสำคัญเคียงคู่กันวัดนางพญา
โดยเมืองเชลียง หรือ เฉลียง เชียงชื่น เฉินเหลียง สวรรคโลก เหล่านี้คือสถานที่เดียวกัน เป็นชื่อดั้งเดิมของเมือง(เก่า)ศรีสัชนาลัย ที่ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ไม่แพ้อาณาจักรสุโขทัย
ขณะที่ปัจจุบันเมืองเก่าศรีสัชนาลัยถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย เพราะมีดีกรีเป็นมรดกโลกเคียงคู่มากับเมืองเก่าสุโขทัยและเมืองเก่ากำแพงเพชร โดยไฮไลท์ของอดีตอันรุ่งโรจน์ของเมืองเก่าศรีสัชนาลัยนั้นอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จุดหมายหลักของ “ตะลอนเที่ยว” ในทริปนี้ลวดลายปูนปั้นที่หลงเหลือ
อุทยานฯศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ในยุคทองของงานศิลปกรรมและงานพุทธศิลป์แห่งสยามประเทศ ดังนั้นการถ่ายทอดศิลปะของช่างฝีมือจึงมีความสวยงาม ละเมียดละไม และสลับซับซ้อนมากกว่าช่างในสมัยนี้
อุทยานฯศรีสัชนาลัย แบ่งพื้นที่เป็นส่วนนอกและส่วนในกำแพงเมืองเก่า มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในเขตของ ต.ศรีสัชนาลัย ต.สารจิตร ต.หนองอ้อ ต.ท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ต.ศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประณ 45.14 ตารางกิโลเมตรวัดช้างล้อม
ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่คาดว่าในบริเวณอุทยานฯมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุรวมทั้งหมดประมาณ 200 กว่าแห่งหรืออาจมากกว่านั้น โดยโบราณสถานที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัดวาอาราม ซึ่งหลักๆ ประกอบไปด้วย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดชมชื่น วัดเขาพนมเพลิง วัดสวนแก้วอุทยานใหญ วัดนางพญา วัดเขาสุวรรณคีรี วัดสวนแก้วอุทยานน้อย และวัดช้างล้อม
ใครที่มาเที่ยวอุทยานฯศรีสัชฯแล้วมีเวลาน้อย “ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำให้นั่งรถรางเที่ยวชมในบริเวณเขตกำแพงเมืองเก่า ซึ่งจะมีวิทยากรคอยบรรยายให้ความรู้ไปตลอดเส้นทาง
สำหรับวัดหลักๆ ที่รถรางสามารถพาเที่ยวชมได้ประกอบไปด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นปางนาคปรกวัดเจดีย์เจ็ดแถว
วัดนางพญา อยู่ทางกำแพงทิศใต้ สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 หรือช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น ก่อด้วยศิลาแลง หลังคาเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปัจจุบันยังคงปรากฏเสา และตัวเจดีย์ ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ที่เป็นไฮไลท์ของวัดนนี้คือลวดลายปูนปั้นอายุกว่า 700 ปี ที่ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี และลายปูนปั้นนี้เองที่ช่างฝีมือเมืองศรีสัชนาลัยนำไปเป็นแบบในการทำลายเครื่องเงินและเครื่องทอง จนปัจจุบันกลายเป็นเอกลักษณ์ที่รู้จักกันในนาม “เครื่องเงิน เครื่องทองโบราณ ศรีสัชนาลัย”
วัดเจดีย์เจ็ดแถว
วัดช้างล้อม เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีถูกสร้างขึ้นอยู่ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ครั้งเมื่อมีการเฉลิมฉลองใหญ่ในอดีต เจดีย์ประธานทรงกลม ฐานประทักษินสูง รายล้อมไปด้วยประติมากรรมลอยตัวรูปช้างประดับอยู่ 39 เชือก ด้านบนเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ข้อสันนิษฐานการสร้างช้างไว้รอบเจดีย์นี้คาดว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศศรีลังกา อาจได้รับอิทธิพลมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 โดยถือคติที่ช้างนั้นเป็นสัตว์มงคลและมีบทบาทในการอุปถัมภ็ค้ำจุนพุทธศาสนาตลอดมา
