ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

ประวัติเจ้าอาวาส

ประวัติพระราชภาวนาพินิจ

(สนธิ์ อนาลโย)


ก่อนที่หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย ท่านจะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส วัดพุทธบูชา ขอเท้าความพระครูอุดมสังวรคุณ ได้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชาเป็นเวลา
ประมาณ ๔ เดือนเศษ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนา (สป.วิ.) ที่ พระอุดมสังวรญาณ 
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ต่อมาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสของวัดพุทธบูชา เมื่อวันที่ ๑๖ เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งนับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕
ของวัดพุทธบูชา
ท่านเจ้าคุณ พระอุดมสังวรญาณ เป็นชาว จ.อุบลราชธานี มีนามเดิมว่า สนธิ์ นามสกุล คำมั่น เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗  พฤษภาคม ๒๔๗๗ เป็นบุตรชายของ 
นายเป นางกัน คำมั่น หลวงพ่อมีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่สอง เกิดที่ บ้านโนนชาติ ต.สร้างมิ่ง อ.เลิงนกทา จ.อุบลราชธานี อุปสมบทที่วัดป่าสุทธาวาส 
จ.สกลนคร มี พระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุข สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สนธ์ (สนธ์ ขนฺตยาคโม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์กวาด (กวาด สุมโน)
 เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้มีโอกาสไปศึกษา และปฏิบัติธรรมกับ หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี (วัดหินหมากเป้ง จ. หนองคาย) 
ประมาณ ๑ ปี (๒๔๙๙-๒๕๐๐)
ขณะนั้นเป็นช่วงที่ หลวงปูเทสก์ กำลังอยู่จำพรรษาเพื่อเผยแผ่พระศาสนาอยู่ที่ จ.ภูเก็ต จากนั้นจึงได้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดพุทธบูชานี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ 
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๘ จึงได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ซึ่งท่านได้อยู่เป็นกำลังช่วยสอนพระปริยัติธรรม และเป็นกำลังช่วยบริหารวัดบรมนิวาสเรื่อยมา 
จนกระทั่งวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา ต่อมาวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจาก 
ท่านเจ้าคุณ พระธรรมกวี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.๙) ซึ่งดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธ) ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดพุทธบูชา
ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบันท่านมีสมณะศักดิ์ พระราชภาวนาพินิจ (หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย)


ประวัติและปฏิปทา
พระราชภาวนาพินิจ 
(หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย) 


วัดพุทธบูชา 
แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 



๏ อัตโนประวัติ 

“ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ตราบใด
เชื่อว่ายังมีปัญหาอยู่ตราบนั้น
และยังมีความทุกข์อยู่ตราบนั้นด้วย
เพราะความสงสัยเป็นเหตุ
ฉะนั้นขอให้พิจารณาหาเหตุแห่งความสงสัยนั้นให้พบ
และรีบดับความสงสัยนั้นด้วยการปฏิบัติชอบ
ความสงสัยก็จะดับไป และความสุขจะเกิดขึ้น”


คติธรรมจาก “พระราชภาวนาพินิจ” หรือที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยรู้จักกันดีในนามของ “หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย” พระกรรมฐานกลางกรุง ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ

ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีวัตรปฏิปทาน่าเลื่อมใสเป็นที่เคารพบูชาของคณะศรัทธาญาติโยม คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนโดยทั่วกัน ทั้งยังดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พระภิกษุ สามเณร และฆราวาสรุ่นหลัง สร้างคุณูปการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันสิริอายุ 75 พรรษา (เมื่อปี พ.ศ.2552)

พระราชภาวนาพินิจ (หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย) มีนามเดิมว่า สนธิ์ คำมั่น เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2477 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ณ บ้านโนนชาติ อ.เลิงนกทา จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยโสธร) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเป และนางกัน คำมั่น ครอบครัวมีอาชีพทำนา

