ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

23 ตุลาคม 2553

ธรรมะคำสอน

 

หลวงปู่ให้ธรรมโอวาทแก่พุทธศาสนิกชนมากมาย เช่น

1. ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพ ตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม คือทุกๆคนจะต้องเป็นเหมือนกันหมด (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

2. สมบัติที่มนุษย์ต้องการ ไม่ทราบว่าจะกอบโกยเอาไปถึงไหน ได้มาก็เพียงแต่เอาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น เลี้ยงชีวิตให้นานตายหน่อย นั่นละ ประโยชน์ของมนุษย์สมบัติเพียงแค่นั้นแหละ

3. เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวง ของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเหมือนกับอยู่ในคุกในตาราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ช่าง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สรีระร่างกายของพระองค์ ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์ เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย (ธรรมเทศนาเรื่อง มัจจุราช)

4. ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติ แล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง(อัตตโนประวัติ)

5. มนุษย์เราพากันสมมติ เรียกเอาตามความชอบใจของตนว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์ เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆนานาไป แต่ก้อนธาตุนั้นมันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของคนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม สมมติว่า หญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก่ ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมันเมื่อมาประชุมกันเข้า เป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็แปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลาย แยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง (ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์)

6. เมื่อเรามาฝึกหัดปฏิบัติธรรม จนเห็นเรื่องโทษของตนเองแล้ว ค่อยชำระสะสางให้มันหมดไปๆ ก็จะเป็นคุณแก่ตนในอนาคตข้างหน้า ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติที่เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ แล้วยังมาพบพระพุทธศาสนา และยังมาพบครูบาอาจารย์ ที่สอนให้เราละกิเลสอีกด้วย (ธรรมเทศนาเรื่องแก่นของการปฏิบัติ)

7. แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้ว ครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในตนของตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้ หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี 3 อย่าง มีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้ว ธรรมะ จะปรากฎในตัวของตน (ธรรมเทศนาเรื่องวิจัยธรรมออกจากโลก)


หลวงปู่เทสก์กับท่านเจ้าคุณพระราชวุฒาจารย์ ( หลวงปู่ดุลย์ อตุโล )

8. การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้องแล้ว ต้องให้มีทั้งปริยัติคือ การศึกษา และปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติ ถ้าไม่ยืนตัว อยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะไม่มีความถูกต้องอันจะให้เกิดความรู้ ในสัจธรรมได้เลย มรรคปฏิปทาอันจะให้ถึงสัจธรรมนั้น ก็ต้องรวมศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วปฏิเวธธรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ (ธรรมเทศนา เรื่อง พุทธบริษัทพึงปฏิบัติตนเช่นไร)

9. คนที่จะข้ามโอฆะได้ต้องมีศรัทธาเสียก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาเสียอย่างเดียวก็หมดทาง ที่จะข้ามโอฆะได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่สุด เช่น เชื่อมั่นในกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่าศรัทธาอันนั้น เป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน ถ้ามีศรัทธาแล้ว ไม่อดเรื่องการทำทาน อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ไม่ต้องเลือกวัตถุในการทำทาน จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทาน ได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้า ก็เป็นทานได้ เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำไปแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น ๆ ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาก็เป็นบุญนั่นแหละ ศรัทธา มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ทำให้เกิดบุญ ซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ (ธรรมเทศนา เรื่องหลักการปฏิบัติธรรม)

10. กายและจิตอันนี้เป็นบุญกรรมและกิเลสนำมาตกแต่งให้ เมื่อนำมาใช้โดยหาสาระมิได้ ถึงแม้จะมีอายุยืนนาน ก็ปานประหนึ่งว่าหาอายุมิได้ (คือไม่มีประโยชน์) สมกับพุทธพจน์ ที่พระองค์ตรัสว่า โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ แปลว่า บุคคลใดมีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่เขามิได้พิจารณาเห็นความเกิดดับ (ของอัตภาพนี้) ผู้นั้นสู้ผู้เขามีชีวิตอยู่วันเดียว แต่พิจารณาเห็นความเกิดความดับไม่ได้ (ธรรมเทศนาเรื่องวันคืนล่วงไป ๆ)