เตาทุเรียง
วัดเจดีย์เจ็ดแถว อยู่ตรงข้ามกับวัดช้างล้อม ภายในบริเวณวัดประกอบไปด้วยเจดีย์ทรงต่างๆ กว่า 33 องค์ ตั้งอยู่อย่างมีระเบียบแบบแผน จนทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าอาจเป็นสุสานหลวงหรือเป็นที่บรรจุอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์สุโขทัย โดยเจดีย์ภายในวัดสามารถจำแนกตามลักษณะเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูมซึ่งเป็นเอกลักษณะของศิลปะสุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทและเจดีย์ทรงกลม
เศษเครื่องสังคโลกโบราณ
และนั่นถือเป็นไฮไลท์บางส่วนในการย้อนรอยอดีตที่อุทยานฯศรีสัชนาลัย ซึ่งการที่มีโบราณสถานหรือวัดวาอารามนั้นไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงฝีมือของช่างศิลป์ในอดีต แต่ยังสามารถสะท้อนเรื่องราวในสังคมตลอดจนวิถีชีวิตในยุคนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อสภาพสังคมสงบสุข ประชาชนไม่ได้ทุกข์ยาก ขัดสน พระพุทธศาสนาย่อมเจริฐรุ่งเรืองตามไปด้วย ผิดกับปัจจุบันที่สภาพสังคมมีแต่จะยุ่งเหยิงและวุ่นวายไปทุกวันไม่เว้นในวงการพุทธศาสนา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “ตะลอนเที่ยว” ยังเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าคนไทยทุกคนยังคงมองเห็นความสำคัญและความสวยงามของพระพุทธศาสนาอยู่เสมอแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป
จากอุทยานฯศรีสัชฯ เราเดินทางมาดูเตาเผาเครื่องสังคโลกโบราณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ”เตาทุเรียง” บ้านเกาะน้อย ที่อยู่ไม่ไกลจากบริเวณกลุ่มโบราณสถานขั้นตอนการทำเครื่องเงิน
เตาที่ขุดพบบริเวณนี้กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ และมีส่วนที่ทางกรมศิลปากรได้ขุดค้นทำการศึกษาและได้จัดสร้างเป็นอาคารแสดงเตาทุเรียง และประวัติความเป็นมาตั้งแต่เริ่มขุดสำรวจ และภายนอกก็ได้นำเอาเศษของเครื่องสังคโลกโบราณมา วางเรียงกันไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม เครื่องสังคโลกของเมืองสุโขทัยนั้นมีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ซึ่งยังคงความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์มาได้จนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะลูกหลานชาวศรีสัชนาลัยนั้นเห็นในคุณค่าที่ควรจะสานต่อความรู้และภูมิปัญญาอันเก่าแก่เอาไว้
ลวดลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์
ก่อนจะเดินทางต่อ “ตะลอนเที่ยว” เปลี่ยนบรรยากาศมาช้อปปิ้งกระจายรายได้ซื้อเครื่องเงินลายโบราณกันที่ร้าน “ลำตัดเงินโบราณ” ที่นอกจากจะได้ซื้อเครื่องเงินสวยงามแล้ว ยังได้มาดูวิธีการทำเครื่องเงินว่ากว่าจะออกมาเป็นเครื่องเงินสำเร็จรูปอย่างที่เห็นนั้น ต้องผ่านหลายกรรมวิธีตั้งแต่หลอม ขึ้นรูป และที่สำคัญที่สุดคือการทำลายที่เป็นลายแบบโบราณ เช่นลายเครือวัลย์ และลายอื่นๆ ที่เห็นได้จากลายปูนปั้น วัดนางพญา การเติมลวดลายลงเครื่องเงินนั้นที่อื่นจะใช้วิธีการตอกลาย แต่ที่สุโขทัยนี้จะใช้การติดลายลงไป ทำให้เครื่องเงินของที่นี่มีความอ่อนช้อยกว่า หนึ่งชิ้นของเครื่องเงินจึงต้องใช้เวลาในการทำนานประมาณหนึ่งสัปดาห์
ต้มผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ
จากนั้นเราเดินทางไปยังบ้านนาต้นจั่น เพื่อมาชมวีถีชีวิตและชุมชนน่าอยู่ ที่นอกจากโฮมเสตย์ของที่นี่จะได้มาตรฐานของกระทรวงการท่องเที่ยวฯแล้ว ผ้าทอหมักโคลนของที่นี่ยังขึ้นชื่อ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งชาวบ้านก็ได้ทำการรวมกลุ่มกันเพื่อกระจายรายได้ให้กว่างขวางขึ้น
สำหรับขั้นตอนการทำผ้าทอหมักโคลนบ้านนาต้นจั่น เริ่มตั้งแต่ย้อมด้ายและแจกจ่ายให้กับสมาชิกไปทอ ซึ่งลวดลายผ้าทอจะมีหลายลายเช่น ลาย ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกแก้ว แล้วจึงถึงขั้นตอนสำคัญคือการนำผ้าที่ได้มาหมักกับโคลนหมักโคลน เคล็ดลับของความนุ่ม
เมื่อก่อนนั้นโคลนที่ใช้จะเป็นโคลนที่ขุ้นไปหามาจากบนภูเขา แต่ปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ดินถล่มบ่อยครั้ง จึงต้องเปลี่ยนมาใช้โคลนจากตามลำคลองแต่ถึงอย่างไรต้องเลือกใช้โคลนที่มีความละเอียดและมีคุณภาพ เพื่อให้ได้ผ้าที่นิ่ม ใส่สบาย โดยการหมักทิ้งไว้หนึ่งวัน จากนั้นจึงนำมาล้างโคลนออกแล้วนำไปต้มด้วยสีจากวัตถุดิบธรรมชาติซึ่งหาได้ในชุมชน เช่น มะเกลือ ใบจั่น ประโยชน์ของโคลนที่น้อยคนจะรู้คือเมื่อนำผ้าไปหมักแล้วจะได้ผ้าที่ใส่แล้วเย็นสบายในหน้าร้อน และยังให้ความอบอุ่นได้เมื่ออากาศเย็น
สวยงามและใส่สบาย
ไม่ไกลจากแหล่งผลิตผ้าหมักโคลนเป็นบ้านของคุณตาวงศ์ เสาฝั้น ผู้ที่แม้จะมีอายุปาเข้าไปตั้ง 83 ปี แต่คุณตายังมีความสุขกับการทำของเล่นโบราณจากไม้โดยเฉพาะกับตุ๊กตาบาร์โหนอันโดดเด่น เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาให้คนรุ่นต่อๆไปได้เรียนรู้กัน
คุณตาวงศ์ ผู้ประดิษฐ์ของเล่นจากไม้
คุณตาวงศ์ เล่าให้“ตะลอนเที่ยว”ฟังว่า เริ่มทำของเล่นไม้จำพวกตุ๊กตาไม้มากว่า 20 ปีแล้ว แรกเริ่มเดิมทีได้ความคิดมาจากการทำของเล่นจากกระดาษ เมื่อชำนาญขึ้นก็เปลี่ยนมาใช้ไม้เป็นวัสดุ เกิดเป็น“ตุ๊กตาบาร์โหน”ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายพอสมควรในกลุ่มของนักท่องเที่ยวและเด็กๆในชุมชน
ตุ๊กตาบาร์โหนฝีมือคุณตาวงศ์
ทำให้ปัจจุบันแม้คุณตาวงศ์จะมียอดสั่งซื้อของเล่นโบราณเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถทำขายได้ทัน เพราแต่ละขั้นตอนของการทำนั้นคุณตาเป็นคนทำคนเดียว
ดังนั้นหากใครที่สนใจจะมาลองเล่นของเล่นโบราณต่างๆ ก็แวะมาได้ ดีไม่ดีอาจได้ฟังเสียงซึงเพราะๆจากตาวงศ์กลับบ้านไปพร้อมกับความประทับใจ เหมือนที่“ตะลอนเที่ยว”ได้รับจากการตะลอนทัวร์ เมืองศรีสัชนาลัยในครั้งนี้บรรยากาศทุ่งนาอันเขียวขจี
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
*เมืองลูกหลวง คือเมืองที่พระอุปราช หรือบุคคลที่จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อไป จะถูกส่งมาปกครองที่เมืองลูกหลวงนี้ เหมือนกับเป็นการเตรียมตัวก่อนที่จะได้ปกครองอาณาจักรจริงๆ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท ผู้ที่ต้องการใช้บริการรถราง เสียค่าบริการชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท และนักท่องเที่ยวที่ต้องการวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียด สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-5567-9211
นอกจากนี้ยังสอบถามข้อมูลการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ใน อ.ศรีสัชนาลัย และในจังหวัดสุโขทัย เพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานสุโขทัย โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366
Travel - Manager Online - เที่ยว“ศรีสัชนาลัย” มรดกโลกทรงคุณค่า ชุมชนทรงเสน่ห์
0 comments :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น