วัดพุทธบูชา

เลขที่ 181 หมู่ 3 ถ.พุทธบูชา ซอย 30 ริมคลองบางมด แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140 โทร. 02-426-3667, 02-874-8108

พระประธานในอุโบสถ

พระพุทธชินราชจำลอง ของวัดพุทธบูชานี้ มีขนาดเท่าองค์จริง มีหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว (๒.๘๗๕ เมตร) สูง ๗ ศอก หล่อด้วย ทองสัมฤทธิ์ (เป็นโลหะผสมระหว่างทองเหลืองและดีบุก) น้ำหนัก ๓ ตัน (๓,๐๐๐ กิโลกรัม) มีพุทธลักษณะที่งดงาม มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ เรือนแก้ว (ลวดลายคล้ายตัวพญานาค ดุจรัศมีล้อมรอบองค์พระ) ยักษ์ (มีลักษณะกึ่งนั่งกึ่งยืนมือขวาถือกระบองอยู่ปลายเรือนแก้วทางด้านซ้าย) มาร (ลักษณะอยู่ในท่ากำลังเหาะมือทั้งสองข้างจับบ่วงบาศบนศรีษะ อยู่ปลายเรือนแก้วตรงด้านขวา) ฝาผนังด้านหลังขององค์พระ ลงรัก เขียนลวดลายปิดทองเป็นรูปใบไม้และดอกไม้ มีปูนปั้นนูนรูปเทพบูชา (หมู่เทวดา นางอัปสร โปรยดอกไม้เพื่อเป็นพุทธบูชา) พร้อมสมบูรณ์ เหมือนองค์จริงทุกประการ ประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่ ราคาในการก่อสร้างองค์พระ๒๘๑,๐๐๐ บาท

คลื่นพุทธบูชา FM100.25 MHz

สถานีวิทยุกระจายพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสังคม

พระราชภาวนาพินิจ พระราชภาวนาพินิจ

หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย ท่านจะดำรงตำแหน่งเป็นเจาอาวาส วัดพุทธบูชา

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

27 กันยายน 2554

25 กันยายน 2554

23 กันยายน 2554

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)ตอนที่ 3by Dhammasarokikku

IMG_2507ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล

ผู้ที่ไม่รู้จักบุญ และบาปนั้น มาทำความเข้าใจว่า บวชรักษาข้อวัตร รักษาศีลเอาบุญ บุญนั้นมีอยู่นอกตนนอกตัว มีอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ เมื่อบวชได้รักษากิจวัตรแล้ว บุญนั้นจักเลื่อนลอยมา จากสถานที่ต่างๆ มีนภาลัย เวหากาศ เป็นต้น มานำเอาตัวขึ้นไปสู่สวรรค์ แลพระนิพพาน เห็นไปโดยผิดทางเช่นนี้ ล้วนแต่เป็นคนหลงทั้งสิ้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป เข้าใจว่าบาปนั้นอยู่นอกตนนอกตัว เมื่อทำบาปแล้ว บาปนั้นก็จะลุกมา แต่นรกใต้พื้นดิน มาจับกุมคุมเอาตัวลงไปสู่นรก การทำความเข้าใจอย่างนี้ ย่อมเป็นคนหลงทั้งนั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขก็ดีทุกข์ก็ดี บาปบุญคุณโทษก็ดี ย่อมอยู่ที่เรา จะเข้าใจว่า บาปบุญอยู่ภายนอกตัว ทำบุญแล้วคอยท่านบุญ จักมานำเอาตัวไปสู่สุคติ คิดอย่างนี้ ตั้งร้อยชาติแสนชาติ ก็ไม่อาจได้ อันว่าบุญบาป สุขทุกข์ย่อมไม่มี ณ ภายนอกตัว บุญกุศลแลความสุขนั้น ก็คือดวงจิต ส่วนบาปกรรม ทุกข์โทษนั้น คือหมู่แห่งตัณหา ตัณหานั้นจักมี ณ ที่อื่นนอกจากตัวตนของเราแล้ว ไม่มี ตัวบุญแลตัวบาป ก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัวไม่ชอบทุกข์ อยากได้ความสุข ก็จงพยายาม แก้ใจของเรานั้นเถิด ถ้าเราไม่เป็นผู้แสวงหาความสุข และให้พ้นจากทุกข์แล้ว ใครเขามาช่วยตัวเรา ให้พ้นจากทุกข์ ให้ได้รับความสุขได้เล่า เพราะสุขทุกข์ อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราหามิได้แล้ว ใครคนอื่นที่ไหน เขาจะมาหาให้เราได้ (บทนี้บอกถึง หน้าตาของบุญและบาป ที่แท้จริง ผู้นับถือศาสนาพุทธบางคน รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ยังมีความเข้าใจ เรื่องบุญบาปสวรรค์นรก คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาตมาเอง ก็มีความเข้าใจไม่ชัดเจน มีแต่ใช้สัญญา (ความจำ) มาตลอด ก็ถ่ายทอดไปทั้งดุ้น ตามที่ได้ฟังมา ก็ยังโชคดี ที่ถ่ายทอดไปไม่ผิด มาถึงบางอ้อจาก พระสูตรนี้เอง ที่ว่าบุญ เกิดตั้งแต่คิดจะทำ ก็คือขณะที่คิดนั้น กิเลสโลภะ - ความโลภมันลด จริงไหม ที่ว่าทำบุญเมื่อไหร่ ได้บุญเมื่อนั้น ก็ทำบุญเมื่อไหร่ ความโลภมันน้อยลง เมื่อนั้นใช่หรือไม่ ที่ว่าเขาจะเอา ปัจจัยไทยทานของเรา ไปทำอะไร ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรา หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะบุญเกิดไปแล้ว ก็ถูกอีก เพราะเขาเอาไปทำอะไร ก็ไม่มีผลอะไร กับกิเลสของเรา มีผลก็แต่ กำลังใจของเราเท่านั้น คือถ้างานมันสำเร็จสมหวัง มันก็บังเกิดปีติ ชื่นใจ มีกำลังใจทำบุญ ทำกุศลต่อไป ตรงข้าม ถ้าเกิดเหตุการณ์ อย่างสมเด็จเหนือหัว คนทำบุญก็ทดท้อ ไม่อยากทำบุญอีก เป็นต้น แต่ถ้าทำกำลังใจ ถูกต้องแต่แรก ก็ได้บุญไปเรียบร้อย ถ้าไปคิดว่าที่เขาเอาเงินเราไป ไปทำอะไรก็ไม่รู้ วัตถุมงคล ก็ไม่รู้พิธีกรรมถูกต้องหรือเปล่า เจ็บใจเหลือเกินที่ถูกหลอก นี่ก็ขาดทุน ๒ ต่อเลย เสียทั้งเงินและไม่ได้บุญ ตามคำบอกของคน ที่ได้ทิพยจักขุญาณ ท่านแสดงไว้ว่า สมมติว่าทำวิหารทาน เพื่อจะได้มีวิมานในสวรรค์ ทำปุ๊บวิมานเกิดเลย ไม่ใช่ว่าสิ่งก่อสร้าง ที่เราไปช่วยเขาสร้าง สำเร็จแล้ววิมานถึงจะเกิด ทานที่ทำไปแล้วนั้น เมื่อคิดถึงอีกเมื่อไหร่ ก็ได้บุญอีกเมื่อนั้น ก็จริงอีก เพราะขณะที่คิดถึงการให้ ความโลภในใจ มันก็ไม่มีที่อยู่ เห็นไหม ทีนี้หากว่าทำทาน เพราะอยากได้บุญ (แล้วไม่รู้ว่าบุญหน้าตาเป็นอย่างไร) อยากได้วัตถุมงคล (ถ้าอยากมากๆ มันกลายเป็นซื้อของไป เหมือนซื้อของในเซเว่นหน่ะ ได้บุญไหมเอ่ย แต่วัตถุมงคลนี่ วินิจฉัยยาก เพราะเอาไปทำกรรมฐานได้ มันจะไปได้บุญ ตอนไปทำเป็นกรรมฐาน) ทำทานเพราะหวังจะถูกหวย ทำทานเพราะอยากได้หน้า ก็ต้องพิจารณาดูกำลังใจว่า ความโลภในใจ มันลดลงหรือไม่ ถ้าลดน้อยก็ได้บุญน้อย ถ้าไม่ลดเลยหรือมากขึ้น ก็ไม่ได้บุญเลย หรือซ้ำกลายเป็นบาปแทน แล้วไฉนการโมทนาบุญ หรือที่เขาเรียกว่า มุทิตาธรรม เห็นคนทำดี แล้วยินดีชื่นใจไปกับเขา ถึงได้บุญ ก็มันไปลดความริษยา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ โทสะ - ความโกรธ ทำไมอภัยทาน ถึงเป็นทานอันยิ่ง กว่าอามิสทาน (ทานที่เป็นวัตถุ) ก็เพราะอภัยทาน มันไปลดกิเลสโทสะ กิเลสตัวสำคัญ ก็แล้วการฟังธรรม ทำไมถึงได้บุญ ไปนั่งหลังขดหลังแข็ง พนมมือ เมื่อยก็เมื่อย ไม่เห็นน่าจะได้บุญตรงไหน สู้ทำทานไม่ได้ สบายกายสบายใจกว่าอีก ที่ได้บุญก็เพราะ การฟังธรรม มันคือการทำความเห็นให้ตรง มันไปลดโมหะ - ความหลง กิเลสตัวเก่งอีกตัว ฉะนั้น การฟังธรรม ไม่จำเป็นแต่ต้องไปฟังในโบสถ์ ฟังที่ไหนก็ได้ ในรถ ในเรือ ในสวนสาธารณะ ที่ไหนท่าไหนก็ได้ ยิ่งละโมหะ อวิชชาได้มากเท่าไหร่ ก็ได้บุญมากเท่านั้น ธรรมทานก็สงเคราะห์เข้าหลักเดียวกัน อีกเรื่องคือเรื่องอานิสงส์ ตามความเข้าใจเดิมนั้น เข้าใจว่า บุญกับอานิสงส์ เป็นคนละตัวกัน สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล บุญเกิดเมื่อคิดและให้ทาน อานิสงส์เกิดภายหลัง จากที่โรงพยาบาลสร้างเสร็จ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เป็นส่วนควบของบุญ แท้จริงแล้ว ตามความในพระสูตรนี้ หาใช่เช่นนั้น อานิสงส์แปลว่า “ผล” อะไรที่เป็นผล ก็เป็นอานิสงส์หมด สิ่งที่เป็นคนละตัวกันคือ บุญกับกุศลกรรมต่างหาก สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล ด้วยความที่อยากได้หน้า นี่แสดงว่าทำบุญด้วยความโลภ ตรงนี้ไม่ได้บุญ แต่กุศลกรรม ที่ได้สร้างโรงพยาบาล ได้บรรเทาทุกข์ของผู้ที่ป่วยนั้น มีผลอยู่ จะได้เสวยผลเมื่อไหร่นั้นไม่แน่ แต่ได้เสวยผลแน่นอน ตรงนี้จะว่า ไม่มีอานิสงส์ก็ไม่ใช่ ต้องเรียกว่ามีอานิสงส์ แต่น้อยไปหน่อย)

บุญกุศล สวรรค์ และนิพพาน เกิดจากตัวเราเองไม่มีผู้ใดนำมาให้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ที่เข้าใจว่าบุญกุศล สวรรค์ แลพระนิพพาน มีผู้นำมาให้ บาปกรรมทุกข์โทษ นรกและสัตว์เดรัจฉาน มีผู้พาไปทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้หลงโลก หลงทาง หลงสงสาร บุคคลจำพวกนั้น แม้จะทำบุญ ให้ทานสร้างกุศลใดๆ ที่สุดจนออกบวช ในพระพุทธศาสนา ก็หาความสุขมิได้ จะได้เสวยแต่ความทุกข์ โดยถ่ายเดียว อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุญกับสุข หากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาป ก็ได้ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ เปรียบเหมือน เราอยากได้ทองคำ แต่เราหารู้ไม่ว่า ทองคำนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ถึงทองคำนั้นมีอยู่ แลเห็นอยู่เต็มตา ก็ไม่อาจถือเอาได้ โดยเหตุที่ไม่รู้จัก แม้บุญก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ อย่าว่าแต่บุญซึ่งเป็นของไม่มีรูปร่างเลย แม้แต่สิ่งของอื่น ๆ ที่มีรูปร่าง ถ้าหากว่าเรา ไม่รู้จักก็ถือเอาไม่ได้

1_displayอานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่ไม่รู้จักบุญแลไม่รู้จักสุข ทำบุญจะไม่ได้บุญ ไม่ได้สุขเสียเลย ตถาคตก็หาได้กล่าวเช่นนั้นไม่ ทำบุญก็คงได้บุญแล ได้สุขอยู่นั้นแล บุญแลความสุข ก็บังเกิดอยู่ที่ตัวเรานั้นเอง แต่ทว่าตัวหากไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นอันมีบุญแลสุขไว้เปล่าๆ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลจำพวกที่ไม่รู้จักบุญ คือความสุข เมื่อทำบุญแล้ว ปรารถนาเอาความสุข น่าสมเพชเวทนานักหนา ตัวทำบุญก็ได้บุญในทันใดนั้นเอง มิใช่ว่าเมื่อทำแล้วนานๆ จึงจักได้ ทำเวลาใดก็ได้เวลานั้น แต่ตัวไม่รู้ นั่งทับนอนทับบุญอยู่เปล่าๆ ตัวก็ไม่ได้รับบุญ คือความสุข เพราะตัวไม่รู้ จึงว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่เข้าใจว่าทำบุญไว้มากๆแล้ว จะรู้แลไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร บุญหากจักพาไปให้ ได้รับความสุขเองเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นคนหลงโดยแท้ เพราะเหตุไร บุญจึงจักพาตัวไปให้ ได้รับความสุข เพราะบุญกับสุขเป็นอันเดียวกัน เมื่อไม่รู้สุขก็คือไม่รู้บุญ เมื่อเรารู้สุข เห็นสุข ก็คือเรารู้บุญ เห็นบุญนั้นเอง จะให้ใครพาไปหาใครที่ไหน (พระสูตรนี้ มีผู้นำไปตีความว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง นายนิรยบาลผู้พาไปนรกไม่มีจริง จริงแล้วสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจต่างหาก ก็จริงอยู่ แต่จริงโดยส่วนเดียว ส่วนอื่นยังมีอีก กรรมมีอยู่ กุศลกรรมก็มี อกุศลกรรมก็มี บุญบาปมิได้พาไปเกิด แต่กรรมพาไปเกิดได้ จะหาศาสนาใดในโลก แจกแจงได้ แจ่มแจ้งชัดเจนขนาดนี้ เหมือนหงายของที่คว่ำ เหมือนเปิดของที่ปิด เหมือนให้แสงสว่าง แก่ที่มืด เหมือนชำระนัยน์ตาอันพร่ามัว ด้วยน้ำอมฤต ส่วนใหญ่ กระทั่งคนในศาสนาพุทธเอง เขาจะรู้จักในแง่ บุญคือทาน ทำสะสมไว้เรื่อย บุญก็จะพาขึ้นสวรรค์ไปเอง หรือเมื่อตายแล้ว พระศาสดาจะมารับไปอยู่ด้วย เสวยสุขชั่วนิจนิรันดร์ รู้จักสวรรค์แค่ชั้นเดียว รู้ชาติหน้าแค่ชาติเดียว สอนให้ทำความดี ให้ขึ้นสวรรค์ ให้ไปพระนิพพาน พระนิพพานหรือ ก็คงคล้ายๆ สวรรค์ชั้นหนึ่งกระมัง เขาว่ากันว่ามีความสุขมาก แต่ชาตินี้คงยังไม่ถึงหรอก ตั้งความหวังเอาไว้ ว่าคงจะถึงสักวันหนึ่ง แต่ไม่เคยศึกษาสนใจว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถึงพระนิพพาน เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ไม่เข้าเป้าเสียที และส่วนใหญ่ จะสอนไม่ให้คนคิด ไม่ให้สงสัย ไม่ให้ใคร่ครวญ สอนให้ไปติดสุข ติดกุศล ทำบุญทำทานมากๆ ซีแล้วจะได้ไปพระนิพพาน แท้จริงแล้ว ถ้ายังไม่ประกอบด้วยปัญญา ยังห่างไกลพระนิพพานอยู่มาก)

