ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

22 ตุลาคม 2553

บันทึกธรรม จาก ภูลังกา โดยส.มหาปญฺโญภิกขุ

 

บันทึกธรรม จาก ภูลังกา โดยส.มหาปญฺโญภิกขุ

 
ตามรอยชีวิตพระป่า

         ในพุทธบริษัท  4 พระภิกษุเป็นกลุ่มบริษัทที่ได้รับการยอมรับสมมติเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้นำบริษัทตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเสียงบอกเล่าที่ชินหู ตำราเรียนรู้ที่ชินตา   ต่างพรรณาถึงคุณธรรมของพระสุปฏิปันโนเหล่านั้น แม้อนุชนคนรุ่นใหม่ผู้พลิกผันชีวิตเข้ามาห่มผ้าเหลือง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็จะพลอยได้รับส่วนกุศลศรัทธานี้ด้วย   จนกลายเป็นประเพณีนิยมกันไปแล้ว

          แต่ก่อนงานหลักของพระสงฆ์เพียงทำหน้าที่ศึกษาและเผยแพร่พรหมจรรย์ (สภาพจิตที่ไร้มลทิน) แม้จะอยู่ในสังคมที่มากด้วยพิธีกรรม  แต่ท่านก็สอนปรมัตถธรรมผ่านประเพณีพิธีกรรมนั้นได้  จนกลายมาเป็นพิธีพุทธ  ปัญหาทั้งหลาย  ความผิดหวัง  ความสมหวัง  และกำลังหวัง  หรือแม้แต่ความสิ้นหวังของปุถุชน  ในแง่ของสัจจะ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งนั้น  พุทธธรรมเป็นมรดกทางปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบให้แก่โลกเพื่อดับทุกข์ทางใจ  อันเกิดจากความหลงโลกโดยเฉพาะ

         ปัจจุบัน กระแสพัฒนาโลกที่เน้นวัตถุเป็นปัจจัยเครื่องสนองตอบความสะดวกสบายที่เรียกว่า สุขเวทนา  ได้ดึงดูดเอาชนทุกหมู่เหล่าผู้ไม่รู้แจ้งสัจจธรรม  เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นเชื้อพลังขับเคลื่อนอันนั้น  พระสงฆ์ส่วนหนึ่งจึงเป็นผู้ตกอยู่ในกระแส ,ตามกระแส และหลงกระแส ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้ได้มีโอกาสในการก้าวไปสู่ความสุขที่ไม่ต้องอิงอามิส (นิพพานํ  ปรมํ   สุขํ )  อันเปรียบเสมือนกำไรชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์  เพราะหากมองในแง่ของวัตถุนิยมแล้ว  เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า  “พระสงฆ์คือทุนของสังคม  หากพระเสียคน  สังคมก็เสียโอกาส”

         ความจริงพระสงฆ์หรือนักบวชในพุทธศาสนา  คือบุคคลที่สังคมได้ให้โอกาสพัฒนาตัวเองมากกว่าบริษัทอื่น  ฝึกจิตตนตามพุทธวิธีการ  ให้รู้จักทวนกระแส  อยู่เหนือกระแส  และข้ามพ้นกระแส  แล้วชี้นำผู้กำลังเวียนว่ายอยู่ในกระแสให้รู้และข้ามตามไป  การพัฒนา ภาวนาตัวเองของพระสงฆ์จึงเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งต่อเพื่อนมนุษย์  ประดุจหนึ่งเป็นการพัฒนาโลก , การพัฒนาจิต การดับทุกข์ทางใจ   การแก้ไขปัญหาการไม่รู้แจ้งในชีวิตเป็นประทีปที่โลกยังขาดแคลนมาก

         วิถีชีวิตของพระในปัจจุบันที่เรามองเห็นนั้น  เกิดจากสังคมสมมติบ้าง  กิเลสตัณหาตัวเองสมมติบ้าง   ธรรมสมมติบ้าง  รูปแบบที่พอสรุปได้คือ ชีวิตที่ทวนกระแส  และตามกระแส  หรือที่พอเห็นได้เป็นรูปธรรมมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ พระบ้านและพระป่า ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงธรรมยุตหรือมหานิกายเพราะยี่ห้อคือการจัดพวก ส่วนสภาวะธรรมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่อาจแบ่งแยกตามสมมติได้

         ชีวิตพระ หมายถึง ชีวิตของผู้ที่ต้องดำรงสภาวะธรรม แห่งสังฆคุณ 9 เป็นเครื่องอยู่  , เป็นชีวิตที่ห่างไกลหรือพ้นไปจากความทุกข์ทางจิต  สังเกตได้จากความเป็นผู้มีสติ สันโดษ สงัด สงบเสงี่ยม เรียบง่าย  สำรวมในพระปาติโมกข์ , เป็นแบบอย่างชีวิตที่ประเสริฐ (อริยบุคคลหรืออริยสงฆ์) ไม่จำกัดสถานะทางเชื้อชาติ–ศาสนา–ภาษา–สังคม วุฒิภาวะความรู้ทางโลก

         ชีวิตพระบ้านหรือพระเมือง  หมายถึง ชีวิตที่ได้รับการสมมติว่าบวชเป็นพระแล้วด้วยพิธีกรรมทางศาสนา  แต่ยังมีพฤติกรรมแบบชาวบ้าน ( หีโน = เป็นของต่ำทราม , คัมโม = เป็นเรื่องของชาวบ้าน , ปุถุชนิโก = เป็นเรื่องของปุถุชน , อนริโย = ไม่ใช่กิจของพระอริยเจ้า ,อนัตถสัญญิโต = ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ต่อมรรคผลนิพพานเลย )  ชีวิตก้าวเดินตามกระแสโลกธรรมคือมุ่งลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  อย่างผู้ไม่รู้ตัว  มีทั้งที่อาศัยอยู่ในบ้าน  ชุมชนเมือง  หรือแม้แต่เสนาสนะป่า  มักพบเจอได้ในรูปแบบพระประเพณี  พิธีกรรม  พระเรียนสามัญ  พระนักวิชาการ  นักปรัชญา  นักบริหาร  หรือแม้แต่ในคราบของพระนักปฏิบัติก็มีให้เห็นได้ทั่วไป

         ชีวิตพระป่า หมายถึง  ชีวิตของผู้ใฝ่ฝึกตนเองด้วยวิปัสสนาวิธี  มุ่งสังฆภาวะ มักอาศัยอยู่ในเสนาสนะอันสงบ  สงัด  วิเวก เช่น วัดป่า  ป่าช้า  ถ้ำ  ภูเขา  เป็นต้น  มักพบเห็นได้จากนักปฏิบัติผู้สมาทานวัตรแห่งสติสัมปชัญญะ

ชีวประวัติพุทธสาวก  ปุพพาจารย์ และเกจิอาจารย์ทั้งหลาย บรรดาที่ได้รับการยอมรับทั้งในปฏิปทาวิชชาและจรณะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ  ได้ผลจริงกันมาแล้วทั้งนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าแม้ปัจจุบันท่านเหล่านั้นก็ยังสืบทอดเจตนา ปฏิปทานี้มาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเสมือนหนึ่งว่าต้องมนต์ขลัง

         ถ้ามองพุทธธรรมที่ผลการปฏิบัติทางจิต สะท้อนสู่การดำเนินชีวิตที่ตรงตามสัจจธรรม คงมีพระป่าจำนวนไม่น้อยที่ได้สัมผัสกับคำตอบอันนี้แบบแจ่มแจ้งทราบซึ้ง  ป่าจึงอาจเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยหรือห้องทดลอง ค้นคว้าวิจัย ตามวิชาพุทธศาสตร์

          แน่นอนว่า “ป่า” ก็เป็น “สังขาร” เป็นภาวะรูปที่ประกอบมาจากเหตุปัจจัย คงต้องมีทั้งดีและไม่ดี แต่สาระเป้าหมายคือ เพื่ออาศัยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาปัญญานิรันดร์ต่อการเข้าใจชีวิต แต่ในทางกลับกัน  บ้านย่านชุมชนเมืองสำหรับผู้ใฝ่ธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพ มุ่งพุทธภาวะแล้วดูจะไม่เอื้อต่อการฝึกตนเท่าใดนัก   เพราะเป็นกระแสที่ร้อนแรงเผารนต้นกล้าโพธิเหี่ยวเฉา แล้วๆ เล่าๆ อยู่อย่างนั้น  อย่าว่าแต่จะคิดช่วยเหลือสังคมเลย  แม้เราก็จะเอาตัวไม่รอด