11. คนที่จะพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากโลกนี้ได้ พ้นจากกรรมได้ ก็เพราะใจอันเดียว จงยึดใจถือใจ เป็นสำคัญ จะมาเกิดก็เพราะใจ เกิดแล้วจะมาสร้างกิเลสขึ้นก็เพราะใจ เป็นทุกข์ก็เพราะใจ ถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ยึดถือ ปล่อยทิ้งเสีย กายอันนี้ก็ไปตามเรื่องของกาย ใจก็เป็นตามเรื่องของใจ หมดเรื่องหมดราวกันที (ธรรมเทศนาเรื่องกรรม)

12. หิริ โอตฺตปฺป นี้เป็นธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของศีล เป็นต้นตอของศีล ผู้จะมีศีลได้ ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือศีล 227 ก็ตาม ต้องมีหิริ และโอตฺตปฺป 2 อย่างนี้ เนื่องจากได้เห็นจิตของตน เห็นความนึกความคิดความปรุงจิตของตน แล้วก็กลัวบาป ละอายบาป จึงไม่อาจจะทำความชั่วได้ ฉะนั้น ศีลก็บริสุทธิ์เท่านั้นเอง (ธรรมเทศนาเรื่อง เทวตานุสสติ)

13. การภาวนา คือ การอบรมจิตใจให้มีความสงบ เป็นการชำระจิตใจให้สงบจากอารมณ์ต่าง ๆ ยิ่งเป็นการละเอียดไปกว่าการรักษาศีลอีก จิตของเราถ้ายังไม่สงบตราบใดแล้ว มันก็จะต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ตราบนั้น เมื่อมาฝึกหัดภาวนา เห็นโทษเห็นภัย ของความยุ่ง ความไม่สงบด้วยตนเองแล้ว เราก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะละความไม่สงบ เมื่อสิ่งใดที่ละได้แล้ว อารมณ์ใดที่วางได้แล้ว เราก็จะต้องรักษาไม่ให้สิ่งนั้น มันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช่ว่าเราละได้แล้ว ก็แล้วไปเลย ไม่ต้องคำนึงถึงมันอีก อย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมันอาจสามารถที่จะฟื้นฟู ขึ้นมาใหม่อีก ถ้ามันเกิดมาทีหลังจะยิ่งร้ายกว่าเก่า (ธรรมเทศนาเรื่อง มาร)

14. ฝึกหัดจิตให้เข้าถึงใจ วิธีปฏิบัติฝึกหัดกรรมฐานมีเท่านี้แหละ ใครจะฝึกหัดปฏิบัติ อย่างไรก็เอาเถอะ จะภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ หรืออานาปานสติ ก็ไม่เป็นปัญหา คำบริกรรมเหล่านั้นก็เพื่อล่อจิตเข้ามาอยู่ในคำบริกรรม แต่คนที่เข้าใจผิด ถือว่าตนดีวิเศษโอ้อวดเพื่อนว่าของข้าถูกของเอ็งละผิด อย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆนานา พุทธศาสนาแท้ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครผิดใครถูก เมื่อปฏิบัติถึงจิตรวมแล้ว จิตรวมเข้าไปเป็นอัปปนาแล้วหมดเรื่อง จิตรวมเข้าถึงอัปปนาแล้ว ถึงที่สุดของการทำสมาธิเท่านี้ ไม่มีอะไรแตกต่างกัน (ธรรมเทศนาเรื่อง การปฏิบัติเบื้องต้น)

15. การหัดภาวนาเบื้องต้น คือ หัดให้เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง หัดเบื้องต้นก็จริง แต่มันถึงที่สุดได้ คือจิตที่สงบนิ่งเป็นหนึ่ง มันก็ถึงที่สุดแล้ว การฝึกหัดจิต หัดมากหัดน้อยเท่าไรก็ตาม ต้องการให้จิตเข้าถึงที่สุด คือ จิตเป็นหนึ่งเท่านั้น การฝึกหัดจิตไม่นอกเหนือจากจิตเป็นหนึ่ง ส่วนอุบายปัญญาที่จะเกิดขึ้น มันเป็นเฉพาะบุคคล (ธรรมเทศนาเรื่อง แก่นของการปฏิบัติ)

16. ขอจงตั้งใจทำให้จริงจัง และทำความเลื่อมใสพอใจในกัมมัฏฐานของตนให้แน่วแน่เต็มที่ ทำนิดเดียวก็จะเป็นผลยิ่งใหญ่ไพศาล เมื่อทำไปทุกๆวัน วันละนิดวันละหน่อย มันหากจะมีวันหนึ่งโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็น มันหากเป็นเอง คราวนี้ละ เราจะประสบโชคลาภอย่างอย่าบอกใครเลย ถึงบอกก็ไม่ถูก เป็นของรู้และซาบซึ้งเฉพาะตนเอง คำว่าภาวนาขี้เกียจและปวดเมื่อยแข้งขาจะหายไปเองอย่างปลิดทิ้ง จะมีแต่อยากทำภาวนา สมาธิอยู่ร่ำไป (ธรรมเทศนาเรื่องทุกข์)