จะไปสวรรค์ พระนิพพาน ต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะไปนรกหรือจะไปสวรรค์ และพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่น ไปด้วยไม่ได้เป็นอันขาด อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สวรรค์ดิบในชาตินี้ กับสวรรค์สุกในชาติหน้า อย่าสงสัยว่าจะต่างกัน ถึงจะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย เมื่อต้องการความสุขเพียงใด ก็จงพากเพียรให้ได้ แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในเมืองคนนี้ จะนั่งจะนอนคอย ให้สุขมาหานั้นไม่ได้ ไม่เหมือนพระนิพพาน ความสุขในพระนิพพานนั้น ไม่ต้องขวนขวาย เมื่อจับถูกที่แล้ว นั่งสุขนอนสุขได้ทีเดียว ความสุขในพระนิพพาน จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ที่ว่ายากนั้นเพราะ ไม่รู้ไม่เห็น พาลปุถุชนคนตามืดทั้งหลาย รู้ไม่ถูกที่ เห็นไม่ถูกที่ จับไม่ถูกที่ จึงต้องพากเพียรพยายาม หลายอย่างหลายประการ และเป็นการเปล่าจากประโยชน์ด้วย ส่วนท่านที่มีปัญญา พิจารณาถูกที่จับถูกที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้ยาก หลายสิ่งหลายอย่าง นั่งๆ นอนๆ อยู่เปล่าๆ เท่านั้น ความสุขในพระนิพพาน ก็มาบังเกิดขึ้นแก่ท่านได้เสมอ เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่า ความสุขในพระนิพพาน ไม่เป็นสุขที่เจือปนไปด้วยทุกข์ (ทางไปสวรรค์ นิพพาน เป็นทางแคบ เป็นทางของคนคนเดียว เวลาเกิด เราก็เกิดมาคนเดียว พ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็เพียงแสดงความยินดี เมื่อเราเกิดมา เวลาแก่ ไม่มีใครมาช่วยแก่ เวลาเจ็บ ไม่มีใครแบ่งความเจ็บไปได้ เวลาตาย ก็มีเพียงเราผู้เดียวที่ตาย พ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งหลาย ไม่สามารถตาย ร่วมไปกับเราได้ หรือช่วยเรา จากความตายได้ คงมีแต่การ แสดงความโศกาอาดูร เอาใจช่วยเท่านั้น เช่นนี้สมเด็จพระภควันต์ จึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถพาผู้อื่น ไปด้วยได้ ต้องปฏิบัติเอง เห็นเอง รู้เอง ถึงเอง)

อยากรู้ว่าได้รับความสุขหรือทุกข์ ให้สังเกตที่ใจของเราในเวลา ที่ยังไม่ตาย

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้ว่า เราจะได้รับความสุขในสวรรค์ หรือจะได้รับความทุกข์ในนรก ก็จงสังเกตดูใจของเรา ในเวลาที่ยังไม่ตายนี้ เมื่อยังเป็นคนอยู่ มีสุขหรือมีทุกข์มากเท่าใด แม้เมื่อตายไป ก็คงมีสุขและมีทุกข์มากเท่านั้น ไม่มีพิเศษกว่ากัน บุคคลผู้ปรารถนาความสุขในภพนี้ และภพหน้าแล้ว จงรักษาใจ ให้ได้รับความสุข ส่วนตัวตนร่างกายข้างนอกนั้น ไม่สำคัญ จักได้รับความสุข ความทุกข์ประการใด ก็ช่างเถิด เมื่อตายแล้ว ก็ทิ้งอยู่เหนือแผ่นดินหาประโยชน์มิได้ ส่วนใจนั้นเป็นของติดตามตน ไปในอนาคตเบื้องหน้าได้ เพราะจิตใจเป็นของไม่ตาย ที่ว่าตายนั้น ตายแต่รูปร่างกาย ธาตุแตก ขันธ์ดับเท่านั้น ถ้าจิตใจตายแล้ว ก็ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตายต่อไปอีก กล่าวคือถึงพระนิพพาน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติ เราตถาคตก็ได้หลงท่องเที่ยว อยู่ในสังสารวัฏนี้ช้านาน นับด้วยร้อยด้วยพันแห่งชาติ เป็นอันมาก ทำบุญทำกุศล ก็ปรารถนาแต่จักให้พ้นทุกข์ ให้เสวยสุขในเบื้องหน้า เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นจากทุกข์ ครั้นเมื่อตายจริง ก็ตายแต่ธาตุแต่ขันธ์เท่านั้น ส่วนใจนั้นไม่ตาย จึงต้องไปเกิดอีก เมื่อไปเกิดอีก ก็ต้องตายอีก เป็นเช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ที่นิยมกันว่าตาย ก็คือตายเน่าตายเหม็น กันอยู่อย่างทุกวันนี้ ชื่อว่าตายเล่นตายไม่แล้ว ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย หาต้นหาปลายมิได้ ที่ตายแท้ ตายจริง คือตายทั่งรูปแตกขันธ์ดับ ตายทั้งจิตทั้งใจ มีแต่พระพุทธเจ้า กับเหล่าพระอรหันต์ ขีณาสพเท่านั้น ท่านเหล่านี้ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติเมื่อเรายังไม่รู้ เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ ทำบุญทำกุศล ก็มุ่งเอาแต่ความสุขในเบื้องหน้า ครั้นตายไปก็หาได้พ้นจากทุกข์ ตามความประสงค์ไม่ มาในปัจฉิมชาตินี้ เราจึงรู้ว่าสวรรค์แลพระนิพพานนี้ มีอยู่ที่ตัวนี้เอง เราจึงได้รีบเร่งปฏิบัติ ให้ได้ถึงแต่เมื่อยังเป็นคนอยู่ จึงพ้นจากทุกข์และได้เสวยสุข อันปราศจากอามิส เป็นพระบรมครู สั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ทุกวันนี้ (ความจริงตรงนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ ธรรมดาผู้ไม่ได้ศึกษาธรรมะ มักจะคิดว่า สวรรค์เป็นอะไรที่สุขมาก แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง นรกเป็นอะไรที่ทุกข์มาก แตกต่างจาก ตอนเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วก็แตกต่างกัน เพียงไม่มีร่างกายเท่านั้น คนจะขึ้นสวรรค์ มันมีความสุขตั้งแต่มีชีวิตแล้ว ส่วนผู้ที่จะตกนรก ก็มีแต่ความเร่าร้อน ตั้งแต่ยังเป็นคนอยู่เทียว ส่วนการที่ไม่ให้สนใจร่างกาย ก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ ละอุปาทาน คิดว่า เป็นเรา เป็นของเรา เสียนั่นเอง)

สวรรค์ นิพพาน ต้องทำเองด้วยการ ดับกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ความทุกข์ในนรก และความสุขในสวรรค์ พระนิพพาน นั้นใครจะช่วยใครไม่ได้ เมื่อใครชอบอย่างใดก็ทำอย่างนั้น แม้เราตถาคตก็ช่วยใครให้พ้นทุกข์ และช่วยใครให้ได้สวรรค์ และพระนิพพานไม่ได้ ได้แต่เพียงสั่งสอน ชี้แจงให้รู้สุขรู้ทุกข์ ให้รู้สวรรค์ให้รู้พระนิพพาน ด้วยวาจาเท่านั้น อันกองทุกข์ โทษ บาปกรรมทั้งปวงนั้น ก็คือตัวกิเลสตัณหา ครั้นดับกิเลสตัณหาได้แล้ว ก็ไม่ต้องตกนรก ถ้าดับกิเลสตัณหาได้มาก ก็ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ ถ้าดับกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง หาเศษมิได้แล้ว ก็ได้เสวยสุข ในพระนิพพานทีเดียว เราตถาคตบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น ถ้าผู้รู้ทางแห่งความสุข แล้วประพฤติตามปฏิบัติตาม ก็ได้ประสบสุขสมประสงค์ (อักขาตาโร ตถาคตา - ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ชัดเจน)

สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ

DSCN0161อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขทุกข์นั้นให้หมายที่จิต จิตสุขเป็นสวรรค์ จิตทุกข์เป็นนรก จะเข้าใจว่า นรกแลสวรรค์ มีอยู่นอกจิตนอกใจเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง นรกแลสวรรค์ บาปบุญคุณโทษ ย่อมมีอยู่ในอกในใจทั้งสิ้น อยากพ้นทุกข์ก็ให้รักษาจิตใจ จากสิ่งที่เป็นบาปเป็นทุกข์เสีย ถ้าต้องการสวรรค์ ก็ทำการงานที่หาโทษมิได้ แลถ้าอยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งสุขและทุกข์ คือวางจิตใจ อย่าถือว่าเป็นของๆ ตน (การที่ดูจิตแล้วพบว่า อารมณ์เศร้าหมอง หรืออารมณ์เบิกบาน ไม่ใช่หลักประกันยืนยันว่า เมื่อตายแล้วจะไปสวรรค์ หรือนรก ขึ้นกับจิตสุดท้าย ตอนตายเป็นที่สุด ดังมีตัวอย่างมาในธรรมบท เรื่องมัฏฐกุลฑลีเทพบุตร ที่พลิกโผ ทำบาปชั่วมาทั้งชีวิต ตอนตายคิดถึงพระพุทธเจ้าหน่อยเดียว ก็ไปเสวยความสุขในสวรรค์ก่อน ส่วนพระนางมัลลิกาเทวี ทำดีมาตลอดชีวิต ถึงขั้นถวายอสทิสทาน ตอนตายจิตจับอกุศลนิดเดียว ที่เคยสะดุดเท้าพระสวามี เอาเท้าไปแช่ในนรกเสีย ๗ วัน แต่จะถือเป็นหลัก ในการดำเนินชีวิตโดยประมาทว่า เดี๋ยวไปทำดีตอนตายนิดเดียว ก็ได้ไปสวรรค์ เช่นนั้นมันก็ไม่ถูก ส่วนใหญ่กรรมชั่ว มันจะดึงลงต่ำ กรรมดีมันจะดึงขึ้นสูง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีใครเป็นอย่างท่านทั้ง ๒ บ้าง ก็น้อยกว่าน้อย พระไตรปิฎกนั้น ยกขึ้นให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีนะ ไม่ใช่ไม่มี อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ - ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อัปปมาโท อมตัง ปทัง - ความไม่ประมาท เป็นทางของความเป็นอมตะ ปมาโท มัจจุโน ปทัง - ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย ส่วนใหญ่ผู้ที่จิต เป็นสุขสม่ำเสมอ ก็มีแนวโน้มจะขึ้นสวรรค์ เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ที่มีจิตเศร้าหมอง เป็นส่วนมาก ก็มีแนวโน้มจะไปอบายภูมิ)

หากดับกิเลสทั้งห้าได้ขาด คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ ก็เข้าถึงพระนิพพาน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน หรือเหมือนดังคนตายแล้ว คือให้ปล่อยความสุข แลความทุกข์เสีย ข้อสำคัญก็คือ ให้ดับกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเสีย

กิเลส ๑,๕๐๐ นั้น เมื่อย่นลงให้สั้นแล้วก็เหลืออยู่ ๕ เท่านั้น คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑

โลภะนั้น คือความทะเยอทะยาน มุ่งหวังอยากได้กิเลสกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑, อยากได้วัตถุกาม คือ สมบัติข้าวของ ซึ่งมีวิญญาณแลหาวิญญาณมิได้ ๑ เหล่านี้ชื่อว่า โลภะ

โทสะนั้น ได้แก่ความเคืองแค้น ประทุษร้าย เบียดเบียนท่านผู้อื่น ชื่อว่าโทสะ

โมหะนั้น คือความหลง มีหลงรัก หลงชัง หลงลาภ หลงยศ เป็นต้น ชื่อว่าโมหะ

มานะนั้น คือ ความถือตัว ถือตน ดูถูก ดูหมิ่น ท่านผู้อื่น ชื่อว่ามานะ

ทิฏฐินั้น คือความถือมั่น ในลัทธิอันผิด เห็นเป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิไป ปล่อยวางความเห็นผิดไม่ได้ ชื่อว่าทิฏฐิ

ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ได้แล้ว ก็ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นทั้ง ๑,๕๐๐ ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ไม่ได้ ก็ชื่อว่าดับกิเลสไม่ได้เลย

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ แท้ที่จริงพระนิพพานนั้น ไม่มีอยู่ในที่อื่นไกลเลย หากมีอยู่ที่จิตใจนั้นเอง ครั้นดับ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ได้ขาดแล้ว ก็ถึงพระนิพพานเท่านั้น ถ้าไม่รู้แลดับกิเลสตัณหายังไม่ได้ เป็นแต่ปรารถนาว่าขอให้ได้พระนิพพานดังนี้ แม้สิ้นหมื่นชาติแสนชาติ ก็ไม่ได้พบปะเลย เพราะกิเลสตัณหาทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ที่ตัวตนของเราทั้งสิ้น (หากสนใจจะศึกษา วิธีดับกิเลส ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก ในที่นี้ย่นย่อมาให้เพียงสังเขป) ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ที่วัดหลวงตาพวงนี่ท่านกำลังจะสร้างศาลาครอบองค์พระขนาด ๘ ศอกที่สร้างไว้ตากแดดตากฝนอยู่ ไหนๆ จะสร้างแล้วก็เลยจะสร้างเป็น ศาลาปฏิบัติธรรมไปเลย พระพุทธรูปองค์นี้สมัยที่เทปูนองค์พระ โยมที่อุปัฏฐากหลวงตามากว่า ๔ ปีเล่าให้ฟังว่า ไม่ทราบว่าคน แห่แหนมาจากไหน เป็นร้อยคนมาช่วยงาน ทั้งที่วัดหลวงตาก็อยู่ในป่าในดง (ขนาดไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงคิดดูละกัน ห่างจากกรุงเทพฯ แค่สองร้อยกว่ากิโล แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้) ชาวบ้านในพื้นที่แถวนั้นก็ไม่เกิน ๓๐-๔๐ คน ไม่รู้ว่าเขาทราบข่าว การสร้างพระได้อย่างไร ขนาดเจ้าคณะตำบลยังไม่ทราบเลย ในจำนวนคนที่มาช่วยเทพระนี่โยมเขาเล่าว่า บางคนก็ไม่กระพริบตา แล้วทราบมาอีกว่า ท่านไม่เคยพิมพ์ซองผ้าป่าแจกเลย ทีแรกนึกว่าวัดท่านเป็นที่พักสงฆ์ ออกซองเรี่ยไรไม่ได้ จริงๆ แล้วออกได้ แต่ที่ท่านไม่ออกซอง เพราะกลัวจะกลายเป็นการทำบุญ เพราะเกรงใจ มันจะไม่ได้บุญเท่าที่ควร นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านเห็นญาติโยม สำคัญกว่าตัวท่านเอง เป็นการสืบสาน มโนปณิธานของหลวงพ่อ ไว้อย่างเยี่ยมยอด กล่าวคือ หลวงพ่อท่าน สร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย มิใช่เพื่อตนเอง แต่ทนตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ก็เพื่อช่วยให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสทำสังฆทาน ทำวิหารทาน อันจะส่งผล ให้ไปมีวิมานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อาตมาเห็นท่านสร้างแล้ว รู้สึกอยากช่วยงานของท่าน เพราะท่านเป็นพระ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม เป็นอย่างสูง ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก เข้าป่าไปปฏิบัติในถ้ำ ด้วยตนเองมากว่า ๒๐ ปี อาหารไม่มี ก็ฉันปลากระป๋อง กับหน่อไม้มาเป็นปีๆ สมัยก่อนน้ำไม่มี ภาชนะเก็บน้ำไม่มี ก็ต้องไปแบกมาจากที่ไกล ผ่านความยากลำบาก นานัปการ ท่านก็ต่อสู้ฝ่าฟันมา จนปัจจุบัน วัดเป็นรูปเป็นร่าง มีน้ำบาดาล มีไฟปั่น มีศาลา มีกุฏิ ทว่าสังขารท่านเสื่อมโทรมไปมาก ฟันก็หลุดหมดเพราะขาดสารอาหาร (หมดเกลี้ยงเลย ไม่เหลือสักซี่) ตาข้างหนึ่งบอดไปแล้ว อีกข้างหนึ่งก็เห็นมัว ๆ ด้วยต้อหิน ไม่มีทางรักษา มีแต่จะบอดช้า หรือบอดเร็วเท่านั้น กระนั้นท่านก็ยังมีจิตเมตตา คิดจะสร้างสถานที่ แห่งนี้ไว้ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป ท่านว่ามีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ ขนาดไม่เคยเรี่ยไร ตอนนี้ยังมีคนถวายปัจจัยให้ท่านสร้าง ร่วมห้าหมื่นแล้ว อาตมาไปดูความมัธยัสถ์ของท่านแล้ว คิดว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ คงจะได้ใช้อย่างคุ้มค่า ดูเอาเถิดอย่างงานถมดิน เกลี่ยพื้นที่ให้เสมอกัน ก่อนจะขึ้นศาลา ท่านว่าประมาณ ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น งบประมาณ ในการสร้างศาลา ท่านว่าจะขึ้นเสาสัก ๑๒ ต้น งบประมาณอยู่ราวๆ แสนกว่าบาท ใครสนใจทำวิหารทาน อันเป็นอามิสทาน ที่มีอานิสงส์สูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็ขอเชิญร่วมทำบุญได้ บาทเดียวก็ได้อานิสงส์เสมอกัน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ

 
 

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)ตอนที่ 2

การปล่อยวางจิต คือ ให้ละโลภ โกรธ หลง

DSCN0166อานันทะ ดูก่อนอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสีย ซึ่งการร้ายและ การดีที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่ายินดียินร้าย แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค เป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อนท่อนสไบ ที่อยู่ที่นอน แลเภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภความหลง ในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่าจะห้ามเสียว่า ไม่ให้กิน ไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือให้ละความโลเล ในปัจจัยเท่านั้น คือ เมื่อได้อย่างดี อย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดี อย่างประณีต ได้อย่างเลวอย่างหยาบ ก็ให้บริโภคอย่างเลว อย่างหยาบ ตามมีตามได้ ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้แล ชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้ (อันนี้ใครก็ทราบว่าให้ละโลภ โกรธ หลง แต่ใครจะทราบว่าละอย่างไร พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ ขึ้นก็เพื่อ ให้มีความมักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นสำคัญ เมื่อโลภ โกรธ หลง ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว ใจของเราก็จะ เหมือนกับปฐพี คนที่ไม่ทราบ เป้าหมายสำคัญอันนี้ ก็จะถือศีลด้วยความงมงาย บ้างก็เคร่งเกินไป บ้างก็หละหลวมเกินไป หาปัญญามิได้)