         ปฐมทัศน์แห่งการประจักษ์แจ้งสัจจะคือภาวะเห็นความดับไปของความไม่รู้พร้อมกับการเกิดขึ้นของความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่ส่องสว่างสู่ภายในเห็นไตรลักษณ์ในนามรูป (ความคิด) อยู่อย่างสม่ำเสมอเป็นอัตโนมัตินั่นเอง

             เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า  สนามฝึกจิตที่แท้จริงคือ กายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้  ผู้เข้ารับการฝึกคือจิต  ผู้ฝึกคือสติและความเพียร  ผลคือความหลุดพ้นจากความหลง  นี้คือความจริงของวิญญูชน (ผู้รู้แล้ว) เหล่าปุถุชนคนพระป่าเถื่อนอย่างเราคงยังต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม  วัตถุภายนอก  เป็นเครื่องช่วยกระตุ้น  ปลุกเร้า  บ่มเพาะอินทรีย์พอสมควรจึงจะมีกำลังสามารถก้าวเดินบนเส้นทางอริยมรรค  คือการเฝ้าดูจิต  ได้โดยตรงตลอดเวลาเป็นอกาลิกธรรมได้

          การแสวงหาชีวิตแบบพระป่าจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษามากและสิ่งที่ขาดหายไปในการบวชครั้งนี้แต่จะได้สมาทานศึกษาจากความเป็นพระป่าได้แก่วิถีชีวิตของความเป็นนักบวชแบบโบราณหรืออย่างน้อยก็กึ่งแบบโบราณ  ได้มีโอกาสศึกษาพิสูจน์ทฤษฎี พุทธพจน์ทั้งหลาย ในภาคสนามรบกันจริง ๆ  คือมาเฝ้าดูที่กายที่ใจกันเลย  มาถือธุดงควัตร  มาขูดลอกปลอกเปลือกชีวิตของเรากันลองดูซิว่าข้างในความจริงมันเป็นอย่างไร  เดี๋ยวนี้เราเห็นแต่สังขารธรรม  เห็นแต่สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง  ของแท้จิตเดิมแท้ที่ไม่ปรุงเป็นเพียงแต่ภาวะผู้รู้นั้นมีอยู่ตรงไหน  อันนี้มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน  เราผู้แสวงหาต้องเป็นผู้ที่ใจเกินร้อย  เรื่องใจนี้สำคัญ  อย่างอื่นเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น  เสริมเพื่อให้เกิดความเกื้อกูลต่อการปฏิบัติไม่ใช่ให้จมปลักติดยึด

          เรื่องของปัจจัยเสริม  (ปัจจัย  4 )
เรื่องนี้เป็นปัจจัยเสริมหรือปัจจัยภายนอก  เป็นเรื่องที่ต้องจำกัดปริมาณ  มีมากๆทำให้ปิดบังกลบเกลื่อนความรู้สึกที่แท้จริงของเราไม่ว่าเวทนาหรือสติปัญญา 
- เครื่องนุ่งห่ม นอกจากที่ใช้ประจำตัวแล้วอาจมีผ้าห่ม  ผ้าอาบน้ำ  ผ้าเช็ดบาตร ผ้าพลาสติกปูกันชื้น  เท่านี้ก็คงพอ
            - อาหารบิณฑบาต  คงบริโภคด้วยความสันโดษ  คือตามเกิดมีตามหาได้  ตามกำลัง  และตามควรแก่อัตตภาพ    หลังฉันเสร็จให้ล้างบาตรแล้วเช็ดให้เรียบร้อยก่อนลุกจากที่นั่ง ไม่ต้องไปล้างข้างนอกใช้น้ำเปล่าไม่ต้องใช้น้ำยาล้าง

            - ที่อยู่อาศัย    อันนี้ให้พักในกลดหรือในเต็นท์ก็ได้ นอกจากความปลอดภัยจากเหลือบยุงลมแดดและสัตว์มีพิษทั้งหลายแล้ว ความสะดวกใกล้ที่สรงน้ำ ความอยู่ใกล้กัลยาณมิตร และที่สำคัญต้องให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอารมณ์ปฏิบัติเราได้ด้วย  เช่นความกลัวผี  ความชอบแอบหลับนอนก่อนเวลาอันสมควร อันนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของพระพี่เลี้ยงด้วยว่าจะให้อยู่ที่ไหนใกล้ไกลอย่างไร  

            - ยารักษาโรค  ยาภายนอกก็ให้มีได้เท่าที่จำเป็น  แต่พุทธโอสถนี้ต้องปรุงเอาเอง  คือ  สติ  สมาธิ  ปัญญา มีอยู่ในเราทุกคนแล้ว แต่เราไม่รู้ไม่เห็น จึงมาเฝ้าดูในกายในใจเรานี้ สิ่งหรือธรรมที่มันปรากฏขึ้นมาอันไหนเป็นกิเลสตัณหา (ทุกข์) อันไหนเป็นสติปัญญา (ยาแก้ทุกข์) เมื่อเรารู้เห็นแล้วก็ต้องพยายามนำมาปรุงกินแก้ทุกข์ให้ได้ อารมณ์ 84,000 อย่างนั้นเป็นใบไม้ในป่าเป็นรื่องของกิเลสตัณหาซึ่งมีอยู่ในจิตใจเรามากมาย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ความเห็นทุกข์ ความปล่อยวางอารมณ์นี้เป็นธรรมที่ควรบริโภคให้มาก  เสพคุ้นให้มาก  อันนี้เป็นคิลานเภสัชเพื่อความรู้  ตื่น  เบิกบาน   เป็นใบไม้กำมือเดียว

          ปัดใจจริง (อินทรีย์ 5)
ปัดใจจริง คือ ปัจจัยภายใน  อันนี้ต้องสั่งสมให้มาก แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าเกินความพอดีก็กลายเป็นปัญหา “ความพอดีจะทำให้มีปัญญา” ความมีไม่ถึงดีมันก็จะส่งผลหรือให้ผลในทางลบได้
            -ศรัทธา ผู้เข้าฝึกปฏิบัติต้องมีความเชื่อเรื่องกรรม คือความสามารถของตนเอง เชื่อผลของกรรม คือ การปฏิบัติของตนต้องมีผลให้ผลต่อชีวิตตนเองแน่นอน เชื่อว่าวิถีชีวิตของสัตว์โลกล้วนเป็นไปด้วยอำนาจของความคิดอารมณ์ทั้งนั้น เชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่ามีจริง  พระพุทธเจ้าถือได้ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างของมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในการอยู่เหนือกรรม คือ กิเลส ตัณหา อันเป็นตัวก่อให้เกิดทุกข์อีก  เชื่อว่าตถาคตภาวะอันนั้นมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนจริง หากทำจริงทำถูก  ทำถึง   เราเกิดได้  มีได้  เป็นได้

            -วิริยะ หมายถึงความขยันรู้ ความกล้าเผชิญต่อเวทนาอย่างอาจหาญ กล้าปล่อยวางภารกิจที่ผูกมัดใจเรา กล้าฝืนความตามใจความคิดในสมมติทั้งหลาย  กล้าเดินไปตามเส้นทางหรือเข้าสู่สมรภูมิของผู้ไม่มีอะไรหรือไม่

             -สติ หมายถึงความระลึกรู้,ความรู้สึกตัวในแต่ละขณะของการเคลื่อนไหวกายและจิตให้รู้เท่าทันความคิด แต่ในกรณีที่ผู้ฝึกใหม่ (ยังไม่สัมผัสอารมณ์รูปนาม จิตรู้ปัจจุบันภายนอกได้อย่างมั่นคง)จิตยังถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่มากก็ให้ฝึกสติตามรู้อาการกายฝึกอยู่กับฐานกายให้มั่นคงก่อนแล้วจึงค่อยดูความคิดแต่ที่สำคัญคือความรู้สึกตัวต้องให้ต่อเนื่องอยู่เสมอ

             -สมาธิ หมายถึงความตั้งใจมั่น ความตั้งใจจริง หรือความรู้สึกตัวต่อเนื่องของสติ  หรือมหาสติ หรือสัมปชัญญะ  จิตจะเบาโปร่งโล่งปลอดอารมณ์ปรุงแต่ง การปรารภความเพียรจะสนุกเพลิน เรียกอีกอย่างว่าได้อารมณ์ปฏิบัติ