ในช่วงวัยเยาว์ ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านสร้างมิ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน แม้จะอยู่ในวัยเด็กแต่มีนิสัยรักสงบ เชื่อฟังโยมบิดา-โยมมารดา กลัวบาป ท่านมีความรู้สึกที่แตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกัน มีความคิดอยากจะบวช และปรารภอยากไปอยู่วัด แต่โยมมารดาไม่ยอมให้ไป

รูปภาพ
พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) 

รูปภาพ
พระอาจารย์กว่า สุมโน 


๏ การอุปสมบท 

กระทั่งตอนอายุ 18 ปี ได้มีโอกาสเดินทางไปที่วัดป่าอุดมสมพร (วัดหลวงปู่ฝั้น อาจาโร) ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้เห็นความอัศจรรย์ และระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง จึงตัดสินใจออกบวช แต่ช่วงนั้นได้เตรียมตัวก่อนบวช ต้องสวดมนต์และทานข้าวมื้อเดียว ร่างกายซูบผอมลง แต่สุดท้ายท่านไม่ได้บวชเรียน ต้องกลับมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ

อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีความคิดอยากจะบวชอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดท่านได้นึกถึงที่โยมมารดาสั่งเสียไว้ว่า “จะทำอะไรจะมีครอบครัวก็ให้บวชเสียก่อน ขอให้บวชให้แม่ก่อน”

ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปยัง จ.สกลนคร และเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2497 โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อนาลโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่มีความอาลัย”

หลังอุปสมบทแล้ว ได้กลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม ได้ปฏิบัติเดินจงกรม ฝึกภาวนา พิจารณากัมมัฏฐานตามที่พระอุปัชฌาย์บอก จนเกิดความรู้สึกปีติยินดี

ปี พ.ศ.2498 พระอาจารย์กว่า สุมโน ไม่มีผู้ใดอุปัฏฐาก ท่านต้องกลับไปดูแลปรนิบัติรับใช้ และมาเรียนหนังสือที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร วันแรกที่ไปอยู่วัดป่าสุทธาวาส ได้เกิดนิมิตว่าผีเจ้าของที่มาคอยหลอกหลอนรบกวน ท่านจึงปรารภความเพียรยิ่ง ระลึกถึงพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำความเพียรภาวนาต่อเนื่องกระทั่งจิตสงบสบาย จิตใจมีแต่ความเมตตาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี 


๏ ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี 

ต่อมาท่านได้ไปอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ บังเอิญ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ขึ้นไปจังหวัดสกลนคร ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส ได้ให้คนไปตามพระอาจารย์สนธิ์ให้ไปหาที่วัดป่าสุทธาวาส

หลวงปู่เทสก์จึงได้พาพระอาจารย์สนธิ์ไปอยู่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2499 ได้อยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่เทสก์อย่างใกล้ชิด โดยท่านให้พระอาจารย์สนธิ์อยู่กุฏิเดียวกับท่าน

พระอาจารย์สนธิ์ชื่นชมในปฏิปทาของหลวงปู่เทสก์ ได้ปฏิบัติต่อหลวงปู่อย่างสม่ำเสมอ หลังจากถวายนวดเส้นแล้วก็จะออกมาปฏิบัติเดินจงกรมก่อนที่จะพักผ่อน


๏ มาพำนักจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา 

ครั้นต่อมา ท่านมีความคิดที่อยากไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะอายุพรรษายังน้อย อยากเรียนบาลี จึงกราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งหลวงปู่เทสก์ก็ไม่คัดค้าน โดยมาพำนักจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา ต่อมาท่านมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ 

ทั้งนี้ หลวงพ่อสนธิ์ได้เล่าถึงความหลังให้ฟังว่า “ที่วัดพุทธบูชาในขณะนั้นบิณฑบาตลำบาก จะบิณฑบาตแต่ละครั้งก็ยาก ต้องลุยโคลนลุยเลนลำบากมาก เกิดมีมานะขึ้นมา ถ้าอย่างไรก็เรียนก่อนเถอะ ได้ตั้งใจมาแล้วต้องอดทนอยู่ต่อไป”