การวางใจ ปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญทั้งหมดทั้งสิ้น เหมือนดังไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้ใจให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้ อย่าหวังว่า จักได้โลกุตรนิพพานเลย (แนวการปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ๘ ปัญญา โลกธรรม ๘ บารมี ๓๐ ทัศ กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน ๔ การดูเพ่งอายตนะ ๖ อริยสัจ ๔ สามัญญลักษณะ ๓ การพิจารณาขันธ์ ๕ วิปัสสนาญาณ ๙ สังโยชน์ ๑๐ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีปลายทางเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)

ผู้ปฏิบัติอริยมรรคให้เต็มที่ จึงจะวางใจให้เหมือนแผ่นดินได้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้มิได้กระทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่ ยังเป็นปุถุชน คนหนาแน่นไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้ แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย ผู้ที่วางใจ ทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้นั้น มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ และเป็นสัตบุรุษ จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะท่านไม่ถือตนถือตัว ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้ ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน ส่วนคนโง่เขลานั้น ถือตนถือตัว ถือว่าร่างกาย เป็นอัตตาตัวตน จึงปล่อยวางมิได้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าบุคคลที่ถือตัวถือตนอยู่นั้น ย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง บุคคลจำพวกใด ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ก็หาความสุขมิได้ เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็หาความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์มิได้เลย

ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่จะนำตนไป ให้เป็นสุขในพระนิพพาน ต้องวางเสียซึ่งความสุขในโลกีย์ ถ้าวางไม่ได้ ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ ก็ไม่พ้นทุกข์ ด้วยความสุขในโลกีย์ เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ครั้นเมื่อถือเอาสุข ก็คือถือเอาทุกข์นั้นเอง ครั้นไม่วางสุข ก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้เลย เพราะสุขทุกข์ เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่วางสุขเสีย ก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก บุคคลทั้งหลายที่ ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้ เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์ ใครเล่าจะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ แต่เราตถาคตก็ไม่มีวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้ ถ้าหากเราตถาคต พรากสุขแลทุกข์ออกจากกันได้ เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพานทำไม เราจะถือเอา แต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลกเท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้ เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการดังนี้ (โลกียสุขนั้น หมายรวมตั้งแต่ สุขขั้นหยาบๆ ในกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ละเอียดขึ้นไป จนถึงความสุข ที่เกิดจากการให้ทาน ทำบุญ รักษาศีล สมาธิสุข ฌานสุข สุขจากการฟังธรรม เป็นสิ่งที่ต้องละทั้งสิ้น ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะรู้สึกงงๆ เพราะคุ้นเคยกับคำสั่งสอน มาตลอดว่า ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญพระกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งไม่ดี พระพุทธองค์สอนว่า เป็นสิ่งที่ดี ต้องทำให้มาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้เปรียบก็เหมือนขั้นบันได ขึ้นไปสู่พระนิพพาน เมื่อบำเพ็ญบารมี จนครบบริบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว เมื่อจะเข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องละขั้นบันไดเสีย จะแบกบันได เข้าพระนิพพานไปด้วยไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ เมื่อจิตใฝ่กุศลแล้ว ก็จะไปติดสุข ติดกุศลธรรม ติดบุญ เลยทำให้การพัฒนาจิต ไม่ก้าวหน้าต่อไป สุดท้ายก็ถึงแค่สวรรค์ แค่พรหม ไม่ถึงพระนิพพาน ส่วนนี้จะเป็นธรรมขั้นสูง เป็นสังโยชน์ข้อที่ ๙ ความฟุ้งซ่าน ของพระอนาคามี การติดกุศล จะทำให้ฟุ้งซ่าน)

ผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องพ้นจากกุศลธรรม และอกุศลธรรม

DSCN0164อานันทะ ดูก่อนอานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น ได้แก่กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเอง อัพยากฤตธรรมนั้น คือ องค์พระนิพพาน ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรม และอกุศลธรรมนั้นแล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหํ และพระนิพพานโดยแท้ เมื่อบุคคล ต้องการพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งความสุขนั้นก่อน ความสุขในโลกีย์นั้นเอง ชื่อว่ากุศล จึงจักถึง ซึ่งพระนิพพาน ถ้าหากว่า ไม่มีความสามารถ คือไม่อาจทำพระนิพพาน ให้แจ้งได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน พอให้ได้ความสุข ในมนุษย์แลสวรรค์ แต่จะให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้ เมื่อรู้อยู่ว่าตนจักพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ เป็นสะพาน สำหรับไต่ ไปสู่ความสุข ถ้ารู้ว่าตนยังไม่พ้นทุกข์ ซ้ำมาวางกุศลเสียก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะเมื่อวางกุศลเสียแล้ว ตนก็จักเข้าไปกองอกุศล คือกองบาปเท่านั้น ซึ่งจะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป (เห็นไหม อารมณ์พระนิพพาน เข้าใจง่ายจะตาย แต่ปฏิบัติให้ถึงยากบรม ตรงนี้ถ้าใครเคยฟัง พระสวดศพจะเคยได้ยินว่า “กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา...” นั่นคือสวดมาติกา ในอภิธรรม ๗ บท บทสวดจะเป็นการย่อไว้เฉพาะหัวข้อธรรม บทนี้เป็นการอธิบายความ ในอภิธรรมเรื่อง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม การที่บอกให้ละทั้งกุศล และอกุศลนั้น ไม่ใช่ไปคิดว่า ถ้าเช่นนั้นต่อไปนี้ ก็ไม่ต้องทำบุญแล้ว บาปฉันก็ไม่ทำ ฉันละแล้วทั้ง ๒ อย่าง อันนี้อันตรายมาก อ่านให้ดีๆนะ ท่านว่าต้องบำเพ็ญอริยมรรค ให้ถึงที่สุด แล้วจึงวางได้ ไม่ใช่จู่ ๆ นึกอยากจะวางก็วางได้ ถ้ายังทำไม่ถึง ให้เกาะกุศลไปก่อน เชื่อไหมว่า ในคำสอนของหลวงปู่มั่น มีตอนหนึ่งว่า “ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วอีก” พระอรหันต์นี่ สอนอะไรไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ต้องขบคิดให้ลึกซึ้ง ครั้นลองใช้ปัญญา ที่มีอยู่น้อยนิดพิจารณาแล้ว ก็ได้ความว่า ติดชั่วนี่มันแก้ง่ายเพราะมันเป็นโทษ ชี้ให้เห็นโทษชัดๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ไม่ดื้อรั้นเกินไป ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกินไป มีปัญญาเล็กน้อย ก็จะละชั่วได้ แต่การติดดีนี่ โทษของมัน มองเห็นได้ยาก เพราะมันเป็นสุข หรืออาจเปรียบระหว่าง ที่เย็นกับที่ร้อน ถ้าคนอยู่ในที่ร้อน เมื่อมาสัมผัสที่เย็น ก็จะรู้ได้ไม่ยากว่ามันสบายกว่า แต่จะถอยออกจากที่เย็น ไปสู่ที่ที่พอดี นั้นยากกว่ามาก)

ผู้มีความรู้ความฉลาด สักปานใด ไม่ควรถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าว ซึ่งคำประมาท แก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่า ตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาท ดูหมิ่นในท่านผู้มีศีล บุคคลจำพวกนั้นชื่อว่า เป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่าเป็นคนหลงทาง เป็นผู้ห่างจากความสุข ในมนุษย์ แลสวรรค์ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ ในระหว่างแห่งกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่น อยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดมากมาย สักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะถือตัวว่า เป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้น ยังห่างจากพระนิพพานมาก อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะถือเอาความรู้แลความไม่รู้ เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้ เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลสโดยส่วนเดียว เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้ไม่มีความรู้มาก รู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้ (ตรงนี้มักจะมีคนที่ศีล ๕ ยังไม่ครบดี เที่ยวไปตำหนิพระ เช่น เรื่องพระสูบบุหรี่ เป็นต้น ไปพูดค่อนแคะว่า เป็นพระแล้ว ไปคาบบุหรี่มวนโต นั่งยอง ๆ คุย พูดจากูมึง คนก็ไปนับถือมากมาย ระวังเถิด เรื่องใดถ้าพระวินัยไม่ห้าม ก็อย่าไปตำหนิท่านเลย จะเป็นโทษเสียเปล่า ๆ พระท่านรู้ของท่าน)

ผู้ต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาบุคคล ผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวว่า เรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าไร ก็มิได้ถือเนื้อถือตัว เหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชน ที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัว มีมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ห่างไกล จากพระนิพพานมากเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้น คับแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียว ไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพาน ก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูงศักดิ์กว่า ท่านยิ่งถือตนถือตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพาน เข้าเท่านั้น จึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย เป็นผู้ห่างไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขา มัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่ (บทนี้กล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ความมานะถือตัว เป็นคุณสมบัติที่ ทำให้ห่างไกลพระนิพพาน มีผู้มาปรารภกับอาตมา ถึงหลักวิชาควอนตัมฟิสิกส์ ที่เป็นการต่อยอด จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ว่าเขาสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ส่วนเล็กที่สุดของอะตอม แท้จริงแล้ว เป็นเพียงคลื่น เป็นการสั่นสะเทือน ซึ่งตรงกับหลักอนัตตา ของพระพุทธศาสนา ดังนั้นควอนตั้มฟิสิกส์ ระดับที่ละเอียดซับซ้อนขนาดนั้น ถ้าศึกษาวิจัยไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริง อาตมาเห็นว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้น มันก็ดี แต่พระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยเรียนวิชาฟิสิกส์ ทำไมทราบอะไรต่าง ๆ มากมายยิ่งกว่า นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เพราะท่านค้นพบว่า การละกิเลสต่างหาก ถึงจะพาให้เข้าถึง ความจริงแท้ของสรรพสิ่ง การที่มีความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มากๆ หรือการตีความศาสนาพุทธ เป็นปรัชญายากๆ หาได้ช่วยให้เขาใกล้ พระนิพพานขึ้นเลย ถ้ามันไปสร้างความถือตัว ถือตนว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น นี่เป็นทางการเพิ่มกิเลสต่างหาก มิใช่ทางละกิเลส ยิ่งรู้มาก ตัวโมหะมันก็จะมากตาม ความหลงตัวเอง คิดว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น อันเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาที่ละได้ยากที่สุด มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าการที่เขามีความสามารถ ทางสมองเหนือคนอื่น เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ยาก จดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และสามารถเรียนรู้ในวิชาการยาก ๆ หรือธรรมะยากๆ เหล่านั้น จะเป็นการเข้าใกล้พระนิพพาน เข้าไปเรื่อยๆ ไม่จริงเลย ปัญญาในทางพุทธนี่เขาแปลว่า ความรอบรู้ในกองสังขาร รู้ต้องรู้อย่างเป็นจริงว่า มันเป็นทุกข์ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน อุปมาการถอดถอนตัวตน นี่เหมือนการถอนต้นไม้ ยิ่งความสามารถมากรู้มาก ก็ประดุจต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึก มีรากฝอยยุ่บยั่บ จะรื้อถอนก็ต้องใช้กำลังมาก ยากลำบากมาก ไม่เหมือนผู้ที่มีความสามารถน้อย รู้น้อย ก็ประหนึ่งหญ้า หรือต้นไม้เล็กๆ รากแก้วก็ไม่ลึก รากฝอยก็น้อย ปฏิบัติเพียงเล็กน้อย ก็ถอดถอนตัวตนได้เกลี้ยง กระทั่งพระที่บวชเข้ามา ท่านก็แนะไม่ควรคิดว่า ตนบรรลุธรรมขั้นไหน เป็นโสดา สกทาคา อนาคา หรือ อรหันต์ ให้ถ่อมตัวเตี้ยติดดินอยู่เสมอ ให้คิดว่าเก่งแค่ไหน ดีแค่ไหน เลิศแค่ไหน ก็ตายหมด ไม่มีใครชนะความตาย สักคนเดียว คิดไว้เสมอ ๆ ผู้ที่คิดว่าตนดี ตนเก่ง พระบรมโลกเชษฐ์ท่านเรียกว่า พาลปุถุชน)

ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล

 
 
 

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)

บางส่วนของคิริมานนทสูตร

(คัดย่อมาเฉพาะที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ และพอจะแสดงความเห็นได้)

390202078การถึงพระนิพพาน คือการพ้นทุกข์

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว จึงชื่อว่า ถึงพระนิพพาน แลรู้ตน ว่าเป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว แลอยู่สุขสำราญบานใจทุกเมื่อ หาความเร่าร้อนโศกเศร้าเสียใจมิได้ บุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่หารู้ไม่ว่า พระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน แม้ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางจะไป สู่พระนิพพานก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจแล้ว จักไปสู่พระนิพพานนั้น ก็เป็นการลำบากยิ่งนักหนา ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นทางไปพระนิพพาน แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็จำต้องพากเพียร พยายามอย่างเต็มที่ จึงจะถึง (อันนี้ใครก็ทราบว่า พระนิพพาน คือการพ้นทุกข์ แต่พระสูตรนี้เน้นให้เห็นว่า พระนิพพานคือสภาวะ ที่หาความทุกข์ไม่ได้ สุขสำราญอยู่ทุกเมื่อ สภาวะนั้นเป็นอย่างไร จะได้แจงต่อไป)

ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องศึกษาให้รู้แจ้ง

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง ครั้นรู้แจ้งแล้วจักถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก จะถือเสียว่าไม่รู้ก็ช่างเถอะ เราปรารถนาเอาคงจะได้ คิดอย่างนั้นก็ผิดไป ใช้ไม่ได้ แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่น ขวนขวายจะให้ได้ให้ถึง ก็ยังเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็นพระนิพพาน แล้วจะถึงพระนิพพาน จักมีมาแต่ที่ไหน อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่า ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียนต่างๆ เป็นต้น ต้องรู้ด้วยใจ หรือเห็นด้วยตาเสียก่อน จึงจะทำสิ่งนั้น ให้สำเร็จได้ ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ก็ต้องศึกษา ให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อน จึงจะได้ จะมาตั้งหน้าปรารถนาเอา โดยความไม่รู้นั่น จะมีทางได้มาแต่ที่ไหน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ควรจะศึกษาให้รู้แจ้ง คลองแห่งพระนิพพาน ไว้ให้ชัดเจนแล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไป ก็อย่าไป ครั้นเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในคลองแห่งพระนิพพาน ด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจักสำเร็จ ไม่สำเร็จก็จักเป็น อุปนิสัยปัจจัยต่อไป ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไปหรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั้นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้นที่นี้ ก็เลยผิดไปจากจิตที่คิด หลงไปหลงมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้ (บทนี้แนะให้ทำความเข้าใจ กับพระนิพพานเสียแต่วันนี้ จะถึงหรือไม่ถึงไม่สำคัญ ถ้าทำความเห็นให้ถูก ให้ตรงเสียแล้ว อย่างไรต้องถึง สักวันหนึ่ง ถ้าไม่รู้หรือเห็นผิดเสียแล้ว จะต้องหลงอยู่ในสังสารวัฏ หาที่สุดมิได้)

ผู้ไม่รู้แจ้งในพระนิพพาน ไม่ควรสั่งสอนพระนิพพานแก่ผู้อื่น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่แจ้ง ไม่เข้าใจในพระนิพพาน ไม่ควรจะ สั่งสอนพระนิพพาน แก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอน ก็จะพาท่านหลงหนทาง จักเป็นบาป เป็นกรรมแก่ตน (บทนี้แนะว่า ไม่รู้จริงอย่าไปสอนคนอื่น ผู้ที่ไม่รู้จริงเที่ยวสั่งสอนคนอื่น ถ้าพาให้คนอื่นไปหลง อยู่ในวัฏสงสารมากขึ้น โทษถึงขั้น โลกันตมหานรกเทียว อาตมาก็เคยสงสัยว่า พระที่มีมิจฉาทิฏฐินิดเดียว ไปเที่ยวสอนคนอื่น ทั้งที่ตัวเองไม่รู้จริง ทำไมโทษหนัก ถึงขั้นโลกันตมหานรก ทั้งที่ตัวท่านเอง ก็ปฏิบัติดี อยู่ในศีลในธรรม ดูไม่ค่อยยุติธรรม มาเข้าใจจากพระสูตรนี้เองว่า โทษมันเกิดเพราะ ไปทำให้ผู้อื่นหลงผิด ห่างไกลมรรคผลมากขึ้น โทษมันเลยหนัก ลำพังแค่ธรรมดาคน ก็มีแนวโน้มลงที่ต่ำอยู่แล้ว นี่ยิ่งไปทำให้เขาเห็นผิด ไปจากทำนองคลองธรรม มรรคผลนิพพานที่ว่ายากอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก และไม่ใช่ว่าจบชาติเดียว ถ้าคนนั้นแบกมิจฉาทิฏฐิต่อไป ก็จะข้ามภพข้ามชาติ เพิ่มพูนนิสัยมิรู้จบ ยิ่งทำเป็นหนังสือออกมา มีคนอ่านมาก แค่ทำให้คนคนเดียวหลงทางก็มีโทษมากแล้ว นี่ทำคนเป็นหมู่ เป็นคณะหลงผิด บรื๊อส์...จินตนาการไม่ออกเลย)

ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องแสวงหาครูที่ดี ที่รู้แจ้งพระนิพพานจริง

พระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ เป็นหนักหนา ทำให้หลงโลก หลงทาง ห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์ เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้อาจารย์ที่ ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิด เป็นทุกข์ พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน

ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดี และได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลิมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครู ผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิด คือเป็นมหาโจร ฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์ อยู่ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก (บทนี้น่าจะนำกาลามสูตรมาใช้ครับว่า อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นผลเอง แล้วจึงเชื่อ ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ผลเองได้ ก็ต้องเฟ้นหาครูบาอาจารย์ ที่เชื่อถือได้จริง ๆ หวังร้ายต่อใครไม่เป็น เช่น พระอริยเจ้า เป็นต้น ทีนี้ก็ต้องศึกษาจริยา พระอริยเจ้ากันหน่อย เพราะท่านไม่ได้มีป้ายแขวนไว้ว่า ฉันเป็นพระอริยเจ้านะ ซ้ำยังมักเป็นที่ปิดบัง อีกต่างหาก)

ผู้รู้กับไม่รู้ ได้รับทุกข์เหมือนกัน หากทำบาป ส่วนผู้จะได้สุขในนิพพานต้องรู้เท่านั้น

อันทุกข์ในนรกนั้นจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ ก็ตกนรกเหมือนกัน ผู้ที่ไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้ว ปรารถนาจักพ้นจากนรก ก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่า นรกอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ แลควรรู้จัก ทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นคือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ นั่นเอง ส่วนความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้

1_display2การรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ควรรู้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อน ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสีย แต่เมื่อยังไม่ตาย อย่าเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้ว มีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้รับทุกข์ฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขฉันนั้น (เรื่องราวของคนที่ตายแล้วฟื้น จะพูดเหมือนๆ กันว่า ไม่รู้ตัวว่าตัวเอง ตายไปแล้ว ความรู้สึกมันก็เหมือนกับ ตอนมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจะไปจินตนาการว่า ความสุขในสวรรค์นั้น เป็นแดนเกษม แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นความเข้าใจผิด สุขมันสุขเพราะ ไม่มีร่างกายเท่านั้น ไม่มีร้อน ไม่มีหนาว ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแก่ชรา ไม่มีหิว และความเป็นทิพย์ แต่ตัวความสุขแท้ๆนั้น แทบไม่ต่างกัน ลองสังเกตุดู เวลาที่เราได้ทำบุญอะไร ที่ถูกใจมากๆ เช่นบางคนชอบเด็ก ได้ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า แล้วเกิดปีติ ลองดูใจของเรา ที่เป็นสุขในเวลานั้น ตายไปแล้ว ความสุขก็เป็นทำนองนั้น เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วใครที่จมอยู่ในกองบาป ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ยังไม่ได้ทำการงานอะไรเลย ลองสังเกตุใจตัวเองดู ตื่นมาก็เศร้าหมองหดหู่เอง โดยไม่ต้องมีอะไรกระทบ นี่ก็อาจอนุมานได้ว่า คนคนนั้นจมอยู่ในนรก ตั้งแต่ยังมีชีวิต ครั้นเมื่อไปทำบุญ ทำทานรักษาศีลเหลาะๆ แหละๆ แค่ไม่กี่วัน นั่งสมาธิไม่กี่ชั่วโมง ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็เหมาว่าการปฏิบัติไม่มีผล ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ก็แสดงว่าเขา ยังไม่สามารถหลุดขึ้นมา จากนรกได้ หรือมีแนวโน้มจะตกนรกสูงนั่นเอง)

บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือปรารถนาอยากได้สุขประเภทใด ก็ควรให้ได้ถึงเสียแต่ในชาตินี้ ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว ชื่อว่าเป็นคนหลงทั้งสิ้น แม้ความสุขอย่างสูง คือพระนิพพาน ผู้ปรารถนา ก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสีย แต่เมื่อเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าความสุขในพระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ ดิบ ๑ สุก ๑ ได้ความว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานดิบ เมื่อตายไปแล้ว ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานสุก พระนิพพานมี ๒ ประการเท่านี้ นิพพานโลกีย์ นิพพานพรหม เป็นนิพพานหลง ไม่นับเข้าไปในที่นี้ พระนิพพานดิบนั้น เป็นของสำคัญ ควรให้รู้ ให้เห็น ให้ได้ ให้ถึง เสียก่อนตาย ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้แล้ว ตายไปจักได้พระนิพพานสุกนั้น ไม่มีเลย ยิ่งไม่รู้ไม่เข้าใจก็ยิ่งไม่มีทางได้ แต่รู้แล้ว เห็นแล้ว พยายามจะให้ได้ ให้ถึงก็แสนยาก แสนลำบากยิ่งนักหนา ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพาน มีอย่างเดียว ตายแล้วจึงจะได้ ผู้นั้นชื่อว่าคนหลง

ทำตัวเราให้เหมือนแผ่นดิน หรือปล่อยวาง จึงได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าพระนิพพานนั้น พึงให้ดูอย่างแผ่นดินพระธรณี มีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ ถ้าทำไม่ได้ แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายเท่าไร ๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตน ให้เหมือนแผ่นดินเสียก่อน ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียร ลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้ จะเข้าใจว่า ปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไป ใช้ไม่ได้ ต้องทำตัวทำใจ ให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้ ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนแลสัตว์ทั้งหลาย จะทำร้ายทำดี กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธ รู้เคือง (เป็นการเริ่มอารัมภบท นิยามของพระนิพพาน ลักษณะอารมณ์ใจ ของผู้ถึงพระนิพพาน และการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน)

18 กันยายน 2554

16 กันยายน 2554

การรู้ตัวตอนที่2 ผ่านทางYou Tube

1_display

ลักษณะของนารีผล

15 กันยายน 2554

ภาษาธรรมภาษาใจออนไลน์ผ่านYou Tube

1_display2

นารีผล

1_original

08 กันยายน 2554

ตัวอย่างแนวข้อสอบสนามหลวงวิชาวินัยมุข เล่ม ๒ น.ธ.โท

images4

                            ตัวอย่างข้อสอบสนามหลวงวิชาวินัยมุข เล่ม ๒
๑. พระวินัย แบ่งออกเป็นกี่อย่าง อะไรบ้าง
ตอบ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ อาทิพรหมจริยกาสิกขาบท ๑, อภิสมาจาร ๑ ฯ

๒. อภิสมาจารคืออะไร  แบ่งเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง  ผู้ล่วงละเมิด สามารถถูกปรับอาบัติอะไรได้บ้าง  ภิกษุล่วงละเมิดจะเกิดความเสียหายอย่างไร  ภิกษุควรปฏิบัติพระวินัยอย่างไร จึงจะเรียกได้ว่า พอดีพองาม
ตอบ อภิสมาจาร คือ ธรรมเนียมของภิกษุ หรือ สิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์ มี๒ ประเภท คือ ๑. ข้อห้าม ๒. ข้ออนุญาต ผู้ล่วงละเมิด สามารถถูกปรับอาบัติถุลลัจจัย และอาบัติทุกกฎ ฯภิกษุล่วงละเมิด เพียงบางรูป บางอย่าง บางครั้งก็เสียหายน้อย แต่ถ้าล่วงละเมิดมากอย่าง หรือเป็นนิตย์ จิตภิกษุนั้นย่อมเศร้าหมองจากอาจิณกรรม และอาจทำให้เกิดความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย แตกความสามัคคีในหมู่สงฆ์ แบ่งพรรคแบ่งพวกว่าพวกนี้เคร่ง พวกนี้ไม่เคร่ง เป็นต้น ฯภิกษุควรปฏิบัติพระวินัยโดยสายกลาง คือไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงาย จนเป็นเหตุให้ต้องลำบาก เพราะเหตุธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่าย ละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนเป็นเหตุให้ตนเป็นคนเลวทราม จึงจะเรียกได้ว่า พอดีพองาม ฯ

๓. พระพุทธองค์ทรงอนุญาต ให้ภิกษุไว้ผมได้ยาวที่สุดเท่าไร ไว้ได้นานที่สุดเท่าไร
ตอบ ไม่เกิน ๒ ข้อนิ้วมือ (องคุลี) ฯ ไม่เกิน ๒ เดือน ฯ

๔. ภิกษุพึงปฏิบัติเกี่ยวกับเล็บมือเล็บเท้าของตนอย่างไร จึงจะถูกต้องตามวินัยแผนกอภิสมาจาร
ตอบ ภิกษุพึงปฏิบัติเกี่ยวกับเล็บมือเล็บเท้าของตนด้งนี้ ไม่พึงไว้เล็บยาว ๑, พึงตัดเสมอเนื้อ ๑, ไม่พึงขัดเล็บด้วยมุ่งในความสวยงาม ๑, ถ้าเล็บเปื้อน พึงขัดมลทิน หรือแคะมูลเล็บ ๑ ฯ

๕. ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติ ให้รักษาความสะอาดเกี่ยวกับร่างกายไว้อย่างไร การเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีประโยชน์อย่างไร
ตอบ มีพระพุทธบัญญัติว่าด้วยกายบริหารไว้ว่า ห้ามไว้ผมยาว ๑, ห้ามไว้หนวดเครา
๑, ห้ามไว้เล็บยาว ๑, ห้ามไว้ขนจมูกยาว ๑, เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว น้ำมีอยู่ ไม่ชำระไม่ได้ ๑, อนุญาตให้ใช้ไม้ชำระฟัน ๑, น้ำดื่มให้กรองก่อน ๑ ฯการเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีประโยชน์ คือ
๑. ฟันไม่สกปรก
๒. ปากไม่เหม็น
๓. เส้นประสาทรับรสหมดจดดี
๔. เสมหะไม่หุ้มอาหาร
๕. ฉันอาหารมีรส ฯ

๖. ภิกษุไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ มีพระพุทธานุญาตไว้ในกรณีใดบ้างตอบ ๒ กรณี
๑. ในกรณีเข้าบ้าน มีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ
๑. คราวเจ็บไข้
๒. สังเกตเห็นว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ
๔. วิหาร คือ กุฎี คุ้มได้ด้วยดาล
๕. ได้รับอานิสงส์พรรษา
๖. ได้กรานกฐิน ฯ
๒. ในกรณีต้องไปค้างแรมที่อื่น มีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ
๑. ได้รับอานิสงส์พรรษา ๒. ได้กรานกฐิน ฯ

๗. ภิกษุใช้เครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์ปกปิดกายแทนจีวร จะผิดหรือไม่ อย่างไร
ตอบ อาจจะผิด หรือไม่ผิดก็ได้ แล้วแต่กรณี ถ้าไม่มีจีวร เนื่องจาก
๑. จีวรถูกลักไป ถูกโจรชิงไป ถูกไฟไหม้ นุ่งห่มผ้าของคฤหัสถ์ได้ ห้ามมิให้เปลือยกาย ถ้าไม่ปกปิด ต้องอาบัติทุกกฎ
๒. ไม่มีเหตุอันควร นุ่งห่มด้วยผ้าของคฤหัสถ์ ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ

๘. ขันธ์แห่งจีวร ประกอบด้วย อะไรบ้าง ทรงมีพระพุทธานุญาตไว้ อย่างไร
ตอบ ขันธ์แห่งจีวร ประกอบด้วย มณฑล อัฑฒมณฑล อัฑฒกุสิ และกุสิ ฯทรงมีพระพุทธานุญาตไว้ว่า จีวรผืนหนึ่ง ให้มีขันธ์ ไม่น้อยกว่า ๕ เกินกว่านั้น ใช้ได้แต่ให้เป็นขันธ์ที่เป็นเลขคี่ คือ ๗, ๙, ๑๑ เป็นต้น ฯ

๙. ภิกษุเปลือยกายด้วยอาการอย่างไรบ้าง ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติ และไม่ต้องอาบัติ
ตอบ ถ้าเปลือยกายเป็นวัตรอย่างเดียร์ถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเปลือยกายทำกิจแก่กัน คือ ไหว้ รับไหว้ ทำบริกรรม ให้ของ รับของ เปลือยกายในเวลาฉัน และดื่มต้องอาบัติทุกกฎ แต่ในเรือนไฟ และในน้ำ ไม่ต้องอาบัติ ฯ

๑๐. ในพระวินัย ทรงอนุญาตบาตรไว้กี่ชนิด อะไรบ้าง (๔๗) วิธีใช้วิธีรักษาบาตรที่ถูกต้อง คืออย่างไร
ตอบ ทรงอนุญาตไว้ ๒ ชนิด คือ บาตรดินเผา ๑ บาตรเหล็ก สุมดำสนิท ๑ ฯวิธีรักษาบาตร คือ ห้ามไม่ให้วางบาตร เก็บบาตรไว้ในที่ที่บาตรจะตกแตก และในที่จะประทุษร้ายบาตร ห้ามคว่ำบาตรไว้ที่พื้นคมแข็ง อันจะประทุษร้ายบาตร ห้ามไม่ให้แขวนบาตร ห้ามไม่ให้ใช้บาตรต่างกระโถน คือทิ้งก้างปลา กระดูก ทิชชู่ หรืออื่น ๆ อันเป็นเดนลงในบาตร ห้ามไม่ให้ล้างมือ หรือบ้วนปากลงในบาตร ไม่ควรเอามือเปื้อนจับบาตร ฉันแล้วให้ล้างบาตร ห้ามไม่ให้เก็บทั้งที่ยังเปียก ให้ผึ่งแดดก่อน ห้ามไม่ให้ผึ่งทั้งยังเปียก ให้เช็ดจนหมาดก่อนแล้วจึงผึ่ง ห้ามไม่ให้ผึ่งไว้นาน ให้ผึ่งได้ครู่หนึ่ง ฯ

๑๑. ภิกษุพึงใช้บริขารบริโภค และเครื่องอุปโภคอย่างไร จึงจะดูน่าเลื่อมใส ของประชาชน
ตอบ บริขารบริโภค และเครื่องอุปโภคพึงใช้นั้น ภิกษุควรใช้ของปอน หรือของเรียบ ๆไม่พึงใช้ของที่เรียกว่า โอ่โถง ความประพฤติปอนของภิกษุนี้ ย่อมยังความเลื่อมใสแก่คนบางพวก ที่เรียกว่า ลูขประมาณ แปลว่า มีของปอนเป็นประมาณ คือมีของปอนเป็นเหตุนับถือ ฯ

๑๒. บริขารเหล่านี้คือ ไตรจีวร ฟูกเตียง ที่นอน หมอนหนุนศีรษะ เตียง ผ้าปูนอนผ้าเช็ดหน้า ฟูกตั่ง เบาะ ผ้านิสีทนะ อย่างไหนจัดเป็นบริขารเครื่องบริโภคอย่างไหนจัดเป็นบริขารเครื่องเสนาสนะ
ตอบ ไตรจีวร ผ้าปูนอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้านิสีทนะ จัดเป็นบริขารเครื่องบริโภค ฟูกเตียงที่นอน หมอนหนุนศีรษะ เตียง ฟูกตั่ง เบาะ จัดเป็นบริขารเครื่องเสนาสนะ ฯ

๑๓. บริขารต่อไปนี้ ได้แก่อะไรบ้าง
๑. บริขารเครื่องบริโภค
๒. บริขารเครื่องอุปโภค
ตอบ บริขารเครื่องบริโภค ได้แก่ ไตรจีวร ผ้าปูนอน ผ้าเช็ดหน้า เช็ดปาก ผ้านิสีทนะบาตร ฯ
บริขารเครื่องอุปโภค ได้แก่ กล่องเข็ม เครื่องกรองน้ำ มีดโกนพร้อมทั้งฝัก หินสำหรับลับ กับเครื่องสะบัด ร่ม รองเท้า ฯ

๑๔. เหตุที่ควรถือเป็นประมาณ ๕ ประการ ให้บริขาร ขาดอธิษฐาน มีอะไรบ้าง

ตอบ เหตุที่ควรถือ มีดังนี้ คือ ให้แก่ผู้อื่น ๑, ถูกโจรชิงเอาไป หรือลักเอาไป ๑, มิตร
ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑, ถอนเสียจากอธิษฐาน ๑, เป็นช่องทะลุ ๑ ฯ

๑๕. ผ้าสังฆาฏิ คือผ้าอะไร มีหลักฐานความเป็นมาอย่างไร
ตอบ ผ้าสังฆาฏิ คือ ผ้าสำหรับห่มกันหนาว ห่มซ้อนนอก อนุญาตเพื่อใช้ในฤดูหนาว ฯมีเรื่องเล่าว่า ในฤดูหนาวจัด ทรงทดลองห่มจีวรผืนเดียวอยู่ในที่แจ้ง สามารถกันความหนาวได้ยามหนึ่ง ถ้าอยู่ตลอดราตรี ต้องผ้า ๓ ชั้น จึงพอกันความหนาวได้ จึงทรงอนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้นเข้ากับอุตตราสงค์ชั้นเดียว จะได้เป็น ๓ ชั้น พอกันความหนาวดังกล่าวได้ ฯ