หลวงปู่เทสก์กับท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสุทธิมงคล ( หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน )

17. สติตัวนี้ควบคุมจิตอยู่ได้ ถ้าเผลอเวลาใดไปเวลานั้น ทำชั่วเวลานั้น จึงให้รักษาจิตตรงนั้นแหละ ควบคุมจิตตรงนั้นแหละ ให้มันอยู่นิ่วแน่วเป็นสมาธิภาวนา เข้าถึงในสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ ให้หัดตรงนี้แหละ พระพุทธศาสนาไม่ให้หัดอื่นไกล หัดตรงนี้แหละ ปฏิบัติศาสนาก็ปฏิบัติตรงนี้แหละ จะถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตั้งนั้นแหละ… (ธรรมเทศนาเรื่อง เบื้องต้นของการปฏิบัติกัมมัฏฐาน)

18. แก่นสารคือ จิตที่เป็นหนึ่ง จับเอาจิตที่เป็นหนึ่งให้ได้ ครั้นจับเอาจิตที่เป็นหนึ่งได้แล้ว รักษาเอาไว้ให้มั่น ไม่ต้องเอาอื่นใดอีก เอาอันเดียวเท่านั้นเป็นพอแล้ว (ธรรมเทศนาเรื่อง แก่นของการปฏิบัติ)

19. จิตเป็นสมาธิแล้ว นั่นจึงจะมองเห็นธรรม คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายได้ชัดเจน (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

20. จิตมันต้องเป็นหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หนึ่งแล้วก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นหนึ่งกลายเป็นใจละ คราวนี้ตัวจิตนั่นแหละกลายเป็นใจ อันที่นิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง ความรู้สึกเฉยๆ นั่นแหละ มันกลายเป็นใจ จิตมันกลายเป็นใจ (ธรรมเทศนาเรื่อง วิธีหาจิต)

21. ใคร ๆ ก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่องของจิตทั้งนั้นแหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไร ก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ ต้องเห็นตัวมันเสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง (ธรรมเทศนาเรื่องความโง่ของคนโง่)

22. นักฝึกหัดจิตทำสมาธิให้แน่วแน่ เป็นอารมณ์หนึ่งแล้ว จะมองเห็นกิเลสในจิตของตนเอง ทุกกาลทุกเวลาว่า มีกิเลสหยาบและละเอียดหนาบางขนาดไหนเกิดขึ้นที่จิต เกิดจากเหตุอะไร และจะต้องชำระด้วยวิธีอย่างไร จิตจึงบริสุทธิ์ผ่องใส ค้นหากิเลสของตนเองอยู่ทุกเมื่อ กิเลสจะหมดสิ้นไป (ของดีมีในศาสนาพุทธ)

23. การฝึกหัดสมาธิภาวนา คือ การตั้งสติอันเดียว ให้รู้ตัวอยู่เสมอ มันคิดมันนึกอะไร ก็ให้รู้ตัวอยู่เสมอ ยิ่งรู้ตัวชัดเจนเข้ามันยิ่งเป็น เอกัคคตารมณ์ นั่นแหละตัวสมาธิ (อนุสสติ ๑๐)

24. รู้สิ่งอื่นไม่สามารถจะชำระจิตของตนได้ รู้จิตของเรานี่แหละจึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ (อนุสสติ ๑๐)

25. การฝึกหัดจิตนี้ ถ้าอยากเป็นเร็ว ๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็นมันก็ประมาทเสีย ไม่เป็นเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลาง ๆ แล้วตั้งใจให้แน่วแน่ ในกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไป ก็จะถึงซึ่งความอัศจรรย์ขึ้นมาในตัวของตน แล้วจะรู้ชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร (อนุสสติ ๑๐)

26. การเห็นจิตของเรานี่แหละดี มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้ดูจนกระทั่งมันวางลง ถ้าเห็นอยู่เสมอ ๆ แล้ว ก็วางหมด (อนุสสติ ๑๐)