              -ปัญญา  หมายถึงความรู้ ความเห็นตรงตามความเป็นจริง คือ จิตที่ไม่มีอะไรเข้าไปเจือปนในจิต จิตรู้จิตอยู่อย่างนั้น ภาวะจิตเช่นนี้เมื่อกระทบกับอะไรจะรู้สึกซื่อ ๆ ตรง ๆ  ไม่ปรุงแต่งด้วยอำนาจของความโลภ โกรธ หลง อันนี้เรียกว่าเห็นธรรมด้วยปัญญา ทุกอย่างอยู่ที่การเห็น ถ้าเห็นถูกเข้าใจถูก คิดก็ถูก ปฏิบัติมันก็ต้องถูก มันอยู่ที่ปัญญาที่เกิดกับใจนี้แหละ

         พูดตามความจริงแล้ว สติ สมาธิ ปัญญานี้มันตัวเดียวกัน เพียงมองคนละมุมคนละด้านเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรสำคัญไปกว่าอะไร ศึกษาเพื่อให้เข้าใจเอามาดับทุกข์ให้ตัวเอง อย่าเอาธรรมเอาอักขระพยัญชนะไปแจกแจงเอาชนะคะคานคนอื่น อย่างนั้นมันเป็นความรู้ของคนโง่ ความรู้ของอวิชชา  ความรู้ของผู้ไม่รู้ แม้ความรู้จะมีมากจนท่วมหัว แต่เอามาแก้ปัญหาทุกข์ให้กับตนเองไม่ได้ ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงตบหน้าเอาทุกวัน แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร 

         วิถีชีวิตของเราทั้งหลาย ที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาอยู่ป่า เพื่อตามรอยพระโบราณที่เราเรียกกันว่าพระป่านั้น ความจริงคือพระนักปฏิบัติธรรมนั่นแหละ ใครปรารภความเพียรมีสติ สมาธิ ปัญญาเกิดนั่นแสดงว่าตามรอยท่านถูกแล้ว พระป่าเขาไปไหน ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์อยู่ที่ไหน “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต” ธรรมนั่นแหละคือพุทธะ ธรรมนั่นเองคือตถาคต ธรรมคืออะไร ก็คือใจนี้แหละ  เรื่องความรู้นี้  เขาจำลองมาจากวิชาการ มาจากความคิด ความรู้ ความน่าจะเป็นเท่านั้น ของจริงมันสมมติบัญญัติออกมาให้ดูไม่ได้ เป็น สันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง  ไม่มีภาษาสมมติใด ๆ เข้าถึงได้ ยิ่งอธิบายก็ยิ่งเข้าตำราตาบอดคลำช้าง ยิ่งวาดยิ่งเลอะ “ยิ่งคิดปรุงแต่งจิตเท่าใด ใจเดิมเราก็ยิ่งหายไปเท่านั้น”

“ผู้ใดมีสติผู้นั้นพบพุทธบาทผู้ใดทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์ผู้นั้นได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมแดนพุทธเกษตรอย่างถาวร” 

         ดังนั้น ความเป็นพระคือผู้แสวงหาคำตอบของชีวิตแบบมืออาชีพ  โดยเฉพาะชีวิตของพระวัดป่า เราจะทำเหลาะแหละแบบพระสมัครเล่นไม่ได้ พระป่า พระบ้าน พระบริหาร พระบริการ พระเผยแผ่ อันนั้นเราบัญญัติสมมติหน้าที่กันทำเท่านั้น เป็นส่วนประกอบที่เราเอื้อเฟื้อให้กับสังคม แต่หน้าที่หลักของเราคือการพุทธาภิเษกตัวเอง  บ่มเพาะสมณภาวะให้เกิดก่อนแล้วค่อยทำหน้าที่

         ผมจึงขอฝากความหวังไว้กับพระเราโยมเราทั้งหลาย อย่าได้ท้อแท้ต่ออุปสรรคเหลือบยุง ลมแดดทั้งหลาย พยายามใช้ปัญญาแก้ปัญหาตามเหตุปัจจัย พระพ่อแม่ครูอาจารย์เราทุกข์ยากลำบากกว่าเรานี้หลายเท่านัก กว่าจะหลุดรอดจากทางมาร ที่สำคัญคือให้กำหนดรู้ให้เท่าทันกิเลส ตัณหา สัญญา อารมณ์ อยู่เสมอ แล้วจะพบเส้นทาง พบรอยของพระป่า พบหน้าตาของสัจจธรรมได้ในเร็ววันนี้ด้วยกันทุกรูป ทุกนามเทอญ.


จิตเดิมแท้ผ่องใสไม่เศร้าหมอง

ปะภัสสะรามิทัง  ภิกขะเว  จิตตัง  ตัญจะ  โข  อาคันตุเกหิ  อุปักกิเลเสหิ  อุปักกิลิฏฐัง
                                ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร แต่เศร้าหมองขุ่นมัวเพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา


         พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมนั้น เรามุ่งหมายประเด็นไปที่การฝึกจิต 80 % กันเลยนะ    นี่เข้าใจว่าเป็นพุทธพจน์   ที่ใช้คำว่าเข้าใจว่า เพราะไม่ได้เห็นด้วยตา ไม่ได้ฟังมาด้วยหูตัวเอง เพียงแต่จดจำนำมาจากตำรับตำรา จะเป็นคำกล่าวของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่จริงก็ได้  แต่มั่นใจได้เลยว่านี่คือคำกล่าวของผู้รู้จริง เห็นจริง ซึ่งผู้นั้นอาจเป็นพุทธะ ปัจเจกพุทธะ หรือสาวกพุทธะก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เรื่องตำรานั้นมันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ถูกผิด จริงเท็จมันอยู่ที่พยานหลักฐานวัตถุ บุคคล เอกสารอ้างอิง ตามที่สมมติตกลงร่วมกัน ซึ่งก็อาจเป็นข้อมูลได้รับการยอมรับหรือยุติในระดับหนึ่งเท่านั้น
         แต่นี่มันเป็นเรื่องสัจจธรรมทางจิตใจ เป็นปรากฏการณ์ภายในที่ถูกบัญญัติออกมาด้วยภาษาพูด เพื่อสื่อความหมายให้กับผู้ที่กำลังแสวงหาหนทาง ซึ่งก็มีทางไว้ให้เลือกมากมาย แต่ถูกผิดเรายังไม่มั่นใจ รับรองผลยังไม่ได้ แต่เมื่อใดที่เราลงมือเดินทางไปถึงเป้าหมายได้แล้ว เมื่อนั้นเราจึงจะมั่นใจได้เลยว่านี่เป็นหนทางเพื่อมาสู่เป้าหมายนี้ได้อย่างแท้จริง รับรองได้ด้วยปัญญา รับรองได้ด้วยเพราะการพิสูจน์ผล
         จิตนี้เป็นสภาพรู้อารมณ์ รู้ได้เร็ว รู้ได้ไว รู้แล้ววาง วางแล้วมารู้ใหม่ เป็นอย่างนี้แล้ว ๆ เล่า ๆ ช่องทางหรือประตูแห่งการรับรู้ก็มี 6 ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสัมผัสกับ รูป รส กลิ่น เสียง วัตถุ ความคิด แล้วจิตก็จะรู้ตามที่กระทบนั้น การที่รับรู้ได้เรียกว่ามีวิญญาณ  ถ้าประตูไหนเสียพิกลพิการไปเสื่อมไป วิญญาณทางนั้นก็ดับไปด้วย เช่น ตาบอด จักขุวิญญาณก็ดับ การรับรู้ทางตาไม่มีแล้วดับแล้วเป็นต้น  แต่ในกรณีที่เราหลับ การรับรู้ทางใจ (สติ) ก็ยังมีอยู่ถ้าหากว่าได้รับการฝึกฝนที่เพียงพอ สติจะตื่นอยู่  ในความหลับจะคอยรับรู้พฤติกรรมที่ละเอียดของจิตได้ เช่น  จิตหลับ จิตขยับจะคิดจะฝัน  จิตจะรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร
         การรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ของจิตอย่างแจ้งชัด (ปชานาติ) ภาวะอาการเช่นนี้เรียกว่า “สติ”  บางทีก็เรียกว่า ตัวรู้ จิตรู้หรือสติรู้ อาการของจิตที่ทำหน้าระลึกรู้ เรียกว่า สติ , สติจึงแปลว่า ระลึกรู้ หรือตามรู้ หรือรู้สึกตัว หรือพุทธจิต หรือพุทธภาวะ หรือโพธิ
         จิตคนเราถูกฝึกรับอารมณ์มาตั้งแต่เกิด จะด้วยความที่รู้หรือไม่รู้ก็ตาม ด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อารมณ์ชนิดไหนอย่างไร มากหรือน้อย สิ่งนี้จะเป็นตัวพืชจิตก่อให้เกิดการพัฒนาเป็นพฤติกรรม เป็นบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล และให้ผลในโอกาสต่อไป
       มันสมองอันเป็นเครื่องมือของความรู้สึกนึกคิดนั้นได้มาทางกรรมพันธุ์  เป็นเรื่องของยีนส์ แต่ความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นผลที่ได้มาจากการรับรู้จากวิญญาณทางอายตนะ ไปฟักตัวที่จิต อาจไปบวกกับข้อมูลเดิม(สัญญาหรืออุปาทาน) แล้วอาจสั่งออกมาเป็นพฤติกรรมในลักษณะข้อมูลสดหรือถูกแปลงข้อมูลก็ได้  แล้วแต่จิตนั้นประกอบด้วยสติหรืออวิชชา , วิชชาก็คือสติ เห็น รู้ความคิด , อวิชชาก็คือหลงเข้าไปในความคิด
        “ธรรมชาติของจิตเป็นประภัสสรผ่องใส” คือก่อนกระทบอารมณ์ในขณะนั้น ๆ  เดิมทีมันไม่ได้เศร้าหมองอะไร มันปรกติของมันอยู่อย่างนั้น หรือแม้แต่ขณะเกิดผัสสะ จิตยังไม่ปรุงแต่ง อุปาทานยังไม่เข้าไปยึดเกาะติดจิตมันก็ประภัสสรอยู่  ตลอดพบได้บ่อยครั้งว่าหลังกระทบผัสสะและปรุงแต่งจบ จิตนี้ก็เกิดการเว้นวรรคของความเศร้าหมองได้จนกว่าจะขึ้นเรื่องใหม่และเศร้าหมองกับเรื่องใหม่อีก
        “อาคันตุกะกิเลส” คือ เรื่องราวต่าง ๆ ที่จรเข้ามาในจิต จิตรับอารมณ์แล้วมีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ (อภิชฌาโทมนัส) กับธรรมชาติที่ปรากฏนั้น สำคัญมั่นหมายผิดว่ามันเที่ยง มีตัวตน เกิดติดอกติดใจหลงใหลในสภาพธรรมอันนั้น เป็นกิเลสด้วยความไม่รู้ อันนี้จิตจะปล่อยให้มันเข้ามายึดพื้นที่แล้วก่อกำเนิดหรือสร้างภพภูมิในจิตอยู่อย่างนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ

