วิธีปฏิบัติ
คำว่า "วิปัสสนาภาวนา" ประกอบด้วยคำว่า "วิปัสสนา" กับคำว่า "ภาวนา" วิปัสสนาก็คือ "สัมมาทิฐิ" ความเห็นถูกต้อง ภาวนาก็คือ "สัมมาสังกัปปะ" ความพิจารณาถูกต้อง เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาภาวนาจึงหมายถึงการเจริญปัญญาสองประการกล่าวคือสัมมาทิฐิกับสัมมาสังกัปปะนั่นเอง
สัมมาทิฐิเป็นผู้เห็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิด-ดับ เปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่ในอำนาจของใคร หรือบังคับบัญชาไม่ได้อยู่ เรียกว่า "เห็นสภาวะปรมัตถ์" สัมมาสังกัปปะเป็นผู้พิจารณาหรือชี้บอกว่า สิ่งที่สัมมาทิฐิเห็นอยู่นั้นเป็นอนัตตา บังคับบัญชามิได้
การเจริญวิปัสสนาภาวนาจึงเป็นการฝึกฝนอบรมปัญญาสองประการนี้โดยเพียรอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปัญญาสองประการเป็นผู้เห็นผู้พิจารณา จิต เจตสิก รูป (เน้นหนักลงไปที่จิต เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน) จิต เจตสิก รูป เป็นผู้ถูกเห็นถูกพิจารณา (ปัญญาสองประการเป็นผู้กระทำ จิต เจตสิกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกเห็น ถูกพิจารณา)
วิปัสสนาภาวนาดังกล่าวนี้เป็นเหตุแห่งมรรคผลนิพพาน กล่าวคือเมื่อปฏิบัติไปอย่างนี้จนปัญญาทั้งสองมีกำลังเต็มร้อยเปอร์เซ็นแล้ว (อกาลิโก) จะก่อให้เกิดมรรคญาณขึ้นมาตัดกิเลส เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นมาตัดกิเลสแล้วก็เกิดผลคือความสงบเย็นแห่งกิเลส เป็นนิพพาน
วิธีการปฏิบัติมี 5 ขั้นตอน
1. หลับตาเนื้อ
2. เปิดตาปัญญา (ปัญญาสัมมาทิฐิทำงาน)
3. ดูลงในขันธ์ของตน โดยดูและพิจารณาตรงที่วิญญาณเป็นหลัก (วิญญาณคือใจรู้)
4. ในขณะที่อารมณ์ภายนอกเช่น รูป เสียง ฯลฯ หรืออารมณ์ภายในเช่น อาการเจ็บปวดร้อนหนาวหนักแข็งเบาอ่อนนิ่มหรือจิตฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมา
5. ให้พิจารณาว่ามิใช่ตัวตนเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ (ปัญญาสัมมาสังกัปปะทำงาน)
กล่าวให้สั้นเข้าใจง่ายก็คือให้เจริญปัญญาสองประการเท่านั้นนั่นเอง โดยใช้ปัญญาสัมมาทิฐิเห็นรูปธาตุนามธาตุที่เป็นอนัตตา และใช้ปัญญา สัมมาสังกัปปะพิจารณารูปธาตุนามธาตุกายใจที่สัมมาทิฐิเห็นนั้นว่ามิใช่ตัวตนเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้เรื่อยไป
แนวทางนำสู่พระนิพพานลำดับที่ 10
0 comments :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น