27. ปหานปธาน ให้เพียรดูที่จิตของเรานั่นแหละ การกระทำสิ่งใด ๆ ก็เกิดจากจิตเป็นคนบัญชา ถ้าจับจิตเห็นจิตอันนี้แล้ว จะรู้ได้ดีเห็นได้ชัด กายจะทำอะไรผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว เป็นบุญหรือเป็นบาป รู้ได้ดีทีเดียว เอาสติไปตั้งไว้ที่จิต คิดค้นอยู่ที่จิต เห็นใจเป็นผู้สั่งกาย ทำอะไร ๆ เห็นอยู่ตลอดเวลา (ธรรมเทศนาเรื่อง เพียรละความชั่ว)

28. ผู้ใดชนะข้าศึกคือ ตัวของเราคนเดียวได้แล้ว เป็นผู้ประเสริฐกว่าการชนะชนหมู่มาก นับเป็นพัน เพราะข้าศึกอันเกิดจากคนอื่นภายนอก เมื่อพ่ายแพ้ก็เลิกกันไปที แต่ข้าศึกภายในนี้ จะแพ้หรือชนะอย่างไร ก็ยังต้องอาศัยกันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะแตกดับจากกันไป ถึงแม้อายตนะภายในมีตาเป็นต้นที่เราเห็น ๆ กันอยู่นี้ เมื่อหลับเสียแล้วก็ไม่เห็น แต่อายตนะของใจอีกส่วนหนึ่งนั้นซี ตาบอดแล้ว หูหนวกแล้ว มันยังได้เห็นได้ยินอยู่ กายแตกดับแล้วใจยังมีอายตนะได้ ใช้บริบูรณ์ดีทุกอย่างอยู่ และนำไปใช้ได้ทุก ๆ สถาน ตลอดภพภูมินั้น ๆ ด้วย ฉะนั้น เมื่อเราจะเอาชัยชนะข้าศึกภายในจึงเป็นการต่อสู้อย่างยิ่ง (ธรรมเทศนาเรื่อง พละ ๕)

29. ผู้ที่ยอมตัวมารับเอาศีลไปไว้เป็นเครื่องปฏิบัติ จะเป็นศีล 5-8-10-227 ก็ตาม ได้ชื่อว่า เป็นผู้เริ่มต้นปฏิบัติศาสนะพรหมจรรย์ เข้าไปทำลายบ่อนรังข้าศึก อันมีอยู่ในภายในใจของตนแล้ว (ธรรมเทศนาเรื่อง สติปัฏฐานภาวนา)

30. หากจะเรียกกายใจของคนเรานี้ว่า ตู้พระธรรมก็จะไม่ผิด (ธรรมเทศนาเรื่องสติปัฏฐานภาวนา)

31. ธรรมเทศนาที่ท่านพูดที่ท่านสอนธรรมะนั้น ท่านสอนตรงนี้ คือสอนให้พิจารณา กายกับใจตรงนี้ ไม่ได้สอนที่อื่น สอนเข้าถึงตัว สอนให้เห็นของจริงในกายตน ที่จะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะเห็นของจริงตรงนี้ จะถึงมรรคผลนิพพาน ฌาน สมาบัติ ก็ตรงนี้แหละ ไม่ใช่อื่นไกลเลย เห็นเฉพาะในตัวของเรา ถ้าไปเห็นของอื่นละไม่ใช่ (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรม)


หลวงปู่เทสก์กับพระราชสังวรญาณ ( หลวงพ่อพุธ ฐานิโย )

32. ตัวจิตหรือตัวใจอันนี้แหละไม่มีตนมีตัว ถ้าเรารู้เรื่องจิตเรื่องใจเสียแล้ว มันง่ายนิดเดียว ฝึกหัดปฏิบัติกัมมัฏฐานก็เพื่อชำระใจ หรือต่อสู้กับกิเลสของใจนี้ ถ้าไม่เห็นจิตหรือใจแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะไปต่อสู้กับกิเลสตรงไหน เพราะกิเลสเกิดที่ใจ สงครามไม่มีสนามเพลาะ ไม่ทราบว่าจะรบอย่างไรกัน ต้องมีสนามเพลาะสำหรับยึดไว้เป็นที่ป้องกันข้าศึก มันจึงค่อยรู้จักรบ รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ขอให้พากันพิจารณาทุกคน ๆ เรื่องใจของตน เวลานี้เราเห็นใจแล้วหรือยัง ใจหรือจิตของเรานั้นมันอยู่ที่ไหน มีอาการอย่างไร (ธรรมเทศนาเรื่อง กิเลส)