๑๖. ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติสำหรับพระภิกษุผู้รับถือเสนาสนะของสงฆ์ ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะด้วยอาการอย่างไรบ้าง
ตอบ ควรเอาใจใส่รักษาอย่างนี้ คือ
๑. อย่าทำเปรอะเปื้อน
๒. ชำระให้สะอาด
๓. ระวังไม่ให้ชำรุด
๔. รักษาเครื่องเสนาสนะ
๕. ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ไว้ให้มีพร้อม
๖. ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่ง อย่าเอาไปใช้ในที่อื่นให้กระจัดกระจาย ฯ

๑๗. จงให้ความหมายของคำดังต่อไปนี้
ก. นิสสัย
ข. วัตร
ค. อุปัชฌายะ
ง. อาจารย์
จ. สัทธิวิหาริกวัตร
ตอบ ก. นิสสัย คือ กิริยาที่พึ่งพิง
ข. วัตร หมายถึง ขนบ คือ แบบอย่าง อันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ ในกิจนั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ
ค. อุปัชฌายะ คือ ภิกษุผู้รับให้สัทธิวิหาริกพึ่งพิง
ง. อาจารย์ คือ ภิกษุผู้รับให้อันเตวาสิกพึ่งพิง
จ. สัทธิวิหาริกวัตร คือ หน้าที่อันอุปัชฌายะ จะพึงทำแก่สัทธิวิหาริก

๑๘. คำว่า ถือนิสสัย หมายความว่าอะไร
ตอบ หมายความว่า ยอมตนอยู่ในความปกครองของพระเถระผู้มีคุณสมบัติ ควรปกครองตนได้ ยอมตนให้ท่านปกครองพึ่งพิงพำนักอาศัยท่าน ฯ

๑๙. จงเขียนคำขอนิสสัยอาจารย์ พร้อมทั้งคำแปล
ตอบ “อาจาริโย เม ภนฺเต โหหิ, อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ” ซึ่งแปลว่า “ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอยู่อาศัยท่าน” ฯ

๒๐. ในบาลี แสดงเหตุนิสัย จะระงับจากอุปัชฌาย์ไว้เท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ แสดงเหตุนิสัย จะระงับจากอุปัชฌาย์ไว้ ๕ ประการ คือ อุปัชฌาย์หลีกไปเสีย ๑,สึกเสีย ๑, ตายเสีย ๑, ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ๑, สั่งบังคับ ๑ ฯ

๒๑. ภิกษุผู้ควรจะได้นิสัย มุตตกะ ต้องมีคุณสมบัติ อย่างไรบ้าง
ตอบ ผู้ควรได้นิสัย มุตตกะ มีคุณสมบัติ ดังนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีสติ
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ฟังมาก มีปัญญา
๓. รู้จักอย่างไรเป็นอาบัติ อย่างไรมิใช่อาบัติ อย่างไรเป็นอาบัติเบา อย่างไรเป็นอาบัติหนัก จำปาติโมกข์ได้แม่นยำทั้งมีพรรษาได้ ๕ หรือยิ่งกว่า ฯ

๒๒. ภิกษุเช่นไร ชื่อว่า นวกะ มัชฌิมะ เถระ
ตอบ ภิกษุมีพรรษาไม่ถึง ๕ เรียกว่า นวกะภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง ๑๐ เรียก มัชฌิมะ
ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เรียกว่า เถระ ฯ

๒๓. อาจารย์ทางพระวินัย ตามนัยอรรถกถา มีเท่าไร อะไรบ้าง อาจารย์เหล่านั้นทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร
ตอบ มี ๔ คือ ปัพพชาจารย์ ทำหน้าที่ให้สรณคมน์ เมื่อบรรพชา ๑, อุปสัมปทาจารย์ทำหน้าที่สวดกรรมวาจา เมื่ออุปสมบท ๑, นิสสยาจารย์ ทำหน้าที่ให้นิสสัย ๑ และอุทเทสาจารย์ ทำหน้าที่สอนธรรม ๑ ฯ

๒๔. อุปัชฌาย์ประณามสัทธิวิหาริก ผู้ประพฤติมิชอบ ด้วยเหตุอะไรบ้าง
ตอบ ด้วยเหตุดังนี้ คือ หาความรักใคร่ ในอุปัชฌาย์มิได้ ๑, หาความเลื่อมใสมิได้ ๑,หาความละอายมิได้ ๑, หาความเคารพมิได้ ๑, หาความหวังดีต่อมิได้ ๑ ฯ

๒๕. สัทธิวิหาริก คือใคร อุปัชฌาย์ควรมีใจเอื้อเฟื้อสัทธิวิหาริกของตนอย่างไรบ้าง พระอุปัชฌาย์ และสัทธิวิหาริก พึงปฏิบัติต่อกันอย่างไร จึงจะเกิดความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย
ตอบ คือ ภิกษุผู้พึ่งพิง ในการอุปสมบท ภิกษุถือภิกษุรูปใดเป็นอุปัชฌาย์ ก็เป็นสัทธิวิหาริกของภิกษุรูปนั้น ฯ
อุปัชฌาย์ควรมีใจเอื้อเฟื้อสัทธิวิหาริกของตนอย่างนี้ คือ
๑. เอาใจใส่ในการศึกษาของสัทธิวิหาริก
๒. สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ ถ้าของตน ไม่มีก็ขวนขวายหาให้
๓. ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย อันจักเกิดมีหรือได้มีแล้ว แก่สัทธิวิหาริก
๔. เมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ ทำการพยาบาล ฯพระอุปัชฌาย์ และสัทธิวิหาริก พึงปฏิบัติต่อกัน เยี่ยงบิดาและบุตร จึงจะเกิดความเจริญในพระธรรมวินัย ฯ

 

๒๖. อาการที่อุปัชฌาย์ ประณามสัทธิวิหาริก พึงทำอย่างไร
ตอบ พึงพูดให้รู้ว่า ตนไล่เธอเสีย ในบาลีแสดงไว้ว่า เราประณามเธอ เธออย่าเข้ามาณ ที่นี้ จงขนบาตร จีวร ของเธอออกไปเสีย หรือเธอไม่ต้องอุปัฏฐากเราดังนี้ หรือแสดงอาการทางกาย ให้รู้อย่างนั้นก็ได้ ฯ

๒๗. กิจวัตรที่สัทธิวิหาริก ควรกระทำแก่พระอุปัชฌายะ ในข้อว่า เคารพในท่านนั้น ในบาลี ท่านแสดงไว้อย่างไร
ตอบ ในบาลีแสดงการเดินตามท่าน ไม่ให้ชิดนัก ไม่ให้ห่างนัก และไม่พูดสอด ในขณะที่ท่านกำลังพูด เมื่อท่านพูดผิด ไม่ทัก หรือค้านตรง ๆ พูดอ้อม พอให้ท่านได้สติ ฯ

๒๘. เมื่อภิกษุเพื่อนสหธรรมิกอาพาธ ทรงให้ใครเป็นผู้พยาบาล และทรงสั่งสอนปรารภภิกษุอาพาธไว้ว่าอย่างไร
ตอบ ทรงให้ภิกษุเพื่อนสหธรรมิกเอาใจใส่รักษาพยาบาลกันเอง อย่าทอดธุระเสีย ฯทรงสั่งสอนปรารภภิกษุอาพาธไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดาของเธอทั้งหลายไม่มี ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเองแล้วไซร้ ใครเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ภิกษุใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเรา ขอให้ภิกษุนั้นพยาบาลภิกษุไข้เถิด ฯ

๒๙. ภิกษุอยู่จำพรรษาแล้ว มีเหตุให้ไปที่อื่น คิดว่าจะกลับมาทันภายในวันนั้นมิได้ผูกใจสัตตาหะไว้ แต่มีเหตุขัดข้องให้กลับถึงเมื่ออรุณขึ้นเสียแล้ว เช่นนี้พรรษาขาดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ ถ้าไปด้วยธุระที่ทรงอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ พรรษาไม่ขาด เพราะยังอยู่ในพระพุทธานุญาตนั้นเอง ทั้งจิตคิดจะกลับก็มีอยู่ ถ้าไปด้วยมิใช่ธุระที่เป็นสัตตาหกรณียะ พรรษาขาด ฯ

๓๐. ในการทำอุโบสถสวดปาติโมกข์นั้น มีบุพพกิจอะไรบ้าง และภิกษุอาจต้องอาบัติถุลลัจจัยด้วยเรื่องอะไรได้บ้าง
ตอบ มีบุพพกิจดังนี้ นำปาริสุทธิของภิกษุผู้อาพาธมา นำฉันทะของเธอมาด้วย บอกฤดู นับภิกษุ สั่งสอนนางภิกษุณี ฯภิกษุอาจต้องอาบัติถุลลัจจัย ในเรื่องที่ว่า รู้อยู่ว่าจะมีภิกษุอื่นมาร่วมทำอุโบสถด้วยอีกแต่นึกเสียว่า ช่างปะไร แล้วสวด ฯ

๓๑. การตั้งญัตติกรรม ในเวลาทำอุโบสถ มีคำว่า ปตฺตกลฺลํ แปลว่า ความพรั่งพร้อมนั้น หมายความว่าอย่างไร
ตอบ ความพรั่งพร้อม หมายความว่า การทำอุโบสถกรรมนั้น ต้องประกอบด้วยองค์
๔ คือ ๑. วันนั้น เป็นวันอุโบสถที่ ๑๔ หรือ ๑๕ หรือวันสามัคคี วันใดวันหนึ่ง
๒. ภิกษุประชุมครบองค์ประชุม
๓. พวกเธอไม่ต้องสภาคาบัติ
๔. บุคคลที่ควรเว้น ไม่มีในที่ประชุม ฯ

๓๒. ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุจำพรรษาแรก ๔ รูป พรรษาหลัง ๒ รูป เมื่อถึงวันปวารณาแรก เพ็ญเดือน ๑๑ และวันปวารณาหลัง เพ็ญ เดือน ๑๒ เธอทั้ง ๖
รูปนั้น จะปฏิบัติอย่างไร (๔๗)

ตอบ เมื่อถึงวันปวารณาแรก พึงประชุมกันทั้ง ๖ รูป ตั้งสังฆญัตติ ภิกษุผู้จำพรรษาแรก ๔ รูป พึงปวารณา เมื่อเสร็จแล้ว ภิกษุอีก ๒ รูป พึงทำปาริสุทธิอุโบสถ ในสำนักภิกษุ ๔ รูปนั้น เมื่อถึงวันปวารณาหลัง พึงประชุมกัน ๖ รูป เช่นเดียวกัน แล้วภิกษุผู้จำพรรษาแรก ๔ รูป พึงตั้งญัตติสวดปาติโมกข์ เมื่อจบแล้ว ภิกษุ ๒ รูป พึงปวารณาในสำนักภิกษุ ๔ รูปนั้น ฯ

๓๓. วิธีวัตร คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ตอบ วิธีวัตร คือ วินัยที่ว่าด้วยแบบอย่าง เช่นแบบอย่างการห่มผ้า เป็นต้น ฯมีความสำคัญเพื่อเป็นเหตุให้ภิกษุมีความประพฤติสม่ำเสมอกัน แม้แบบอย่างใดล้าสมัย ก็ต้องมีแบบอย่างใหม่ขึ้นมาแทน มิฉะนั้นแบบอย่างทั้งหลาย ก็จะค่อยถูกลดเลิกไป จนภิกษุ ไม่มีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ดังนี้ ฯ

๓๔. ภิกษุเข้าไปในเจติยสถาน ควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ควรปฏิบัติอย่างนี้ คือ ไม่กั้นร่ม ไม่สวมรองเท้า ไม่ห่มคลุมเข้าไป ไม่แสดงอาการดูหมิ่นต่าง ๆ เช่น พูดเสียงดัง และนั่งเหยียดเท้า เป็นต้น ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และไม่ถ่มเขฬะ ในลานพระเจดีย์ ฯ

๓๕. ภิกษุพบพระเถระ ในเวลาเข้าบ้าน หรือเดินอยู่ตามทาง ควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ไม่ควรไหว้ ควรหลีกทาง ลุกรับ และให้อาสนะแก่ท่าน ฯ

๓๖. วัตร ๓ หรือ วตฺตสมฺปนฺโน  คืออะไรบ้าง ภิกษุเหยียบผ้าขาว อันเขาลาดไว้ในที่นิมนต์ ผิดวัตรข้อไหน มีโทษให้เกิดความเสียหายอย่างไร
ตอบ วัตร ๓ คือ กิจวัตร ๑, จริยาวัตร ๑ วิธีวัตร ๑ ฯผิดวัตรข้อจริยาวัตร ฯมีโทษให้เกิดความเสียหาย คือ เป็นการเสียมารยาทของพระ ไม่ระวังกิริยา ทำให้ผ้าขาวมีรอยเปื้อนสกปรกน่ารังเกียจ แม้ภิกษุพวกเดียวกันจะนั่ง ก็รังเกียจ ขยะแขยงเป็นที่ตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย และอาจถูกพุทธบริษัทติเตียน ฯ

๓๗. ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ไปสู่อาวาสอื่น พึงประพฤติให้ถูกขนบธรรมเนียม
อย่างไร
ตอบ พึงประพฤติ ดังนี้
๑. ทำความเคารพในท่าน
๒. แสดงความเกรงใจเจ้าของถิ่น
๓. แสดงอาการสุภาพ
๔. แสดงอาการสนิทสนมกับเจ้าของถิ่น
๕. ถ้าจะอยู่ที่นั่น ควรประพฤติให้ถูกธรรมเนียมเจ้าของถิ่น
๖. ถือเสนาสนะแล้ว อย่าดูดาย เอาใจใส่ ชำระ ปัดกวาด ให้หมดจด จัดตั้งเครื่องเสนาสนะ ให้เป็นระเบียบ ฯ

๓๘. ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลปสาทโก ผู้ยังตระกูล ให้เลื่อมใส” เพราะมีปฏิปทา อย่างไร

ตอบ เพราะมีปฏิปทาอย่างนี้ คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระ ไม่ทอดตนเป็นคนสนิท
ของสกุล โดยฐานเป็นคนเลว และอีกอย่างหนึ่ง ไม่รุกรานตัดรอนเขา แสดงเมตตาจิต
ต่อเขา ประพฤติพอดีพองาม ยังความเลื่อมใสนับถือของเขาให้เกิดในตน ฯ

๓๙. ดิถีที่กำหนดให้เข้าจำพรรษา ในบาลีกล่าวไว้เท่าไร อะไรบ้าง (๔๕)
ตอบ กล่าวไว้ ๒ คือ
๑. ปุริมิกา วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาต้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
๒. ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ฯ

๔๐. ภิกษุผู้เข้าไปรับบิณฑบาตในละแวกบ้าน พึงประพฤติให้ถูกธรรมเนียมเช่นไร
ตอบ พึงประพฤติอย่างนี้ ๑. นุ่งห่มให้เรียบร้อย
๒. ถือบาตรไว้ภายในจีวร
๓. สำรวมกิริยาให้เรียบร้อย
๔. กำหนดทางเข้าทางออกแห่งบ้าน
๕. รับบิณฑบาตด้วยอาการสำรวม ฯ

๔๑. การแสดงความเคารพ ได้แก่ กิริยาเช่นไร ภิกษุควรงดทำความเคารพกันใน
เวลาใดบ้าง จงตอบมา ๕ ข้อ
ตอบ การแสดงความเคารพ ได้แก่ การกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม ฯ
ภิกษุควรงดทำความเคารพกันในเวลาต่อไปนี้
๑. ในเวลาประพฤติวุฏฐานวิธี คือ อยู่กรรม เพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส
๒. ในเวลาถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
๓. ในเวลาเปลือยกาย
๔. ในเวลาเข้าบ้าน หรือเดินอยู่ตามทาง
๕. ในเวลาอยู่ในที่มืด แลไม่เห็นกัน
๖. ในเวลาที่ท่านไม่รู้
๗. ในเวลาขบฉันอาหาร
๘. ในเวลาถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ฯ

๔๒. อีก ๗ วัน จะถึงวันปวารณา ภิกษุทำสัตตาหกรณียะ ไปปวารณาที่วัดอื่น เธอจะได้รับอานิสงส์การจำพรรษาหรือไม่ เพราะเหตุไร
ตอบ ได้รับอานิสงส์ การจำพรรษาเหมือนกัน เพราะวันสุดท้ายแห่งวันจำพรรษา ตกอยู่ในวันที่ ๗ ในที่อื่นบ่งให้กลับใน ๗ วันนั้นเพราะยังไม่สิ้นกำหนดวันจำพรรษา ฯ

๔๓. สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร
ตอบ คือ อาบัติที่ภิกษุต้องเหมือนกัน เพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน ไม่สามารถปลงอาบัติกันเอง กับผู้ที่ล่วงสิกขาบทเดียวกันได้ ฯ