           การเจริญสติอยู่เสมอจึงเป็นทั้งการประคองให้ตัวพุทธะในจิตนี้ระลึกอยู่ตลอดเวลาและยังเป็นการพัฒนาความเห็น (สัมมาทิฏฐิ) ทุกข์โทษของการปรุงแต่ง ทุกข์เพราะความสำคัญมั่นหมายที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริง เพราะทุกสิ่งเป็นเพียงเวทนา เป็นมายาปรากฏอยู่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ความจริงของจิตคือว่าง และถ้าไม่ว่างเพราะหลงปรุงแต่งตามอาคันตุกะกิเลสเท่านั้น คนทั่วไปหลงว่าตัวเองมีทุกข์ แท้จริงทุกข์ไม่มี ที่มีเพราะเขามีความไม่รู้ต่างหาก ความมืดทำให้สำคัญมั่นหมายผิด สิ่งที่ไม่มีกลับเป็นมีขึ้นมา จิตเดิมผ่องใสประภัสสรอยู่แท้ ๆ กลับเอากิเลสตัณหาเข้าไปปรุงแต่งฉาบทา 

            ขอให้พวกเราศึกษาธรรมอันนี้อย่างคนลืมตา อย่าหลงจนกระทั่งไม่รู้ความจริงของจิต   ความหลงความรู้เป็นเรื่องขณะจิตหนึ่ง ๆ เท่านั้น อย่าพาลให้โมหะครอบงำหนักจนกลายเป็นเรื่องของอดีตชาติไป ดูให้ดี ๆ ท่านผู้รู้กล่าวเอาไว้ว่าเวลาจิตหลุดจากอารมณ์ จะเหมือนดวงจันทร์ที่โคจรพ้นจากหมู่เมฆฉะนั้น. 


ภาษาธรรม  ภาษาศาสนา  ภาษาใจ

               เข้าใจว่า เราทั้งหลายคงเคยได้ยินศัพท์เหล่านี้กันมาบ้างแล้ว เช่น คำว่า อวิชชา สังขาร กรรมฐาน ญาณ  ฌาน  รูปนาม ไตรลักษณ์  สมมติ  ปรมัตถ์  เกิดดับ  อาสวกิเลส จิต  วิญญาณ  มรรคผล  นิพพาน ฯลฯ  ข้อความเหล่านี้เป็นศัพท์เฉพาะของผู้ที่อยู่ในแวดวงปฏิบัติเขาใช้กัน เป็นภาษาที่เป็นอรรถบัญญัติหรือภาษาใจ  เป็นการให้ความหมายบัญญัติเรียกสภาวะธรรมภายใน บางทีก็เรียกปรมัตถ์ภาษา เพราะเป็นปรมัตถ์บัญญัติ คนที่จะเข้าใจภาษานี้ได้ละเอียดลึกซึ้งคือผู้ที่ศึกษาเรื่องจิตโดยตรง ตามรู้อาการของจิตอยู่เสมอ (จิตตานุปัสสนา) มนุษย์เราโดยทั่วไปจะมีภาษาที่ใช้สื่อความหมายกันอยู่ 2 ภาษา คือ  ภาษาสมมติ และภาษาปรมัตถ์ 
            ภาษาสมมติ  หมายถึง ภาษาที่สื่อความหมายเกี่ยวกับวัตถุภายนอก วิถีชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ภาษาไทย ภาษาฝรั่ง ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาเขมร เป็นต้น
            ภาษาปรมัตถ์ หมายถึง ภาษาที่สื่อความหมายเกี่ยวกับสภาวธรรมภายในจิต และสิ่งที่เกี่ยวกับจิต เป็นภาษาที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติในจิตใจของมนุษย์  ได้แก่ภาษาของศาสนาที่ว่าด้วยปรมัตถสัจจะ
               สันสกฤตหรือบาลี ไม่ใช่ปรมัตถภาษา  แต่เป็นสมมติภาษาที่นำมาบัญญัติตัวปรมัตถ์เท่านั้น พระไตรปิฏกฝ่ายหินยานใช้ภาษาบาลีเป็นตัวร้อยกรองรักษาคำสอนดั้งเดิม (พุทธพจน์) เอาไว้ แต่พวกเราก็โชคดีที่ภาษาไทยนั้น ส่วนหนึ่งได้วิวัฒนาการมาจากภาษาบาลี โดยเฉพาะสภาวะส่วนปรมัตถ์บางทีเราเรียกทับศัพท์กันไปเลย ไม่ต้องแปลก็พอจะรู้ว่าหมายถึงอะไร แต่บางทีก็มีข้อเสียอยู่ด้วยเหมือนกัน เช่น ข้อความที่ลึกกลับเข้าใจตื้น  ข้อความตื้นกลับตีความหมายลึกลับซับซ้อนเกินไป แต่ทั้งสองความเห็นก็ไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริงเช่นเดียวกัน  ที่เป็นเช่นนี้เพราะความเข้าใจ (ปัญญา) ที่ได้มาเกิดจากฐานวิธีที่ไม่เหมือนกัน ท่านผู้รู้อุปมาดั่งตาบอดคลำช้าง บางครั้งถูกแต่ไม่ตรง บางครั้งตรงแต่ถูกคนละที่ การให้ความหมายถึงรูปพรรณสัณฐานช้างจึงคลาดเคลื่อน เพราะอย่างไรก็ยังสู้คนตาดีไม่ได้ ดังนั้น ปัญญาจึงแปลว่าความรู้รอบในกองสังขาร
               การเข้าถึงปัญญาด้วยการหาเหตุผล การตีความตามตัวอักษร การตรึกตามอาการ หรือการคาดคะเนเทียบเคียงกับตำราคัมภีร์ที่มีอยู่แนวคิดที่คล้ายคลึงกัน วิธีการเหล่านี้เป็นการเก็บข้อมูลจากภายนอกจิตตน อุปมาดั่งทัพพีไม่รู้รสแกง  ความรู้ที่ได้ตนเองไม่ได้สัมผัส รับรองไม่ได้ด้วยปัญญาตน ดังนั้น การแสวงหาปัญญาหรือวิชชา จึงต้องทำให้ถูกวิธี  และต้องทำให้ถึงด้วย จึงจะชื่อว่าเป็นความรู้ที่สมบูรณ์
             สัญชาตญาณ เป็นทิฏฐิตามความเข้าใจของฐานจิตเดิมที่ยังมีสัญชาตญาณแห่งความโลภ ความโกรธ และความหลงให้ปกคลุมจิต และคอยชักใยอยู่เบื้องหลังอย่างหนาแน่น
             จินตญาณหรือวิจารณญาณ เป็นความรู้ที่เกิดจากการนึกคิดพิจารณาของจิต  ที่ถูกจัดระเบียบด้วยอำนาจของสมาธิหรือสีลพตระดับต่าง ๆ แม้การตีความตามอำนาจของจินตญาณหรือวิปัสสนูปกิเลสก็ยังไม่อาจชื่อว่าบริสุทธิ์ถูกต้องได้
             ญาณทัศนะหรือวิปัสสนาญาณ เป็นวิชชาความรู้ที่เห็นตามความจริง ฐานของการรู้เกิดจากจิตที่ปราศจากอวิชชา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้าแทรก