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสนธิ์ได้รับกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องต่อเครื่องบินจากเมืองดัลลัส ไปลงที่รัฐเทนเนสซี่ ระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินอยู่ เกิดเหตุอากาศแปรปรวนและเครื่องบินเกิดมีปัญหา ทำให้เครื่องบินสั่นเสียการทรงตัว

ผู้โดยสารบนเครื่องบินเกิดอาการหวาดกลัวว่าเครื่องบินจะตก หลวงพ่อได้นั่งภาวนาจนจิตนิ่ง จึงกำหนดจิตภาวนา เมื่อจิตสงบนิ่ง รู้สึกว่าจิตนิ่ง และไม่คิดเสียดายชีวิต ยอมตาย และรู้สึกว่ากายหายไป ในขณะนั้นได้มีเสียงมากระซิบว่า “ไม่ตายๆ” ปรากฏว่าเครื่องบินได้เปลี่ยนเส้นทางบินมาลงจอด เพื่อซ่อมเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย

รูปภาพ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 

รูปภาพ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ 


๏ สร้าง “วัดป่าภูปัง” 

คราวหนึ่งหลวงพ่อสนธิ์ได้นิมิตว่า หลวงพ่อได้ไปสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีผู้ปฏิบัติธรรมนุ่งขาวห่มขาวและมีความ ยินดีเมื่อหลวงพ่อสนธิ์เดินทางไปถึง หลวงพ่อสนธิ์ได้จดจำลักษณะของสถานที่แห่งนั้นได้เป็นอย่างดี และได้สอบถามไปยังผู้ที่รู้จักอยู่เสมอ เพื่อที่จะแสวงหาสถานที่แห่งนั้น

จนกระทั่ง พระอาจารย์บุญชวน ธัมมโฆสโก แห่งวัดป่าวังน้ำทิพย์ ต.สวาท อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ได้กราบเรียนหลวงพ่อสนธิ์ถึงเขาแห่งนั้น ในเขต อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เมื่อหลวงพ่อไปถึงเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวมีลักษณะตรงตามในนิมิตทุกประการ จึงได้ชักชวนคณะศรัทธาญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ มาพัฒนาสถานที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็น “วัดป่าภูปัง” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยได้สร้างศาลา 3 ชั้นขึ้นจนสำเร็จ

ถัดมา หลวงพ่อสนธิ์ได้หล่อรูปจำลองพระพุทธพิชิตมาร ขนาดหน้าตัก 80 นิ้ว โดยจำลองจากพระพุทธพิชิตมาร ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลาอุรุพงษ์ วัดบรมนิวาส เพื่อนำไปประดิษฐานที่วัดป่าภูปัง โดยหลวงพ่อได้ดูแลการปั้นหุ่นรูปจำลองอย่างใกล้ชิด และได้นิมนต์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นประธานในการเททอง และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นประธานในการเจริญพระพุทธมนต์ ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ที่มีเหตุฝนตกโปรยปรายลงมา


๏ เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา 

พ.ศ.2542 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชาว่างลง คณะกรรมการวัดพุทธบูชาจึงมาขอความเมตตาให้หลวงพ่อสนธิ์รับเป็นเจ้าอาวาส โดย สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกวี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น) ได้เห็นชอบให้หลวงพ่อสนธิ์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมา

ทุกวันนี้ “พระราชภาวนาพินิจ” หรือ “หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย” ยังคงสืบพัฒนากิจวัตรงานสงฆ์ และพัฒนาจิตใจฆราวาสอยู่เป็นเนืองนิตย์ ด้วยคติธรรมประจำใจ “อยู่ให้ดี มีธรรมประจำจิต อย่าไปคิดทำชั่วให้มัวหมอง มาดีคิดดี พระธรรมย่อมคุ้มครอง จิตผุดผ่อง สงบดี เพราะมีธรรม” 

รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตโต) วัดบวรนิเวศวิหาร 

รูปภาพ

รูปภาพ
พระราชภาวนาพินิจ (หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย) 

0 comments :

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013