๔๔. การจำพรรษาของภิกษุมีวิธีอย่างไร จงอธิบายพอเข้าใจ  การอธิษฐานเข้าพรรษา กับการปวารณาออกพรรษา ทั้ง ๒ นี้ อย่างไหน กำหนดด้วยสงฆ์เท่าไร และกำหนดเขตอย่างไร  ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาไม่ขาด ย่อมได้อานิสงส์เท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ การจำพรรษานั้น ในบาลีกล่าวไว้เพียงให้ทำอาลัย คือ ผูกใจว่าจะอยู่ที่นี่ เป็นเวลา ๓ เดือน ปัจจุบัน มีธรรมเนียมที่ประชุมกัน กล่าวคำอธิษฐานพร้อมกันว่าอิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เราเข้าถึงฤดูฝนในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือนการอธิษฐานเข้าพรรษา ไม่เป็นสังฆกรรม จึงไม่กำหนดด้วยสงฆ์ แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอธิษฐานเข้าพรรษาพร้อม ๆ กัน จะอธิษฐานที่ไหนก็ได้ แต่ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาในที่ไม่สมควรเท่านั้น เช่น ในโพรงไม้ บนคาคบไม้ ในตุ่ม กระท่อมผี เป็นต้น ฯและให้กำหนดบริเวณอาวาสเป็นเขต ฯส่วนการปวารณาออกพรรษา เป็นสังฆกรรม กำหนดด้วยสงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ฯ
และกำหนดให้ทำภายในเขตสีมา ถ้าต่ำกว่า ๕ รูป ท่านให้ปวารณาเป็นการคณะ ถ้ารูปเดียว ให้อธิษฐานเป็นการบุคคล ฯภิกษุผู้ไม่ขาดพรรษา ย่อมได้อานิสงส์ ๕ คือ เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ๑, เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ ๑, ฉันคณโภชน์ และปรัมปรโภชน์ได้ ๑, เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๑, จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น จักเป็นของได้แก่พวกเธอ ๑ ฯ

๔๕. ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาตลอด ๔ เดือน ตลอดฤดูฝนนั้น เพราะเหตุไร
ตอบ เพราะต้องการเดือนท้ายฤดูฝนไว้เป็นจีวรกาล คราวแสวงหาจีวร คราวทำจีวร
เพื่อผลัดผ้าไตรจีวรเดิม ฯ

๔๖. กำลังสวดปาติโมกข์ค้างอยู่ หากมีภิกษุอื่นมาถึงเข้า จะปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ถ้าภิกษุผู้เข้ามาใหม่มากกว่า ภิกษุ ผู้ชุมนุมต้องสวดตั้งต้นใหม่ ถ้าเท่ากัน หรือ
น้อยกว่า ส่วนที่สวดไปแล้วก็ให้เป็นอันสวดแล้ว ให้เธอผู้มาใหม่ฟังส่วนที่ยังเหลือ
ต่อไป ฯ

๔๗. ปวารณา คืออะไร มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุเช่นไรทำปวารณาได้ และทำในวันไหน  วันปวารณา และอาการที่กระทำ คืออะไรบ้าง การตั้งญัตติในสังฆปวารณา มีกี่อย่าง อะไรบ้าง  ภิกษุจำพรรษา ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ รูปเมื่อถึงวันปวารณา พึงปฏิบัติอย่างไร  เหตุให้เลื่อนปวารณาได้ มีกี่อย่างอะไรบ้าง
ตอบ ปวารณา คือการบอกให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลาย สามารถตักเตือนว่ากล่าวตนได้มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ทำปวารณาแทนอุโบสถ ฯทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันเต็ม ๓ เดือนแต่วันจำพรรษา ฯวันปวารณา มี ๓ คือ จาตุททสี ที่ ๑๔ ค่ำ ๑, ปัณณรสี ที่ ๑๕ ค่ำ ๑, สามัคคี วันที่
ภิกษุสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ๑ ฯอาการที่กระทำ มี ๓ คือ ปวารณาต่อที่ประชุม ๑, ปวารณากันเอง ๑, อธิษฐานใจ ๑การตั้งญัตติในสังฆปวารณา มี ๕ อย่าง คือ เตวาจิกาญัตติ ๑, เทววาจิกาญัตติ ๑,เอกวาจิกาญัตติ ๑, สมานวัสสิกาญัตติ ๑, สัพพสังคาหิกาญัตติ ๑ ฯพึงปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุ ๑ รูป พึงอธิษฐานเป็นการบุคคล, ภิกษุ ๒, ๓, ๔ รูป พึงทำคณะปวารณา, ภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป พึงทำสังฆปวารณา ฯมี ๒ อย่าง คือ ภิกษุจะเข้ามาสมทบปวารณาด้วย ด้วยหมายจะคัดค้านผู้นั้นผู้นี้ ทำให้เกิดอธิกรณ์ขึ้น ๑, อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ปวารณาแล้ว ต่างจะจากกันจาริกไปเสีย ๑ ฯ

๔๘. ในการทำอุโบสถของภิกษุ การสวดปาติโมกข์ การบอกความบริสุทธิ์ และการอธิษฐาน ทรงให้ทำได้ในกรณีใด  คำบอกปาริสุทธิ ว่าอย่างไร
ตอบ ในกรณีที่มีภิกษุประชุมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ตรัสให้สวดปาติโมกข์, ถ้ามีเพียง ๓รูป ๒ รูป เรียกว่า คณะ ตรัสให้บอกความบริสุทธิ์ของตนแก่กันและกัน เรียกว่า คณอุโบสถ และปาริสุทธิอุโบสถ, ถ้ามีรูปเดียว เรียกว่า บุคคล ให้อธิษฐานใจ ว่า อชฺช เมอุโปสโถ จตุทฺทโส (ปณฺณรโส) คือ คิดว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ (๑๕ ค่ำ) ของเราเรียกว่า อธิษฐานอุโบสถ ฯสำหรับผู้แก่พรรษากว่า ว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า ๓ หนสำหรับผู้อ่อนพรรษากว่า ว่า “ปริสุทฺโธ อหํ ภนฺเต ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า ๓ หน ฯ

๔๙. ภิกษุ พึงประชุมกัน สวดพระปาติโมกข์ ในวันเช่นไรบ้าง
ตอบ ในวันพระจันทร์เพ็ญ (ดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ) วันพระจันทร์ดับ (ดิถี แรม ๑๕ ค่ำ หรือ๑๔ ค่ำ) และวันสามัคคี ฯ๕๐. ความรู้ในการทำเสน่ห์ให้ชายหญิงรักกัน จัดเป็นดิรัจฉานวิชาเพราะเหตุไร ติรัจฉานวิชาไม่ดีอย่างไร พระศาสดาจึงตรัสห้ามไว้ ไม่ให้บอกไม่ให้เรียน
ตอบ จัดเป็นดิรัจฉานวิชา เพราะเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมวินัยของภิกษุ ติรัจฉานวิชา คือ ความรู้อันเป็นเหตุขวางมรรคผลนิพพาน ไม่ดีเพราะเป็นเหตุให้บุคคลทั่วไปสงสัยว่า ลวง หรือหลง ไม่ใช่ความรู้จริงจัง ผู้บอกเป็นผู้ลวง ผู้เรียนก็เป็นผู้หัดเพื่อจะลวง หรือเป็นผู้หลงงมงาย ฉะนั้นพระศาสดาจึงตรัสห้ามไว้ ไม่ให้บอก ไม่ให้เรียน ฯ

๕๑. วินัยกรรม คืออะไร มีกี่อย่าง อะไรบ้าง การทำวินัยกรรม มีจำกัดบุคคลหรือสถานที่ไว้อย่างไรบ้าง คำว่า อธิษฐานในวินัยกรรม คืออะไร ผ้าสังฆาฏิผืนเดิมเก่าขาดใช้ไม่ได้ จะเปลี่ยนใหม่ พึงปฏิบัติอย่างไร
ตอบ วินัยกรรม คือ การทำกิจตามพระวินัย ฯมี ๓ อย่าง คือ การแสดงอาบัติ ๑, การอธิษฐาน ๑, การวิกัป ๑ ฯ
การทำวินัยกรรม มีจำกัดบุคคล หรือสถานที่ ดังนี้
๑. แสดงอาบัติ ต้องแสดงแก่ภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน
๒. อธิษฐาน ต้องทำเอง
๓. วิกัป ต้องทำแก่สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร
สามเณรี รูปใดรูปหนึ่ง ฯส่วนสถานที่ ห้ามไม่ให้ทำในที่มืด แต่ในที่นอกสีมา ก็ทำได้ ฯอธิษฐานในวินัยกรรม คือการตั้งบริขารที่ทรงอนุญาต สำหรับภิกษุเอาไว้ใช้ส่วนตัว ฯพึงทำพินทุผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ว่า อิมํ พินฺทุกปฺปํ กโรมิ เราทำหมายด้วยจุดนี้ แล้วปัจจุทธรณ์ คือยกเลิกผ้าสังฆาฏิเดิมว่า อิมํ สงฺฆาฏึ ปจฺจุทฺธรามิ เรายกเลิกผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ต่อจากนั้นอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ว่า อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ เราตั้งเอาไว้ซึ่งผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ฯ

๕๒. วินัยกรรม กับสังฆกรรม ต่างกันอย่างไร
ตอบ ต่างกันอย่างนี้ กรรมที่ภิกษุแต่ละรูปหรือหลายรูป จะพึงกระทำตามพระวินัยเช่น การแสดงอาบัติ อธิษฐาน วิกัป เป็นต้น เรียกว่า วินัยกรรม, กรรมที่ภิกษุครบองค์สงฆ์ จตุวรรค เป็นต้น พึงทำเป็นการสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม เป็นต้นเรียกว่า สังฆกรรม ฯ

๕๓. วิบัติของภิกษุ ในทางพระวินัย มีเท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ วิบัติของภิกษุ มี ๔ อย่าง คือ ความเสียแห่งศีล ชื่อว่า สีลวิบัติ ๑, ความเสียมารยาท ชื่อว่า อาจารวิบัติ ๑, ความเห็นผิดธรรม ผิดวินัย ชื่อว่า ทิฏฐิวิบัติ ๑, ความเสียแห่งการเลี้ยงชีพ ชื่อว่า อาชีววิบัติ ๑ ดังนี้ ฯ

๕๔. ยาวกาลิก กับยาวชีวิก ต่างกันอย่างไร
ตอบ ยาวกาลิก คือ ของที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร บริโภคได้ชั่วคราว คือตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ โภชนะ ๕ นมสด นมส้ม ของขบเคี้ยว เป็นต้นส่วนยาวชีวิก เป็นของที่ให้ประกอบเป็นยา บริโภคได้เสมอ ไม่จำกัดเวลา เมื่อมีเหตุจึงบริโภคได้ เช่น รากไม้ น้ำฝาด ใบไม้ ผลไม้ ยางไม้ เกลือ เป็นต้น ฯ

๕๕. สัตตาหกรณียะ และ สัตตาหกาลิก มีอธิบายไว้อย่างไร
ตอบ มีอธิบายไว้ว่า คือภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ไปแรมคืนที่อื่น ด้วยกิจจำเป็นบางอย่างแต่กลับมาภายใน ๗ วัน เรียกว่า ไปด้วยสัตตาหกรณียะ หรือ สัตตาหะ ฯสัตตาหกาลิก คือของที่รับประเคนแล้ว เก็บไว้บริโภคได้ ๗ วัน ฯ

๕๖. ภิกษุบิณฑบาตได้สับปะรดแล้ว นำมาฉันรวมกับน้ำตาลทราย และเกลือ ซึ่งรับประเคนไว้แล้ว ๒ วัน จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่ เพราะเหตุไร
ตอบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะน้ำตาลทรายเป็นสัตตาหกาลิก เกลือเป็นยาวชีวิกเมื่อนำมาฉันรวมกับสับปะรดซึ่งเป็นยาวกาลิก จึงมีคติเป็นยาวกาลิก ทำให้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันของเป็นสันนิธิ ฯ

๕๗. อโคจร คืออะไร มีอะไรบ้าง
ตอบ อโคจร คือ บุคคล หรือ สถานที่ ที่ภิกษุไม่ควรไปสู่ ฯหญิงแพศยา ๑, หญิงหม้าย ๑, สาวเทื้อ ๑, ภิกษุณี ๑, บัณเฑาะก์ ๑, ร้านสุรา ๑ ฯ

๕๘. ภัณฑะเช่นไร ที่จัดเป็นของสงฆ์ กำหนดไว้กี่ประเภท อะไรบ้าง บิณฑบาต กุฎีที่ดิน จีวร ประคดเอว และเสนาสนะ เป็นภัณฑะประเภทไหน
ตอบ ภัณฑะที่เขาถวายเป็นสาธารณะแก่หมู่ภิกษุ ไม่เฉพาะตัว หรือ ภัณฑะอันภิกษุรับก็ดี ปกครองหวงห้ามไว้ก็ดี ด้วยความเป็นสาธารณะ แก่หมู่ภิกษุ จัดเป็นของสงฆ์ฯกำหนดไว้ ๒ ประเภท คือ ครุภัณฑ์ ๑, ลหุภัณฑ์ ๑ ฯบิณฑบาต จีวร ประคดเอว จัดเป็นลหุภัณฑ์กุฎี ที่ดิน และเสนาสนะ จัดเป็นครุภัณฑ์ ฯ

๕๙. มหาปเทส คืออะไร น้ำตาลสด มิได้ทรงอนุญาตไว้โดยตรง ให้ภิกษุฉันได้เหมือนน้ำอ้อย แต่ฉันได้เพราะอะไร จงตอบให้มีหลัก
ตอบ มหาปเทส คือ ข้อสำหรับอ้างใหญ่ ฯแม้มิได้ทรงอนุญาตโดยตรงให้ภิกษุฉันได้ก็จริง แต่เพราะน้ำตาลสด เป็นของมีรสหวาน สำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกันกับรสหวานแห่งอ้อย ชื่อว่าเป็นของเข้ากันกับรสหวานแห่งอ้อย ดังมีระบุไว้ในมหาปเทส ๔ ข้อว่า สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดกันต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร ฯ

๖๐. อุททิสมังสะได้แก่เนื้อเช่นไร ภิกษุฉันเนื้องู เนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติอะไร
ตอบ อุททิสมังสะ ได้แก่เนื้อที่เป็นกัปปิยะโดยกำเนิด และเขาทำให้สุกแล้ว แต่เป็นของที่เขาฆ่า เพื่อทำเป็นอาหาร ถวายพระภิกษุโดยตรง ฯภิกษุฉันเนื้องู ต้องอาบัติทุกกฎ ฉันเนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ

๖๑. การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ เรียกว่าอะไร มีกี่อย่าง อะไรบ้าง
ตอบ เรียกว่า อุปปถกิริยา มี ๓ อย่าง คือ อนาจาร ความประพฤติไม่ดีไม่งาม ๑,
ปาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม ๑, อเนสนา ความเลี้ยงชีพไม่สมควร ๑ ฯ

๖๒. ความประพฤติต่อไปนี้ จัดเข้าในอุปปถกิริยาข้อไหน
๑. ชอบเล่นคะนอง ร้องรำทำเพลง
๒. ชอบด่าว่า เสียดสี เปรียบเปรยเขา ยุยงให้เขาแตกกัน
ตอบ ๑. จัดเข้าในข้ออนาจาร ความประพฤติไม่ดี ไม่งาม ฯ
๒. จัดเข้าในข้อบาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม ฯ

๖๓. ภิกษุไม่สังวรในอุปปถกิริยา จะพึงได้รับโทษอย่างไรบ้าง
ตอบ ปรับเป็นอาบัติทุกกฎ และเป็นฐานที่สงฆ์ จะพึงลงโทษ ๔ สถาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามโทษานุโทษ คือ
๑. ตัชชนียกรรม ตำหนิโทษ
๒. นิยสกรรม ถอดยศ คือ ถอดความเป็นใหญ่
๓. ปัพพาชนียกรรม ขับไล่จากวัด
๔. ปฏิสารณียกรรม ให้หวนระลึกถึงความผิด ฯ

๖๔. ในบาลี แสดงลักษณะการถือวิสาสะไว้อย่างไรบ้าง
ตอบ แสดงไว้อย่างนี้
๑. เป็นผู้เคยได้เห็นกันมา
๒. เป็นผู้เคยคบกันมา
๓. ได้พูดกันไว้
๔. ยังมีชีวิตอยู่
๕. รู้ว่าของนั้นเราถือเอาแล้ว เจ้าของจักพอใจ ฯ

๖๕. อเนสนาคืออะไร ภิกษุทำอเนสนา ต้องอาบัติอะไรบ้าง  การแสวงหาเช่นไร จัดเป็นโลกวัชชะ มีโทษทางโลก เช่นไรจัดเป็นปัณณัตติวัชชะ มีโทษทางพระบัญญัติ
ตอบ อเนสนา คือ กิริยาที่แสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร ฯภิกษุทำอเนสนา สามารถต้องอาบัติ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ และทุกกฎแล้วแต่มูลความผิด ฯการแสวงหาในทางบาป เช่น ทำโจรกรรม และหลอกลวงให้เขาเชื่อถือ และในทางที่โลกเขาดูหมิ่น จัดเป็นโลกวัชชะ ฯการแสวงหาในทางผิดธรรมเนียมภิกษุ แม้ไม่มีโทษแก่คนพวกอื่น จัดเป็นปัณณัตติวัชชะ ฯimages9

อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมานุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต.
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน
สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง.(พุทฺธ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๖.
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.
คนมีปัญญาดี ไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อ
ผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้ง (คนโง่) เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งม้าไม่มีกำลังไปฉะนั้น.
(พุทฺธ) ขุ. ธ. ๒๕/๑๘,๑๙.
โลโภ โทโส จ โมโห จ ปุริสํ ปาปเจตสํ
หึสนฺติ อตฺตสมฺภูตา ตจสารํว สมฺผลํ.
โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว
ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น
(พุทฺธ) ขุ. อิติ. ๒๕/๒๖๔. ขุ. มหา. ๒๙/๑๘.
นิทฺทํ น พหุลีกเรยฺย ชาคริยํ ภเชยฺย อาตาปี
ตนฺทึ มายํ หสฺสํ ขิฑฺฑํ เมถุนํ วิปฺปชเห สวิภูสํ.
ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงเสพธรรมเครื่องตื่น พึงละความเกียจคร้าน
มายา ความร่าเริง การเล่น และเมถุน พร้อมทั้งเครื่องประดับเสีย.
(พุทฺธ) ขุ. สุ. ๒๕/๕๑๕. ขุ. มหา. ๒๙/๔๕๗,๔๖๐.