                การเข้าถึงความจริงได้ในระดับที่แตกต่างกันและยึดมั่นด้วยอุปาทานในสิ่งนั้น จะส่งผลให้เกิดความเห็นไม่เสมอกัน (ทิฏฐิสามัญญตา) และความเห็นที่แตกต่างกันก่อให้เกิดแนวทางข้อวัตรปฏิบัติที่แปลกแยกกันไป  ประพฤติยิ่งหย่อนไม่เสมอกัน (สีลสามัญญตา) และเมื่อปฏิบัติไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์ความรู้ความเห็นที่ได้ก็ย่อมแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา อันนี้เองที่จะส่งผลให้การสื่อสารภาษาธรรมไม่ได้ถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วนเท่าที่ควรหรืออาจก่อให้เกิดความวิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากสัจจะสาระที่แท้จริงเลยก็ได้

               แต่ถ้าต้องการเข้าถึงสารธรรมของจิต ก็ต้องลงมือศึกษาภาวะอาการที่เป็นต้นตอบ่อเกิด (โยนิโสมนสิการ) ของการบัญญัติศัพท์นั้น ๆ ให้ได้ เนื่องเพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เข้าใจได้ยากลำบาก สภาพเช่นนั้นจึงถูกเรียกกันในหมู่นักปฏิบัติโดยทั่วไปว่า อภิธรรม

              ผู้ที่จะเรียนภาษาปรมัตถ์หรือภาษาอภิธรรมได้นั้น ก่อนอื่นจะต้องฝึกสติทำความรู้สึกตัวให้มั่นคงก่อน แต่ถ้าผู้ใดสติมั่นคงอยู่แล้วก็สามารถอ่านจิตตัวเองได้เลย เฝ้าดูเป็นแล้วก็ต้องอ่านได้ด้วย การเฝ้าดูเหมือนการเรียนรู้อักขระพยัญชนะวรรณยุกต์การอ่านคือความรู้ความเข้าใจในข้อความที่ดูสามารถสื่อความหมายได้ “สติเฝ้ารู้ดูจิตแล้วจะอ่านพฤติกรรมของจิตได้”

             การอ่านเป็นการหารายละเอียดมากกว่าการดู อ่านเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในปรากฏการณ์ที่เกิดกับจิตชนิดที่หมดความลังเลสงสัย (นิกังขา) ผู้เริ่มเรียนรู้การอ่านจิตตัวเองชื่อว่ากำลังทำปริญญา

           ญาตปริญญา คือ  ผู้ที่กำลังเริ่มเรียน เป็นภาวะของผู้เริ่มกำหนดรู้ ผู้ที่กำลังตามเฝ้าดูจิต
           ตีรณปริญญา คือผู้ที่เรียนรู้ด้วยความเอาใจใส่  ตริตรองพิจารณาจิต หรือทุกข์อย่างละเอียด แจ่มแจ้งในระดับหนึ่ง
           ปหานปริญญา คือ ผู้ที่เรียนจบแล้ว ประหารกิเลสได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งขีณาสวะ

             ศาสนาไม่ใช่เรื่องของวัตถุสิ่งของ ภาษาที่ใช้จึงเป็นเรื่องของการสื่อความหมายเกี่ยวกับจิตโดยเฉพาะ จะเรียกภาษาศาสนาคือภาษาจิตก็ได้ บางครั้งก็เรียกธัมมาธิษฐาน คือการกล่าวที่อิงอาศัยธรรมเป็นที่ตั้ง  หรือที่รู้จักกันในรูประบบของปริศนาธรรมก็มี  ความจริงไม่ได้เป็นปริศนาธรรมอะไรแอบแฝง แต่โดยสัจจะในทุกสิ่งแล้วจะมีความจริงทั้ง 2 ประเภทอยู่ในตัวมันเองเสมอ คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ  เพียงแต่มันลึกยากแก่การเข้าใจสำหรับผู้ที่ขาดพื้นฐานการศึกษาทางจิตรองรับเท่านั้น

             การขาดวุฒิภาวะภาษาทางจิต เป็นเหตุให้เกิดการสื่อความหมายไปคนละแนว อ่านไม่ได้ แยกไม่ออก บอกไม่ถูก ระหว่างโลกกับธรรม วัตถุกับจิตวิญญาณ หรือโลกียธรรมกับโลกุตตรธรรม

             ส่วนผู้ที่คุ้นเคยกับการปฏิบัติศึกษาเรื่องจิต มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันบ้างแล้ว (เข้าถึงอารมณ์รูปนามเป็นอย่างน้อย) คือสติรู้อาการกายอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งต่อเนื่อง (เห็นกายในกาย , กายานุปัสสนา )  จะสามารถฟังรู้เข้าใจหายสงสัยด้วยปัญญาระดับหนึ่ง “สติตัวกำหนดรู้เป็นดวงตา ปัญญาที่ปรากฏคือแสงสว่าง” ถ้าความพร้อมขององค์ธรรมทั้งสองปรากฏอย่างแจ่มแจ้งเมื่อใด เราก็จะได้ดวงตาเห็นธรรมเมื่อนั้น (การเข้าถึงความจริงของชีวิตเริ่มต้นตรงนี้)

         “เมื่อมีดวงตาแห่งปัญญาปรากฏ การสื่อสารด้วยภาษาธรรม ภาษาศาสนา ภาษาโลกุตตรธรรม การเข้าใจเรื่องสมมติบัญญัติ ปรมัตถ์บัญญัติ อรรถบัญญัติ อริยบัญญัติ ไม่ยากแล้ว”


ภพภูมิของจิต  ชีวิตในแต่ละขณะ

            หลายคนคงมีความภาคภูมิใจกับการที่ได้เกิดมาแล้ว ได้รับสมญาว่าเป็นมนุษย์ หรือได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เช่นเดียวกับคนอื่นเขา เผลอ ๆ มีดีกรีปริญญา มีเกียรติบัตรรับรองจากสถาบันพัฒนาความรู้สติปัญญา เอามาติดโชว์ข้างฝาเต็มไปหมด  แต่ก็มีหลายเพลาที่เราพาลจะเป็นสัตว์ประสาท  เพราะหาความประเสริฐอย่างที่ใครเขาว่านั้นไม่พบ

            ไม่ทราบว่าเราเคยได้สำรวจดูความเป็นมนุษย์ของตนเองบ้างไหม ว่าในวันหนึ่ง ๆ มันเหลืออยู่สักกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะการที่คนเราจะเป็นมนุษย์ได้นั้น นอกจากร่างกายจะมีอวัยวะส่วนประกอบที่สามัญสังคมมนุษย์ยอมรับได้แล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ จิตใจ บ่อยครั้งที่เราชอบเปรียบเปรยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของใครบางคนว่า เป็นการกระทำเยี่ยงสัตว์ หรือเป็นยิ่งกว่า