33. ความจริงกิเลสไม่มีตนมีตัว ไม่ได้เอาไปละที่ไหน หรือเอาไปทิ้งให้ใคร เป็นการละออกจากใจของตนเอง (ธรรมเทศนาเรื่อง เพียรละความชั่ว)

34. บ่วงของมารได้แก่อะไร อาการของจิตที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น ย่อมมีทั้งอารมณ์ดี และอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้างทุกข์บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชน จิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ 5 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏธัพพะ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ 5 พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบ่วงของมาร

จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง 5 นั้น หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดีหรือเกิดความเสียใจเป็นทุกข์ก็ดี เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว คำว่า "ติด" ในที่นี้ หมายความว่า สลัดไม่ออก ปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของมารผูกหลวม ๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดแน่นเข้า

จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร ปุถุชนเบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัย ในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึงสำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของมารดังนี้

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิดคือ สำรวมมีสติ ระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง 6 นั้นได้แล้ว เป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้ (ธรรมเทศนา เรื่องสังวรอินทรีย์)

35. ผู้ฝึกหัดปฏิบัติรู้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงว่า วิสัยของอายตนะทั้งหกนั้น มีชอบกับไม่ชอบเท่านั้น แล้วปล่อยวางเสีย ไม่ไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ จิตก็จะกลายมาเป็นใจ เฉยอยู่กลาง ๆ นั่นแหละจึงเป็นธรรมเห็นธรรม ไม่เป็นโลก อยู่เหนือโลกพ้นจากโลก (ธรรมเทศนาเรื่อง จิตเหนือโลก)

36. การทำจิตไม่ให้หมุนไปตามอายตนะหก คือปรุงแต่งส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่าง ๆ นั้น เป็นการหักกงกำแห่งล้อของวัฏจักร นักปฏิบัติผู้ฝึกหัดได้อย่างที่อธิบายมานี้ ถึงหักกงกำ แห่งวัฏจักรไม่ได้อย่างเด็ดขาด ได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ก็นับว่าดีอักโขแล้ว ดีกว่าไม่รู้วิธีหักเสียเลย (ธรรมเทศนาเรื่อง จิตเหนือโลก)

37. ผู้ฝึกจิต ถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่าง ก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิต ตามเป็นจริง ถ้าทำให้จิตดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมี แห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นของควรละ (ธรรมเทศนาเรื่อง สมบัติอันล้ำค่า)

38. ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้นผู้ถือว่าเราถึงธรรมได้ ธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ผู้นั้นยังมีความอยากอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงธรรมได้อย่างไร (ของดีมีในศาสนาพุทธ)

39. คนเราเกิดมาเหมือนกับไปยืมของคนอื่นเขามาเกิด ตายแล้วก็ส่งกลับคืน มาเกิดอีก ก็ยืมมาใหม่ ดังนี้อยู่ไม่รู้จบรู้สิ้นสักที ขออย่าลืมผู้ไปยืมของเขามาเกิดยังมีอยู่ จึงต้องยืมของเราร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด (ของดีมีในศาสนาพุทธ)

40. ความสละเด็ดเดี่ยว ปล่อยวางสิ่งสารพัดทั้งปวงหมด เหลือแต่ใจ อันนั้นเป็นของดีนัก ความสละความตายเลยไม่ตายซ้ำ เลยมีอายุยืนนาน ถึงเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรต่าง ๆ ก็ทอดทิ้งหมด เลยกลับเป็นของดีซ้ำ ที่เป็นห่วงทั้งนั้นอยู่ในเรื่องความเจ็บความป่วย อันนั้นป่วยก็ไม่หาย สมาธิก็ไม่เป็น นั่นแหละเป็นเหตุที่ไม่เป็นสมาธิ เราจะทำอะไรต้องทำให้จริง ๆ ซี (อนุสสติ ๑๐)

41. จิตของคนเราเป็นของใสสะอาดมาแต่เดิม เหตุนั้นขัดเกลากิเลสออกหมด มันจึงเห็นความใสสะอาด จึงเรียก ปภสฺสรมิท จิตฺต (ธรรมเทศนาเรื่องวิธีหาจิต)

42. วิปัสสนาจริงแล้วไม่ต้องคิดต้องนึกไม่ต้องปรุงแต่ง มันเป็นเอง มันเกิดของมันต่างหาก เมื่อมันเกิดแล้วจะต้องชัดแจ้งประจักษ์ในพระไตรลักษณฐานด้วยตัวของตนเองต่างหาก