06 กันยายน 2554

ธรรมที่ไม่ต้องทดลองทำby Dhammasarokikku

สืบเนื่องมาจากเอ็นทรี่ก่อนครับ มีการยกตัวอย่างถึงปฏิปทาบางอย่างในพระไตรปิฎกเรื่องพระโปฐิละ หรือเถรใบลานเปล่า แล้วมีคนเข้าใจว่า การหลับหูหลับตาทำตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนนั่นเป็นปฏิปทาที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ถูกต้องครับ แต่ไม่เสมอไป ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีข้อยกเว้น

ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ของผู้ที่หลับหูหลับตาเชื่อฟังครูบาอาจารย์แล้วได้เลว ก็มีในพระไตรปิฎกเช่นกัน คือเรื่องขององคุลีมาลเถระ ท่านแม่มโคตรเซียนครับ ไปเรียน ป.เอก วิชาศิลปศาสตร์ในสำนักตักกศิลา หากเทียบเป็นปัจจุบันก็คงเรียนจบฮาร์เวิร์ดผสมอ็อกฟอร์ด แล้วตบท้ายด้วย MIT นั่นละครับ หัวดีมั่ก ๆ ครูบาอาจารย์ก็รักใคร่ ครั้นแล้ววิบากไม่เข้าใครออกใครครับ ขนาดพ่อตั้งชื่อให้เป็นกุศลเพียงใด (ชื่ออหิงสกะ แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน) สุดท้ายอาจารย์ทิศาปาโมกข์เองนั่นแล ถูกศิษย์ร่วมสำนักที่อิจฉาอหิงสกะ เป่าหูเสียจนเข้าใจว่า อหิงสกะปองร้ายตน เลยสอนอหิงสกะว่า หากต้องการสำเร็จวิชาซุปเปอร์ไซย่าสาม ต้องไปฆ่าคนมา ๑,๐๐๐ คน เฮียแกหลงเชื่อก็ไล่ฆ่าดะ ฆ่ามากเข้าก็งง จำไม่ได้ว่า ฆ่าไปกี่คนแล้ว เลยใช้วิธีหั่นนิ้วศพมาทำเป็นมาลัยคล้องคอจักได้ทราบว่า ฆ่าไปกี่คนแล้ว เลยเป็นที่มาของฉายา "องคุลิมาล" ผู้เอานิ้วมาร้อยเป็นมาลัย ภายหลังได้พบพระพุทธองค์ และได้บรรลุธรรม ตามที่คงทราบกันอยู่แล้ว

ภาพประกอบจาก : http://www.galaxzydvd.com

ในกาลามสูตรพระองค์ก็แสดงว่า อย่าเชื่อกระไรง่าย ๆ ๑๐ ประการ ก็แล้วไฉนในเรื่องของพระโปฐิละกลับเชื่อปฏิบัติตามอย่างไม่ต้องพินิจพิจารณา แล้วได้ดี ตกลงเอาอย่างไรแน่? พระไตรปิฎกขัดกันเองหรือเปล่า?

ขออ้างถึงเม้นท์ในเอ็นทรี่ก่อนสักหน่อย... ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงต้องการแสดงปฏิปทาของพระสารีบุตร จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามพระสารีบุตรว่า "สารีปุตตะ ดูก่อน สารีบุตร เธอเชื่อสิ่งที่ตถาคตแสดงหรือ?"
พระสารีบุตรทูลตอบว่า "ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า"
เหล่าภิกษุปุถุชนอึงมี่ขึ้นด้วยเข้าใจว่า พระอัครสาวกเบื้องขวาชักจะยังไงเสียแล้ว ได้รับการแต่งตั้งจนสูงส่งแล้วคิดทำตัวกระด้างกระเดื่องไม่เชื่อฟังพระบรมศาสดาเสียแล้วหรือนี่?
สมเด็จพระชินสีห์ศากยมุนีจึงทรงปรารภว่า "ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ลองฟังพระสารีบุตรดูก่อนว่า เธอคิดอย่างไร สารีปุตตะ ดูก่อน สารีบุตร เธอคิดอย่างไรจึงไม่เชื่อ"
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรทูลตอบว่า "ข้าพระพุทธเจ้าต้องขอลองนำไปปฏิบัติดูก่อน เมื่อการปฏิบัติมีผลแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าถึงเชื่อ พระพุทธเจ้าข้า"
พระบรมศาสดาทรงยกพระหัตถ์ "สาธุ ๆ ดีแล้ว ๆ ขอภิกษุทั้งหลายจงดูไว้เป็นแบบอย่าง การน้อมใจเชื่อบุคคลที่ควรเชื่อ ที่ชื่อว่า อธิโมกข์ศรัทธานั้นก็มีดีอยู่ แต่เราตถาคตสรรเสริญการเชื่อด้วยได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองแล้ว ยิ่งกว่า"
เห็นได้ชัดว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสรรเสริญการเชื่อโดยปราศจากการพิจารณา และทดลองทำ
ปัญหาคือปัจจุบันผู้คนมักคิด ๆ เอา นึก ๆ เอา จินตนาการเอา แล้วก็คาดเดาว่า มันคงเป็นเช่นนั้น มันคงเป็นเช่นนี้ โดยมิได้ทดลองทำด้วยตนเอง ไปฟังไปอ่าน "เขาว่ามา" แล้วก็มาถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดเอาเป็นเอาตาย เป็นกูรูกันอยู่หน้าจอคอมฯนั่นเอง
หลักเหตุผลนั้นก็ใช้ได้อยู่ แต่ไม่ทุกกรณี บางอย่างก็อยู่นอกเหตุเหนือผล บางอย่างต้องอธิบายเสียปีหนึ่งกว่าจักเข้าใจ แต่หากลงมือทำเพียง ๑๕ นาทีก็เข้าใจแล้ว จึงว่า บางอย่างเป็น "ปัจจัตตัง วิญญูหีติ" วิญญูชน หรือผู้ปฏิบัติพึงรู้เฉพาะตน พึงทราบด้วยตนเอง

ดังนี้ก็อาจสรุปได้ว่า พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการใคร่ครวญพินิจพิจารณา และการลงมือทดลองทำ แล้วกรณีพระโปฐิละเล่า ยังไงดี? จากการศึกษาปฏิปทาของครูบาอาจารย์หลายท่าน เวลาไปขอเป็นลูกศิษย์ หรือขอกรรมฐาน ก็ต้องทำอย่างพระโปฐิละนี่ละครับ คือช่วงที่ศึกษาหาข้อเท็จจริง (เกี่ยวกับตัวอาจารย์ที่ตั้งใจจักไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และธรรมะของท่าน) ก็สมควรใช้ปฏิปทาแบบพระสารีบุตร คือรับข้อมูลมาแล้วทดลองปฏิบัติด้วยตนเองก่อน แล้วจึงเชื่อ ครั้นเมื่อพิสูจน์จนหนำใจแล้ว เชื่อมั่นคงแล้ว ศรัทธาแก่กล้าแล้ว ถึงเวลาปฏิบัติเพื่อมรรค ผล นิพพาน มิใช่มัวนั่งสงสัยนู่นสงสัยนี่อยู่ ในการปฏิบัติ ความสงสัยกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความดีตัวสำคัญชื่อว่านิวรณ์ ๕ มีวิจิกิจฉา ความลังเลสังสัยในผลของการปฏิบัติ เป็นต้น

ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์บารมีเต็มบอกลูกศิษย์ว่า "ถ้าจะเรียนกับฉัน ต้องเรียนแบบคนโง่นะ" กล่าวคือ ไม่ต้องสงสัยกระไรให้มากความ สั่งอย่างไร สอนอย่างไร ทำอย่างนั้น เมื่อถึงขีดจำกัดของมัน ผลจักเกิดเอง หากเรียนแบบคนฉลาดเกิน สงสัยลังเลไปทุกเรื่อง เอ๊ะ... อาจารย์สอนให้เราทำอย่างนี้ทำไม? เพื่อกระไร? เอ๊ะ... ทำไมปฏิบัติตั้งนานแล้ว ไม่เห็นมีผลกระไร? การปฏิบัติมีผลจริงเหรอ? ฯลฯ อย่างนี้ก็คงเอาดีกระไรมิได้

อีกประการหนึ่งครับ การที่ครูบาอาจารย์จักยอมรับใครสักคนเป็นลูกศิษย์ นั่นหมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้น เป็นการให้เปล่าโดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน ต้องทุ่มเทสั่งสอน ดูแลกันแทบ ๒๔ ชั่วโมง ต้องยอมเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ครูบาอาจารย์ที่ดีจึงไม่ค่อยรับลูกศิษย์ง่าย ๆ หากจักรับก็มักเป็นดั่งวลีที่ใช้สมาทานพระกรรมฐาน "ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า..." การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องเอาชีวิตเข้าแลกครับ จักมัวมาลังเลสงสัยไม่ได้เลย

ธรรมที่ไม่ต้องทดลองทำ

และแม้พระพุทธองค์จักทรงสรรเสริญปฏิปทาการพิสูจน์ทราบแบบพระสารีบุตร กระนั้นก็มีข้อยกเว้นอีกครับ ธรรมบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องทดลองทำ เพราะผลของมันรุนแรงจนยากจักแก้ไข เช่นการทดลองตกนรก อันนี้ไม่ต้องทดลองก็ได้ครับ คนเรามีปกติลงที่ต่ำอยู่แล้ว ไม่ต้องพยายามลง มันก็ทำท่าจักลงอยู่แล้ว ไปดูหนังเศร้า ๆ แล้วเศร้าตามหนัง นั่นท่านทดลองไปใช้ชีวิตในอบายเรียบร้อยแล้ว (เกิดหัวใจวายปัจจุบันทันด่วนในโรงหนัง ก็ไปอบายเลยครับ) ไม่ต้องลงไปจริงดอก เพราะนรกขุมตื้นที่สุดนี่มีอายุ ๙ ล้านปี ลึกสุดอายุกัปหนึ่ง (กัปปัจจุบันเรียก "ภัทรกัป" เพราะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๕ พระองค์ นั่นหมายความว่า ตกนรกลึกสุดไปทีพระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว ๕ พระองค์ บางทีก็ยังไม่ขึ้นมา) หรืออย่างอนันตริยกรรม ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ไม่ต้องทดลองทำก็ได้ครับ คิดพิจารณาใคร่ครวญเอาก็พอ (ซึ่งเจ้าของคอมเม้นท์ก็อาจจักสงสัยอีกว่า แล้วทำไมเรื่องอื่นต้องทดลองทำเอง คิดพิจารณาเอาก็พอ มิได้หรือ? มีอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่าเรื่องใดควรทดลองทำเอง เรื่องใดพิจารณาเอาก็พอ หลักคร่าว ๆ คือ สิ่งที่ทดลองทำได้ คือสิ่งที่ไม่เป็นโทษจนเกินไป ไม่เป็นโทษที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แต่ในคอมเม้นท์นี่ เขียนเป็นอีกอย่างได้ว่า 'พระไม่เคยลองอาบัติปาราชิก แล้วทราบได้อย่างไรว่า อาบัติปาราชิกไม่ดี แล้วมีสิทธิอะไรไปห้ามผู้อื่นทั้งที่ยังไม่ได้ลอง' เจ้าของคอมเม้นท์ต้องกลับไปศึกษาใหม่ให้ดีครับ กระทั่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคยังตรัสว่า 'อักขาตาโร ตถาคตา' ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ข้าพเจ้าเป็นเพียงลูกของพระองค์จักไปทำเกินพระองค์บังคับใครได้ ศีลนี่เป็น "ข้อควรเว้น" เป็นคำแนะนำมิใช่ "ข้อห้าม" ครับ และอาบัติปาราชิกนี่ก็เทียบเท่าการบอกให้ไปตาย ตายจากผ้าเหลือง หมดความเป็นพระอย่างไม่มีทางแก้ไข บวชอีกก็ไม่เป็นพระ เสียเปล่าไป ๑ ชาติ ชาติต่อไปต้องไปใช้กรรมในนรก โทษมากขนาดนี้คงคิดได้เองว่า สมควรทดลองทำหรือไม่ครับ เรื่องวิพากษ์วิจารณ์ อุปมาเหมือนนักวิจารณ์รถครับ หากนักวิจารณ์ได้แต่จด ๆ จ้อง ๆ ดูรถอยู่แต่ภายนอก ก็วิจารณ์ได้แค่รูปร่างสวย เครื่องยนต์น่าจักแรง เบรคน่าจักดี เข้าโค้งคงเกาะหนึบ มีแต่การคาดการณ์ทั้งสิ้น ไม่สามารถวิจารณ์ได้อย่างน่าเชื่อถือหนักแน่นมั่นคงว่า เครื่องยนต์แรง อัตราเร่งดี เบรคเป็นเยี่ยม เข้าโค้งเป็นยอด เพราะยังไม่ได้ลองขับ การวิจารณ์เรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน มัวแต่จด ๆ จ้อง ๆ อยู่ภายนอก แล้วก็มาวิจารณ์ได้เป็นคุ้งเป็นแคว นี่ละครับ กูรูหน้าคอมฯที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง)

เรื่องนี้ขอพาดพิงไปอีกเรื่อง สมัยที่ออกข่าวใหม่ ๆ มีคนอยากให้วิจารณ์นานแล้วคือเรื่องของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ศาสดาโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คเฟสบุ๊คอันแสนโด่งดังที่ทดลองฆ่าสัตว์ที่ตัวเองกิน ด้วยมือของตัวเองเท่านั้น บ้างก็เห็นด้วยในความคิดอันแสนครีเอท บวกกับคนรวยทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด (ชาวเขาก็ฆ่าสัตว์ที่ตัวเองกินแทบทุกตัวเหมือนกัน ไม่เห็นเป็นข่่าว) บ้างก็ไม่เห็นด้วยว่าเป็นบาป รวยแทบตายสุดท้ายตกนรกแน่นอน

ภาพประกอบจาก : http://news.sanook.com

เอาประเด็นของผู้ที่เห็นด้วยก่อน สอบถามจากผู้ที่ไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกามา ๗ ปี เขาค่อนข้างเห็นด้วยครับ เพราะคนอเมริกันนี่ แทบไม่เคยได้เห็นสัตว์ที่ถูกฆ่าเลย เห็นแต่มันมาเป็นแพ็ค ๆ เนื้อเป็นชิ้น ๆ แปรรูปมาเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น ทำให้ขาดสำนึก หรือตระหนักถึงสัตว์ที่ถูกฆ่าเพราะเราชอบกินเนื้อสัตว์ ผู้ที่เห็นด้วยก็ออกมาให้ความเห็นว่า การที่เราเลี่ยงไปซื้อเนื้อสัตว์ที่แปรรูปแล้ว มันก็เหมือนยืมมือคนอื่นฆ่านั่นแล ไม่ต่างจากลงมือฆ่าเอง

พูดเรื่องนี้คงต้องมาทำความเข้าใจกับศีล ๕ กันก่อน

ในฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการ (คิดใคร่ครวญอย่างแยบคาย) อยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการอยู่หารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่

ศีล แปลว่า "ปกติ" ครับ แสดงว่า ผู้มีศีล ๕ คือผู้ที่มีปกติไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์

ปาณาติปาตาเวรมณี มิใช่ไม่ฆ่าสัตว์ ไปอยู่ถ้ำ กินแต่พืช หรืออยู่เฉย ๆ ก็รักษาศีลข้อนี้ได้ แต่ต้องมี "เจตนา" เว้นจากการฆ่าสัตว์ ต่างหาก ทำนองแม้มีโอกาสฆ่า หรือฆ่าได้ ก็ไม่ฆ่า (สัตว์เดรัจฉานส่วนใหญ่เลยรักษาศีลไม่ได้ เพราะไม่มีเจตนา "เว้น")

มามนสิการอ่านข้อความในพระสูตรกันอีกครั้ง

"ศีลพึงทราบด้วยการอยู่ร่วมกัน"

ทำไมหนอถึงทราบด้วยการอยู่ร่วมกัน????? ติ๊กต่อก ๆ ๆ ๆ คิดสิคิดสิคิดสิคิด...