          สัตว์ดิรัจฉาน คือพวกเปรต อสุรกาย เดนนรก แม้ในบางครั้งถึงกับเฉพาะเจาะจงลงไปเลยก็มีอย่างเช่นเป็นหมา เป็นเหี้ย เป็นคนโง่ เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี สารพัดแต่จะสรรหามาเปรียบเทียบ โดยเพ่งเล็งไปที่ลักษณะนิสัย จิตใจการแสดงออกทางอารมณ์ในขณะจิตนั้น ๆ ว่าตกอยู่ในภพภูมิเช่นไร มีพฤติกรรมเยี่ยงไร เสวยกรรมแบบไหน นานเท่าไร ให้เห็นเป็นรูปธรรม  เพราะนี่คือตัวแปรเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมด อันเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไรกันแน่

           คน  คือ ระคน – กวน เป็นกิริยาจิต หมายถึง มีทุกอารมณ์ระคนปนเปคลุกเคล้าอยู่ในช่วงนั้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีปัญญาที่จะสามารถเลือกคัดจัดสรรคุณธรรมฝ่ายกุศลจิตมาใช้ประกอบการดำเนินชีวิตอย่างเอาจริงเอาจังได้ ยังล้มลุกคลุกคลานแพ้อารมณ์ตนเองเสมอ หามาตรฐานความเป็นมนุษย์ยังไม่พบ เว้นไว้แต่จะหยุดคน คนผู้ไม่ยอมให้อะไรมาคนจิต จะเลือกชีวิตในจิตตน

           มนุษย์ คือ ผู้มีจิตใจสูง กิเลสฝ่ายต่ำเข้าครอบงำไม่ได้ มาตรฐานคุณธรรมของมนุษย์คือเบญจศีล เบญจธรรม

           เทวดา คือ  ผู้มีหิริโอตตัปปะ ละอายชั่วกลัวบาป มีมารยาทผู้ดี มีความสะดวกสบายเนรมิตได้ดังใจนึก มีสุขเวทนามากกว่าทุกขเวทนา

           พรหม  คือ  ผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะมีใบหน้าที่ประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการคือ
                       -เมตตา  มีจิตคิดสงสารผู้อื่นเมื่อมีปัญหา
                       -กรุณา  มีจิตคิดจะช่วยด้วยความจริงใจให้ห่างไกลจากทุกข์
                       -มุทิตา  มีจิตยินดีภูมิใจในความสำเร็จของผู้อื่น
                       -อุเบกขา  มีจิตวางเฉยและเมื่อให้ความช่วยเหลือไม่ได้ เหตุเพราะเกินกำลังความสามารถ หน้าที่

           อริยะ  คือ ผู้ที่มีจิตที่ได้รับการพัฒนา จนสามารถละกิเลส สังโยชน์ ทุกข์ที่สะสม หมักดองในสันดานได้

             เป็นธรรมดาของจิตที่ยังไม่รู้สัจจธรรม ยังไม่เข้าใจธรรมชาติของสัญญาอารมณ์ ดังนั้นอารมณ์ไหนที่ชอบจิตก็เสพเสวยภพภูมินั้นนานหน่อย อันไหนที่ไม่ชอบก็ละสังขารนั้นสู่สังขารใหม่วนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่มีวันสิ้นจบ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุปาทานหรือสติปัญญาจะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมให้กับชีวิต

               อนึ่งเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น เราอาจหาความเข้าใจในศัพท์อีกกลุ่มหนึ่งได้ดังนี้

           อบายภูมิ หมายถึงภูมิที่อยู่ของจิตที่ไม่สบาย เป็นภาวะอารมณ์ที่ทนได้ยากลำบากเช่น ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก เป็นภูมิจิตที่ต่ำกว่ามาตรฐานของความเป็นมนุษย์จิตที่เสวยจะรู้สึกอึดอัดขัดเคือง เร่าร้อน กระวนกระวาย หาทางระบาย เปลี่ยนแปลงเพื่อดิ้นรนไปจุติและอุบัติในภพภูมิใหม่ที่ทนได้ง่ายกว่านี้ แต่เพราะจิตไม่มีสติประกอบ จึงดิ้นรนด้วยทุกขเวทนาและวิภวตัณหา ความหวังของขณะจิตนี้จึงมีเป้าหมายเพียงแค่สุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา เท่านั้น เรียกอีกอย่างว่าทุคคติภูมิ

          สุขคติภูมิ หมายถึงภูมิของจิตที่มีสุขเวทนาเป็นอารมณ์ เป็นกามาวจรภูมิ ภูมิจิตที่อาศัยกามคุณทั้ง 5 คือ  รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมถึงรสชาติของฌานสมาธิจิตในระดับต่าง ๆ ด้วย สรุป คือ สุขของมนุษย์ คือ กามคุณ สุขของเทวดา คือ เวทนา สุขของพรหมคือสมาธิ

       อริยภูมิ  หมายถึง  ภูมิของจิตที่ห่างไกลจากกิเลสอันเป็นข้าศึกต่อความสงบสุข , จิตของผู้พ้นจากความทุกข์หรือความสุขแล้ว  เรียกภูมิจิตของอริยบุคคล มี 4 จำพวก  อริยบุคคล หมายถึง  ผู้ที่ละกิเลสในระดับสังโยชน์หรืออาสวะคือเครื่องหมักดองในจิตได้  ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ
        1.โสดาบัน  ผู้ละวางสังโยชน์ได้ 3 อย่างแรก  คือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพตปรามาส (สติอาจกำหนดอยู่กับปัจจุบันได้ ประมาณ  25 เปอร์เซ็นต์)   ละวางความเห็นในขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวตนของเรา  ลดความจัดจ้านจากอัตตาตัวตนที่มีอยู่  สละอารมณ์ได้ไว  ไม่สงสัยในความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางจิตใจ   ไม่สงสัยในความรู้สึกตัวว่าดับทุกข์ได้จริง  ไม่ยึดมั่นถือมั่นในพิธีกรรมงมงายเป็นอุบายครอบงำจิต
        2.สกิทาคามี  ผู้ทำโลภะ  โทสะ  โมหะ  ให้เบาบาง  (สติอาจกำหนดอยู่กับปัจจุบันอารมณ์ได้ประมาณ 25 - 50 เปอร์เซ็นต์)  เห็นความละเอียดของอารมณ์มากขึ้น  ชำนาญในการตามรู้เวทนาทางจิต
        3.อนาคามี  ผู้ละความปรุงแต่ง ละความพอใจในกามราคะทั้งในรูปและในสมาธิ ทิฏฐิ  มานะ (สติรู้ปัจจุบันได้ประมาณ 50–75 เปอร์เซ็นต์)
        4.อรหันต์ ผู้ละอวิชชาดับสนิทได้ในทุกอารมณ์ เป็นผู้สิ้นกำหนัดขัดเคืองแล้ว  สิ้นอาสวะแล้ว (สติสมบูรณ์  100 เปอร์เซ็นต์)

“ราตรียาวนานสำหรับผู้ป่วยไข้  หนทางยาวไกลสำหรับผู้แบกของหนัก  วัฏฏะสงสารยาวนานสำหรับผู้ไม่รู้สัจจธรรม”

          มิติแห่งกาลเวลาสำหรับจิตแล้ว  หากมีความพอใจแม้เวลานานแสนนานก็เหมือนน้อยนิด  หากเบื่อหน่ายไม่ถูกจริตแม้น้อยนิดก็เหมือนหนึ่งเป็นกัปป์กัลป์... ความสุขนั้นผ่านไปเร็วมาก แต่ความทุกข์นั้นผ่านไปด้วยความเชื่องช้า  จนเกิดความรู้สึกว่าทรมานยิ่งกว่าตกนรกทั้งเป็น  ดังนั้นเวลาที่จิตตกสู่ทุคคติภูมิ  เราจึงมักพูดว่า ตกนรกคือจิตเสวยทุกขเวทนานั้นเอง  แต่เวลาใดจิตขึ้นสู่สุขคติภูมิ  เรามักกล่าวว่าได้ขึ้นสวรรค์    ความจริงเราก็พูดถูกแล้ว  แต่บัญญัตินี้มันมาจากภาวะที่ลึก ๆ  ภายในเราไม่ยอมรับกับสมมติภายนอกที่สัมผัสได้ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ธรรมดา  บางทีเราก็กลืนตำราทั้งเล่มหรือผลไม้ทั้งเปลือก  เพราะจิตเราได้รับเหตุปัจจัยให้คิดแบบนั้น  คนจึงไม่กลัวทุกข์ในปัจจุบันขณะจิตนี้   ไม่อยากได้สุขในทุกลมหายใจ  ดังที่โบราณได้กล่าวเอาไว้ว่า  "สวรรค์ในอกนรกในใจ  นิพพานอยู่ไม่ไกลหายใจก็ได้ยิน"