43. เมื่อปัญญาวิปัสสนาเกิดขึ้น ในขณะจิตเดียวนั้นสิ้นสงสัยในธรรมทั้งหลาย เห็นสรรพสัตว์ในโลกเป็นสภาพอันเดียวกันหมดเลย ไม่มีต่ำ ไม่มีสูง ไม่มีน้อย ไม่มีใหญ่ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ธาตุ ๔ เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น (ธรรมเทศนาเรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)

44. ปัญญาวิปัสสนา คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้น เป็นของไร้สาระ เป็นโทษเป็นทุกข์ เป็นภัยอันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวาง ทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ ก็เพราะเห็นที่สุดของโลก คือได้แก่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (ธรรมเทศนาเรื่อง หลักการปฏิบัติธรรม)

45. ขอให้มีศรัทธา ทำทานไปเรื่อย ทั้งทานภายนอก ทานภายใน รักษาศีล คือรักษากาย วาจา และใจ ให้มันเป็นปกติ หรือรักษาจิตนั่นเอง คอยมีสติปกครองจิตใจ สิ่งใดไม่ควรคิดก็ไม่คิด สิ่งใดไม่ควรพูดก็ไม่พูด สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีสติรู้อยู่ว่าเราเป็นผู้มีศีล (ธรรมเทศนาเรื่อง สติควบคุมจิต)


หลวงปู่เทสก์กับหลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต
วัดบางแก้วผดุงธรรม จ.พัทลุง

46. ผู้มีศรัทธา มีความเพียรด้วย และมีความอดทน กล้าหาญ ประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยความเพียร รักษาความดีนั้น ๆ ไว้ติดต่อกันอย่าให้ขาด นั่นแลจึงสามารถ ขจัดกิเลสสานสัยให้หมดสิ้นไปได้ (อัตตโนประวัติฯ)

47. ท่านผู้ที่หายจากโรคอันเกิดจากใจได้แก่ผู้สิ้นกิเลสแล้ว ถึงแม้โรคในกายของท่าน จะยังปรากฎอยู่ ก็เป็นแต่อาการความรู้สึก หาได้ทำใจของท่านให้กำเริบไม่ เพราะโรคใจของท่านไม่มีแล้ว สมุฏฐานคืออุปาทานของท่านได้ถอนหมดแล้ว ฉะนั้นท่านจึงมีความสุขและได้ลาภอย่างยิ่งในความไม่มีโรค (ธรรมเทศนาเรื่อง โรค)

48. ทำทานมีมากมีน้อยก็ต้องทำด้วยตนเอง รักษาศีลก็โดยเฉพาะส่วนตัวแท้ ๆ ใครรักษาศีลให้ไม่ได้ ทำสมาธิยิ่งลึกซึ้งหนักแน่นเข้าไปกว่านั้นอีก แต่ละคนก็ต้องรักษาจิตใจของตน ๆ ให้มีความสงบหยุดวุ่นวายแส่ส่าย ถ้าเราไม่รู้จักวิธีทำสมาธิแล้ว ก็ทำสมาธิไม่เป็น จิตใจก็เดือดร้อนดิ้นรนเป็นทุกข์ เหตุนั้นจึงว่า การทำทาน รักษาศีล ทำสมาธินี่เป็นกิจเฉพาะส่วนตัว ทุก ๆ คนจะต้องทำให้เกิดมีขึ้นในตน (ธรรมเทศนาเรื่อง หลักศาสนา)

49. ความเป็นเศรษฐีมีจนคนอนาถา ก็มิได้เป็นอุปสรรคแก่การจับจ่ายอริยทรัพย์ ของผู้มีศรัทธาปัญญา ฉะนั้นอริยทรัพย์จึงเป็นของมีคุณค่าเหนือกว่าทรัพย์ทั้งปวง (อัตตโนประวัติฯ)

50. บุญกุศลที่สร้างสมถึงที่แล้วมันจะหมดเรื่อง ไม่มีอะไรอีก และไม่เอาไปด้วย บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา ผู้ที่ยังเอาอยู่จึงได้บุญได้บาป เป็นภพเป็นชาติขึ้น ผู้ทอดธุระแล้ว ไม่มีบุญและบาปแล้ว จึงได้เรียกว่า

ธรรมะคำสอน

0 comments :

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013