ปิ๊งป่อง!!! จากการพินิจคิดใคร่ครวญอยู่เป็นเวลานาน พบว่า วัตถุประสงค์ของศีลคือการไม่เบียดเบียนกันในสังคมนั่นเอง ฉะนั้นจึงมีคำพูดที่ว่า "หากเราทุกคนในสังคมรักษาศีล ๕ แล้วไซร้ สังคมจักสงบสุข"

ศีลจึงเป็นเรื่องของการนึกถึงผู้อื่นก่อนตัวเอง อีกนัยหนึ่ง ก็คือพรหมวิหาร ๔ นั่นเอง พรหมวิหาร ๔ คือกระไร? คือ เมตตา-ความรัก รักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง อยากให้ผู้อื่นมีความสุขเหมือนตัวเอง กรุณา-ความสงสาร เห็นผู้อื่นกำลังประสบทุกข์ อยากให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ที่ยังประสบอยู่ มุทิตา-ความพลอยยินดี เห็นผู้อื่นได้ดี ก็ยินดีด้วย อุเบกขา-เมื่อผู้อื่นประสบทุกข์แล้วเราไม่อาจช่วยได้ ก็ต้องปล่อยวาง ระลึกไว้ว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ครูบาอาจารย์กล่าวไว้เลยครับ เมื่อมีพรหมวิหารอยู่ประจำจิต ศีลก็บริสุทธิ์เอง มาดแม้นไม่มีพรหมวิหารประจำใจ หาไฉนจักมีศีลได้

ผู้ที่เคยรักษาศีล ๕ เท่านั้นครับ ถึงจักมาเกิดเป็นคนได้ การมาเกิดเป็นมนุษย์ถึงยากนักหนา

ความเข้าใจในศีลนี้จักพาให้พลอยหมดข้อถกเถียงกันไปด้วย อย่างทั่นมาร์คนี่ก็เห็นได้ชัดเลยว่า ล่วงศีล เพราะแม้มีโอกาสไม่ฆ่า เขาก็เต็มใจจะฆ่าเอง

ตกนรกไหม?

pharmalai_01_1ยังไม่แน่ครับ

มาดูเหตผลซัพพอร์ตการฆ่าของเขา เขาว่า เขาฆ่าเพื่อให้ไม่ละเลยต่อสำนึกที่ว่า เราเอาเนื้อของเขามากิน ทุกครั้งที่เรากินเนื้อสัตว์ คือเรากำลังเบียดเบียนชีวิตสัตว์อยู่ และเขาก็ทำอย่างนั้นได้จริง ๆ มีรายงานว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ของเขาลดลงอย่างมาก

ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็ออกความเห็นว่า เรื่องการทำบาปเช่นนี้ ไม่เห็นต้องลงมือทำเองเลย วีดีโอบนยูตูบหรือสารคดีก็สามารถหาซื้อมาดูได้ไม่ยากเย็น แค่เห็นภาพเนื้อเลือดแหวะ ๆ ก็กินไม่ลงแล้ว ทำไมต้องลงมือทำเรื่องโหดร้ายอย่างการฆ่าสัตว์ด้วย รนหานรกชัด ๆ ส่วนผู้ที่เห็นด้วย ก็ออกความเห็นว่า พวกที่ไม่ลงมือฆ่า แต่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ อย่ามาซึนเดเระ ยืมมือคนอื่นฆ่า มันก็บาปไม่ต่างกัน (แล้วยังมีความเห็นที่ว่า ฆ่าเพื่อกินบาปน้อยกว่าฆ่าเพื่อความสนุกสนาน อันนี้ก็มีส่วนจริงอยู่ แต่ไม่ควรนำมาเพิ่มประเด็นในการถกเถียงกัน จักสับสนไปกันใหญ่ หากฆ่าเพื่อกิน "ด้วยความจำเป็น" คือมิได้เต็มใจฆ่า ไม่สนุกไปกับการทำบาป อย่างนั้นบาปน้อยกว่าการฆ่าเพื่อความสนุกสนาน แต่ชื่อว่า "ฆ่า" แล้วไซร้ อย่างไรก็บาป)

ที่ไม่ต่างกันคือสัตว์หน่ะตายแน่ ๆ แต่บาปจักไปตกกับใครมากกว่าระหว่างคนฆ่ากับคนกิน

สาวลึกลงไปในศีลข้อปาณาติบาตครับ ท่านว่า จักล่วงศีลข้อนี้ได้ต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง ๕ ได้แก่ (๑)สัตว์มีชีวิต (๒)รู้ว่าสัตว์มีชีวิต (๓)มีจิตคิดจะฆ่า (๔)พยายามฆ่า (๕)สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ผู้ที่กินเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ลงมือฆ่าเอง จึงทำบาปข้อนี้ได้ไม่ครบองค์ คือไม่มีจิตคิดฆ่า ไม่ได้พยายามฆ่า และสัตว์ไม่ได้ตายด้วยความพยายามใดใด ส่วนทั่นมาร์คซัดไปเต็ม ๆ ทั้ง ๕ ข้อ

ลองวางทฤษฎีแล้วมาลองคิดตามตรรกะดูบ้าง ว่าใครบาป ใครไม่บาป บาปแค่ไหน ดูที่ความเศร้าหมองของจิตครับ ระหว่างคนนั่งกินแกงมัสมั่นเนื้อที่ร้านข้าวแกง กับคนที่ลงมือฆ่าวัว เพื่อเอาเนื้อมาทำแกงมัสมั่นกิน ใครจิตเศร้าหมองมากกว่ากัน

คงเคยได้ยินมาบ่อย ๆ เวลาวัวถูกนำขึ้นรถไปโรงฆ่าสัตว์ มันจักมีน้ำตาไหล เหมือนรู้ชะตากรรมตัวเอง ก็แล้วเราเป็นคนลงมือฆ่า แม้จักฆ่าด้วยเจตนาว่า จักได้ไม่ต้องกินเนื้อสัตว์ต่อไป แต่วินาทีที่ลงมือฆ่า ก็ต้องมีเจตนาทำให้ชีวิตเขาดับสูญ จริงไม่จริง? มันโหดร้ายไหมนั่น?

ลองเทียบเอากับพระวินัยครับ ทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ (๑) ไม่ได้เห็น (๒)ไม่ได้ฟัง (๓)ไม่ได้นึกรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อให้ตนบริโภค เรื่องนี้ปรากฏในคัมภีร์พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ เล่ม ๕ พิเคราะห์แล้วก็เห็นได้ชัดครับว่า พระพุทธองค์บัญญัติศีลไว้เพื่อความเป็นผู้เลี้ยงง่ายของภิกษุ (อีกนัยหนึ่งคือไม่เบียดเบียนโยมจนเกินไป) คฤหัสถ์จักนำสิ่งใดที่ถูกทำนองคลองธรรมมาถวายก็ให้ฉันอย่างนั้น แล้วเว้นบางอย่างไว้เพื่อความปลอดกังวลของภิกษุ

ครูบาอาจารย์สมัยปัจจุบันก็ให้ทัศนคติเรื่องนี้ไว้ครับว่า ใครจักเห็นว่า นี่เป็นเนื้อสัตว์ แต่ท่านเห็นเป็น "อาหาร" ตามบทพิจารณาอาหารก่อนบริโภคว่า ฉันเพียงเพื่อบรรเทาเวทนา และยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อประพฤติพรหมจรรย์เจริญสมณธรรม และหากจักเอาแนวคิดแบบสุดโต่งที่ชอบพูดกัน ท่านก็ว่า แล้วแมลงที่ต้องตายเพราะยาฆ่าแมลงด้วยการปลูกผักมาให้เรากินหล่ะ? อย่างนั้นไม่นับเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือ? อย่างนั้นยืมมือคนอื่นฆ่าหรือเปล่า? (ซึ่งก็อาจต่อประเด็นไปอีกไม่รู้จบว่า แมลงเป็นสัตว์หรือ? การฆ่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ต่างกันหรือไม่? ซึ่งเริ่มออกทะเล)

pharmalai_07_1แล้วตกลงทั่นมาร์คนี่ตกนรกแน่ใช่ไหม?

ยังไม่แน่ครับ มันขึ้นกับจิตสุดท้ายตอนจิตออกจากร่างว่า มันเศร้าหมองหรือไม่ ตามพระบาลีว่า จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา และจิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า หากจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ และหากจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้

ซึ่งโดยทั่วไป คนที่ฆ่าสัตว์ เวลาใกล้ตายจักมีนิมิตของสัตว์ที่เคยฆ่ามาให้เห็น หากจิตจับการฆ่านั้น วับ!!! ไปอบายเลย แต่ถ้าเป็นคนมีปกติทำกุศล เวลาใกล้ตายจิตไม่จับอกุศล อย่างนี้ก็ไม่ตกนรก เห็นได้ชัดว่า จิตจักจับกระไรนั้น มันขึ้นกับ "ความประทับใจจอร์จ" ถ้าบาปหนึ่ง ๆ ทำให้เราประทับใจมากจนไม่อาจลืม เช่นการฆ่าคน ทำบุญทำกุศลกระไรอย่างไรก็ไม่ลืม อย่างนั้นหวังนรกได้เลยครับ ที่นี้ถ้าไปสงสัยแทนทั่นมาร์คว่า ทั่นจักไปไหน ก็ต้องไปนั่งในใจทั่น ทราบให้ได้ว่า ทั่นประทับใจจอร์จการฆ่าสัตว์เพียงไร

สรุปว่า การฆ่าสัตว์หรือการทำบาปทั้งปวงนั้น เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงครับ ควรทำตามโอวาทปาติโมกข์ ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม และรักษาจิตให้ผ่องแผ้ว ไม่ควรไปทดลองตกนรก ธรรมบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องลอง

มาดูเรื่องของคนกินมังสวิรัติกันบ้าง

มักได้รับเหตุผลอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า ฆ่าเองกับยืมมือคนอื่นฆ่า ก็ไม่ต่างกัน มันต่างกันแน่นอนครับ ตามเหตุผลที่เขียนไปแล้ว แล้วการกินมังสวิรัติ ไม่มีผลเลยหรือ? ในพระพุทธศาสนานิยามการปฏิบัติแบบนี้ว่าอย่างไร? เรื่องนี้ก็ยังคงวนอยู่เรื่องเดิมละครับ คือเรื่องของศีล ๕ บอกแล้วว่า ศีลมิใช่เรื่องเล็กน้อย ต้องมนสิการอยู่จึงเข้าใจ การกินมังสวิรัตินี้เป็นเรื่องของกำลังใจในการรักษาศีลครับ มี ๓ ระดับคือ ขั้นต้นไม่ล่วงศีลด้วยตนเอง ขั้นกลางไม่แนะนำให้ผู้อื่นล่วงศีล และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วงศีลแล้ว อันเป็นกำลังใจการรักษาศีลขั้นปรมัตถ์

การกินมังสวิรัติโดยมีเจตนาไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ (มิใช่เพื่อสนองอัตตาตัวตนว่า กรูดีกว่าคนอื่น อย่างนั้นไม่เอาห่วยครับ) เป็นการรักษาศีลขั้นปรมัตถ์ครับ คือ "ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วงศีลแล้ว" ความเข้าใจตรงนี้สามารถนำไปแอ็พพลายใช้กับข้อสงสัยในการรักษาศีลข้ออื่นได้ ด้วย เช่น การซื้อของละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการทุศีลข้ออทินนาทานหรือไม่? มีผู้ที่ข้าพเจ้าให้ความเชื่อถือวินิจฉัยไว้ครับว่า ไม่ผิดศีล (คงหมายถึงศีลขั้นต้น) กล่าวคือเราไม่ได้ไปขโมยสินค้านี้มาจากคนขาย คนที่ล่วงศีลคือคนที่ไปก๊อปต้นฉบับคนแรกแล้วเอามาขาย อ่านดูก็ถูกต้องตามหลักเหตุผลใช่ไหมครับ แต่ก็ยังรู้สึกแหม่ง ๆ อยู่ ครั้นเราเอาเรื่องกำลังใจในการรักษาศีลมาจับ ก็ชัดเจนเลยว่า ยังไม่ถึงขั้น "ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วงศีลแล้ว" คือยังยินดีที่เขาไปละเมิดลิขสิทธิ์มาขายเรา อย่างนี้เป็นต้น

เห็นไหมครับว่าแค่เรื่องศีล ๕ อย่างเดียวมันละเอียดขนาดไหน? ที่ท่านว่า ศีล ๕ รักษาดี ๆ ก็ไปนิพพานได้ ไม่ผิดเลย

เรื่องของศีลผ่านไป มาดูเรื่องกฎหมายกันมั่ง อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า ศีลเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนกันในสังคม ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ใกล้เคียงกับกฎหมายที่ใช้รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้นแม้ไม่ผิดศีลขั้นต้น แต่ดันไปผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถทำให้มีคนเดือดร้อนอีกหลายฝ่าย เช่น เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องไปบังคับให้เจ้าพนักงานกวาดล้าง เจ้าพนักงานต้องปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ฯลฯ มันเลยกลายเป็นทุศีลแบบอ้อม ๆ

เมื่อไม่นานมานี้พบรุ่นพี่คนหนึ่งบน FB ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง การปรามาสภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสามารถพาให้ลงนรกได้จริง เตือนก็ไม่เชื่อ กลับตอบมาทำนอง "อย่ามาเ-ือกเรื่องของกรู" ด้วยบริบทแบบนุ่มนวลว่า "ไม่เป็นไรครับหลวงพี่ ทำเองก็เจ็บเองเป็นบทเรียน" แม้จักยกตัวอย่างให้สมจริงเพียงใดก็ตาม ดูเหตุการณ์แล้วก็ปล่อยไป เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว

เวลาคนเราไม่มีศีล อะไร้อะไร้มันก็มัว ๆ ไปหมด กระไรที่เขาว่า ดี ๆ ก็เห็นเป็นเรื่องโบร่ำโบราณคร่ำครึงมงาย การจักแหวกความมัวของมิจฉาทิฏฐิออกมาได้ มิใช่เรื่องง่าย ทั้งรุ่นพี่คนนี้ยังเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย การแพร่กระจายแนวคิดความเห็นผิดเหล่านี้ออกไปเป็นวงกว้างผ่านทางเฟสบุ๊ค ก็ยิ่งทำให้เขามัวมากขึ้น ออกจากมิจฉาทิฏฐิได้ยากขึ้น บางทีอาจต้องลองลงนรกดูสักคราว แล้วคงระลึกกระไรขึ้นได้บ้าง

การทำงานของนรกนั้น นอกจากมีแต่ความทรมานอย่างที่รู้ ๆ กัน และเราเป็นผู้สร้างนรกขึ้นเองแล้ว อเมซซิ่งยิ่งกว่านั้น (ที่คนไม่ค่อยรู้กัน) คือ วิธีพ้นจากนรกครับ ในคิริมานนทสูตรกล่าวถึงวิธีพ้นนรกไว้ว่า "อันทุกข์ในนรกนั้น จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ก็ตกนรกเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักนรกก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ ถึงจะทำบุญให้ทานสักปานใดก็ไม่อาจพ้นจากนรกได้ แต่มิใช่ว่าทำบุญให้ทานไม่ได้บุญ ความสุขที่ได้แต่การทำบุญนั้นมีอยู่ แต่ว่าเป็นความสุขที่ยังไม่พ้นจากทุกข์ในนรก เมื่อยังไม่รู้ไม่เห็นนรกตราบใด ก็ยังไม่พ้น จากนรกอยู่ตราบนั้น ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้วปรารถนาจะพ้นจากนรกก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่านรกอยู่ในที่นั้น ๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้น ๆ และควรรู้จักทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นก็คือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์นั่นเอง เมื่อรู้แล้วอยากจะออก ให้พ้นก็ออกได้ ไม่อยากจะออกให้พ้นก็พ้นไม่ได้ ผู้ที่รู้กับผู้ที่ไม่รู้ย่อมได้รับทุกข์ในนรกเหมือนกัน ส่วนความสุขในมนุษย์สวรรค์และพระนิพพานนั้นต้องรู้จึงจะได้"

จากพระสูตรนี้เอง อนุมานได้ว่า คนเราที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ใช้ชีวิตอยู่ในนรกตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่นี่แล แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่า นี่เป็นนรก ยังสนุกสนานไปกับการทำบาป ล่วงอกุศลกรรมบถ ไม่เห็นโทษของมัน ก็เลยไม่รู้สึกต้องการพ้นจากนรก ไม่รู้จักนรก และไม่รู้จักวิธีพ้นจากนรก

ย้อนดูตัวเอง นี่เราเดินมาไกลแค่ไหนแล้วนะกว่าจักมาถึงจุดนี้ ผ่านการเป็นสัตว์นรกเสียหลายสิบปีตอนนี้พ้นหรือยังก็ไม่ทราบ กว่าจักเริ่มมีศรัทธา กว่าจักมาพยายามรักษาศีล ๕ กว่าจักออกบวช กว่าจักมีโอกาสได้ศึกษาพระศาสนาอย่างจริงจัง กว่าจักเริ่มค่อยถอดถอนตัวตน นึกถึงตัวเองตอนยังสำมะเลเทเมา ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเช่นนี้แหละ เดี๋ยววันหนึ่งเขาก็คิดได้เอง

ที่ยังสนุกอยู่ ก็เป็นไปได้ว่า เขาอาจห่างเหินการตกนรกมานานจนลืมไปแล้วว่ามันทรมานยังไง ธรรมบางอย่างไม่ต้องทดลองทำก็อาจดีกว่า แต่หากไม่เชื่อคำเตือน ก็จนปัญญา เวลายังไม่เจอของจริงก็เก่งกันเสียเต็มประดา ธรรมบางอย่างกว่าจักรู้ก็สายเสียแล้ว เดี๋ยวจักหาว่า โล้นซ่าไม่เตือนนะขอรับ เจ้านายยยย....

เจริญธรรม ฯ

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013