          การไม่เข้าใจพุทธธรรมนำสู่การชี้แนะที่ปกปิดซ่อนเร้น  ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขว้เป็นการทำลายพระสัทธรรมแบบไม่ตั้งใจในลักษณะความหวังดีของคนโง่ใช้ปัญญาย่อมนำมาซึ่งความฉิบหายในการงานที่มอบหมายให้รับผิดชอบ

       ความจริงคำสอนของพุทธศาสนานั้นเป็นวิธีการเข้าถึงคำสอนให้ได้ด้วยปัญญาแล้วนำมารักษาจิต  แต่ปัจจุบันเพียงสอนเน้นให้คิดแล้วจิตไม่มีปัญญารักษา  เมื่อจิตเข้าถึงธรรมประจักษ์แจ้งความจริงในชั่วขณะจิตหนึ่งจะเกิดการปหานภาวะขึ้น  ตัวปัญญาของวิปัสสนาที่ทำให้ต่างเก่าล่วงภาวะเดิมด้วยการเห็นก่อให้เกิดการถอนจากสมมติถอนจากความรู้ความเข้าใจที่ไม่ใช่ความจริงในอดีตที่ฝังตัวอยู่ในจิต  เราเรียกว่า  สำรอกกิเลส  คือ  ตัวโลภะ  โทสะ  โมหะ  จะถูกถอนออกไปด้วยตามกำลังของมัคคปหาน 

         ดังนั้น  ปัญญาจึงเป็นความรู้รอบไม่ใช่จะรู้แบบผิวเผิน  แต่ก็ไม่ใช่แบบยึดมั่นถือมั่น   ไม่ใช่รู้จุดใดจุดหนึ่งเหมือนการคิดเอาแบบจินตญาณ  ฟังแล้วนำไปคิดใช้ตรรกะกับพุทธธรรมอันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก  จริงอยู่ในพุทธธรรมอุดมไปด้วยศาสตร์หลากหลายแขนง  โดยเฉพาะศาสตร์ที่มุ่งแสวงหาความจริงของชีวิต  เช่น  ปรัชญา  ตรรกะวิทยา  หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์  แต่การที่จะเอาวิธีการแห่งศาสตร์เหล่านี้มาเป็นบรรทัดฐานหรือเครื่องมือเข้าถึงความรู้ที่เป็นความจริงแบบอันติมะย่อมเป็นไปไม่ได้  ไม่ใช่เข้าใจไม่ได้แต่มันเข้าไม่ถึงต่างหาก  มีปัญญาคิดรู้ถูกแต่ไม่ใช่ญาณทัศนะรู้  สภาวะภายในคือ  กิเลสตัณหาไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใดๆ หรืออาจหลงดีหลงถูกมากกว่าเดิมก็ได้  ความรู้ความเข้าใจที่ได้  (ไม่อาจเรียกว่าเป็นปัญญา)  จึงถูกนำมารับใช้กิเลสดังเดิม.


ความหลงที่ใคร ๆ ก็รอดยาก

             พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม  เราต้องทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง  โดยเฉพาะสติซึ่งเป็นแม่ของกุศลธรรมทั้งหลาย  ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า ธรรมทั้งหลายรวมลงในความไม่ประมาท  นั่นก็คือ การมีสติระลึกรู้เท่าทันจิตของตนอยู่เสมอ  เพราะจิตของคนเรานี้เป็นบ่อเกิดของปัญญาและปัญหาหรือวิชชากับอวิชชา

          “ปัญญาหรือวิชชา”  สร้างความรู้ความเข้าใจซื่อๆ   ตรงๆ  ตามธรรมชาติที่มันเป็นจริง แต่
          “ปัญหาหรืออวิชชา”  สร้างความหลง  สร้างสมมติอะไรต่าง ๆ มากมายหลากหลาย

              จิตนี้ถูกหลอกเข้าสู่กรงขัง แห่งความมืดบอดทีละน้อย ๆ ใช้เหยื่อล่อคือ กิน  กาม  เกียรติ  โดยเฉพาะในเรื่องของจิตนั้น  มันไปไหนบ้างถ้าไม่แว๊บไปเรื่องที่มันชอบและไม่ชอบ  ความเฉย ๆ มันแทบไม่รู้จัก  และเป็นภาวะที่มันถึงกับรับไม่ได้เลยด้วยซ้ำ  จิตมันเบื่อที่จะต้องอยู่เฉย ๆ  หลงในความเป็นตัวตนจนไม่รู้สึกว่าต้องฝืน  และก็ไม่รู้ฝืนไปเพื่ออะไร  ทำไมต้องฝืน  การฝืนเสียอีกที่จิตกับคิดว่าเป็นทุกข์

              แต่อนิจจา…  งานที่จิตมันทำ  กรรมที่ก่อ  ล้วนถูกผลักไสด้วยอำนาจของอวิชชา  ความไม่รู้สึกตัว  ความไม่รู้แจ้งในจิต ทำให้หลงติดอยู่กับสมมติ  หลงจนกลายเป็นความเคยชิน  หลงจนกลายเป็นนิสัย  “คนเมาเหล้า  จิตเมาสมมติ”  ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลย  ดูอะไร ๆมันก็จำเป็นไปหมด ,  อันนั้นก็คือหน้าที่  , อันนี้ก็ธุระสำคัญ , สิ่งอื่นไม่ต้องการขอเพียงได้ทำสิ่งนี้ , เพื่อครอบครัว , เพื่อสังคม , เพื่อบ้านเพื่อเมือง , เพื่อบุญคุณ  อะไรสารพัดที่ชอบนำมากล่าวอ้างตามประสาจิตเมาโลก  ถ้าเมาน้อยก็พอคุยกันรู้เรื่องอยู่บ้างหรอก  แต่ถ้าประเภทบริโภคความหลงเข้าไปจนกระทั้งเกินพิกัด  เมาสมบัติหลงสมมติ  หลงยศฐาบรรดาศักดิ์  อายุ รูป  หุ่น สุขภาพ กำลัง  บาป  บุญ  นรก สวรรค์  อัตตาตัวตน   ใหญ่โตจนกระกระทั่งพูดไม่รู้เรื่อง  กลายเป็นความมืดบอด  ประเภทกู่ไม่กลับ  หลับไม่ตื่น  ฟื้นไม่มี   หนีไม่พ้น  อันนี้คงเทียบได้กับประเภทดอกบัวใต้น้ำ

            ไปไม่กลับ  คือ หลงเต็มที่  จะช่วยเหลือชี้แจงอย่างไรก็ไร้ผล  เป็นคนหลงโลก  (อกิริยทิฏฐิ) ทำไม่ชื่อว่าได้ทำ

            หลับไม่ตื่น  คือหลับใหล ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับพิธีกรรมที่ตนสมาทาน  แม้ได้พบวิธีอื่นที่ดีกว่าถูกต้องกว่าตรงกว่าก็ไม่ยอมรับยึดมั่นสีลพตของตนอยู่อย่างนั้น (สัสสตทิฏฐิ)  เห็นว่าเที่ยง

            ฟื้นไม่มี  คือ พอใจของตนอยู่อย่างนี้  พอใจที่จะทำอย่างนี้  บาปบุญไม่มี ดีชั่วไม่ให้ผล  อันนี้ขาดสูญไปเลย (อุจเฉททิฏฐิ)

            หนีไม่พ้น  อย่าไปคิดอะไรให้มากเลย  ถูกผิดดีชั่ว  เกิด  ตาย ก็สมมติด้วยกันทั้งนั้น  ที่จริงว่างเปล่าไม่มีอะไร  แล้วจะปฏิบัติหาสวรรค์นิพพานที่ไหน  (นัตถิกทิฏฐิ) ไม่มีอะไรทุกอย่างว่างเปล่า

               ความรู้ของคนทั่วไปนั้นก็รู้อยู่ไม่ใช่ว่าไม่รู้  แต่เป็นความรู้แบบไม่รู้ เป็นความรู้ของผู้ไม่รู้  เป็นความรู้ออกไปข้างนอก ไม่ใช่รู้เข้ามาในจิต  อันเป็นต้นต่อบ่อเกิดของทุกข์  เป็นความรู้ของอวิชชา  ไม่ใช่ความรู้ที่ทำให้ตื่นเบิกบาน  ความรู้ประเภทนี้ยิ่งเสพ ยิ่งเมา เกิดอาการเรื้อรังกำหนัดขัดเคือง  ไม่ใช่ธรรมของสัตบุรุษ  ความจริงความรู้ก็เป็นอาหารของจิตอย่างหนึ่ง  เราเรียก วิญญาณาหาร  แต่ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดไหน  ถ้าไม่รับประทานให้ถูกวิธี  เช่นไม่ทำให้สุก  หรือสุกแต่บริโภคเกินความพอดี  ก็มีอันตรายได้ทั้งนั้น     

               ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราหลงบริโภคอาหารชนิดนี้มานานจนเป็นการเสพติด  เป็นนิสัย  เป็นอุปนิสัย  เป็นอาสวธรรมไปแล้ว คือถ้าเป็นโรคทางกายก็เรื้อรังกันหมดแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง คิดจะเยียวยารักษาก็ยังพอมีทาง เพราะเมืองไทยเรามีหมอมากมาย เราสามารถไปพบหมอได้ไม่ยาก เคยกล่าวอยู่เสมอว่าเมืองไทยคือตลาดกรรมฐาน แต่ได้หรือเปล่าไม่รู้นะ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่ามีหมอดีจบมามากมาย แต่ที่ชำนาญเฉพาะทาง และตั้งใจรับรักษาก็คงยากกันสักหน่อย ก็เป็นธรรมดาทุกสังคมจนมีทั้งของจริงและของปลอม หมอผี หมอพราหมณ์ หมอพระ หมอจริยะ หมอวิปัสสนา อันนี้เราผู้แสวงหาต้องมีปัญญาระดับหนึ่ง ต้องพยายามแสวงหากันบ้าง โรคทางกายใกล้ไกล ยังอุตส่าห์คิดค้นไป แต่โรคใจกลับเลี้ยงไข้ไว้ไม่รักษา

           วิปัสสนา คือ วิธีการรักษาแบบผ่าตัด , การบริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม นอนวัด เป็นวิธีบำบัดแบบยาหม่องยาดม แต่ในกรณีที่รู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นโรคอะไร   ติดเชื้อชนิดไหนก็ลงมือทำการรักษาได้เลย  คือพูดง่ายๆ ว่าพอให้จิตอยู่กับปัจจุบันเท่านั้นแหละ โรคกิเลส ตัณหา อุปาทาน นิสัย สันดาน มันจะแสดงตัวตนของมันออกมาทันที (แต่บางคนก็ไม่อยากรักษา อยากเก็บเอาไว้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานหรือของขวัญคนร่วมงานก็มี)

            คุณเกิดมานานเท่าใดเชื้ออุปาทานเข้าสู่ใจนานคุณเท่านั้น แต่ไม่ต้องห่วงเพราะพุทธโอสถเป็นยาหม้อใหญ่ เป็นยาสารพัดโรค ครอบจักรวาล โรคของสัตว์โลก มันจะมาจากสมุฏฐานเดียวกันคือ อวิชชาเท่านั้น อิวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม พุทธวิธีนั้นแก้ที่ต้นตอของโรค แก้ที่อวิชชา ไม่ใช้แก้ที่กรรม ทางโลกแก้ที่กรรม ทางธรรมแก้ที่อวิชชา ไม่รู้ก็ทำรู้ มันหลงก็กำหนดรู้ เมื่ออวิชชาหลุดก็หยุดสร้างกรรม

          ทางโลกแก้ที่กรรม คือ แก้ที่ปลายเหตุ แก้ที่สมมติ สมมติว่าถูก สมมติว่าดี สมมติว่าตรง สร้างกฎระเบียบ รูปแบบบริหาร สร้างกลไกแห่งรัฐ เพื่อการพัฒนา เป็นภาวะที่เราสมมติร่วมกัน หรือสร้างสมมติปัจจัย มันถูกมันก็ดำรงภาวะของมันอยู่ได้ขณะหนึ่ง พอมันเสื่อมเราเรียกว่าล้าสมัย เราก็สร้างใหม่อีก แต่ความเสื่อมก็ยังคงดำเนินไปตามเหตุปัจจัย ทั้งเก่าและใหม่ เราเองตกอยู่ในสภาพผู้ตามรักษาสังขาร คือ สร้างสังขารมารักษาสังขารกลบเกลื่อนกันอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ มันยุติชั่วขณะเท่าที่ใจเราหยุด แต่แล้วมันก็กลายเป็นปัจจัยของปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ไม่มีวันสิ้นจบ

          ทางธรรมแก่ที่อวิชชา ตราบใดที่เรายังมีจิตประกอบด้วย อวิชชา ตราบนั้นเรายังไม่มีดวงตาที่เห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ในสมมติทั้งหลาย จิตเราไม่อิสระจากโรคร้ายนี้ โรคแห่งอวิชชา ความไม่รู้แจ้ง โรคแห่งความหลงติดอยู่ในความคิด โรคของวัฎฏะวน ที่หลงวนอยู่ในความคิดออกไม่ได้เพราะเราไม่รู้ เรามืด เราไม่เห็น เราจึงพาลจะเอาจริงเอาจัง กับสมมติให้ได้ แม้ใครจะทัดทานอย่างไรเราก็ไม่เชื่อ เพราะความเขลานั้นเทียวที่ทำให้เราต้องเป็นเช่นนี้ หลวงพ่อพุทธทาส กล่าวไว้น่าฟังมาก “จะมาเอาหนวดกับเต่า จะมาเอาเขากับกระต่าย มันจะมีให้เหรอ”

             เรื่องรายละเอียดวิธีการรักษา เราพูดกันมาหลายครั้งแล้ว และเห็นหลายคนหลายรูปก็ตั้งใจ อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มีวิธีการเดียวเท่านั้น “เอกายะโน ภิกขะเว มัคโค..จัตตาโร สติปัฎฐาเน...” คือการมีสติ ตามรู้อาการกายและจิต เฝ้าดูกายเคลื่อนไหว เฝ้าดูใจนึกคิดให้แจ้งชัดและต่อเนื่อง ซึ่งพอสรุปหรือนำมากล่าวต่อท้ายในที่นี้ ดังนี้
             1.ต้องมีสติกำหนดรู้กาย และจิตให้ต่อเนื่องอยู่เสมอ ในเบื้องต้นให้ความรู้อยู่กับอิริยาบถ
             2.ขณะปฏิบัติต้องสำรวม ระวังอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อันอื่นไม่เท่าไหร่ ระวังให้มากคือ ปาก ตา หู เพราะนี้เป็นประตูอยู่ใกล้การปรุงแต่ง
             3.ขยันประกอบความเพียรปลุกธาตุรู้ของตนอยู่เสมอ โยคา เว ชายเต ภูริ การเคลื่อนไหวอริยาบถ ให้พยายามเอาความรู้สึกตัวเข้ามาประกอบอยู่เสมอ อย่าให้มันเผลอ มันฟรี ด้วยสัญชาตญาณ เพราะนั้นคือคุณธรรมของ ดิรัจฉาน สัญชาตญาณแบบสัตว์ มันมาเกิดในจิตเรา มันขวางปัญญาญาณ แห่งพุทธ ต้องรู้จักตื่นตัวตื่นใจ ให้กระตุ้นเขย่าธาตุรู้อยู่เสมอ อย่าหลงไปกับมัน บางทีนิวรณ์เข้าอาการเหมือนไฟถูกกลบด้วยขี้เถ้า ต้องขยันคอยสังเกตจิต คอยเขี่ยอยู่เสมอ ประคองตัวรู้ให้มันทำงานต่อเนื่อง จนธาตุรู้มันโพลงขึ้นมาโน่นแหละ
           4.เลือกที่สงัดวิเวก ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของครูบาอาจารย์ อย่าหลบลี้ย้ายไปมาโดยไม่บอก อย่าเป็นวิปัสสนาหมาขี้เรื้อน จะลำบากต่อการติดตามสอบอารมณ์
           5.ให้รู้ปริมาณในการขบฉัน อย่ามากเพราะจะลำบากในการปรารภความเพียร ระวังของแสลงตำรับตำรา เพื่อนนักปฏิบัติที่จิตตก ฟุ้งซ่าน  ความเพียรย่อหย่อน อย่าคบอย่าคลุกคลี
            6.อย่านอนกลางวันเด็ดขาด ไม่หลับได้ยิ่งดี
            7.ให้แก้ปัญหาอารมณ์ โดยธรรม ไม่จำเป็นอย่าใช้สังขารเข้ามาแก้ คือให้พยายามกำหนดรู้.

บันทึกธรรม จาก ภูลังกา โดยส.มหาปญฺโญภิกขุ

0 comments :

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013