ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

22 ตุลาคม 2553

Travel - Manager Online - รำลึกพระพุทธเจ้าหลวง กับ วัด-วัง ในรัชกาลที่ 5

 

รำลึกพระพุทธเจ้าหลวง กับ วัด-วัง ในรัชกาลที่ 5

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
20 ตุลาคม 2553 15:58 น.

พระบรมรูปทรงม้า

       เวียนมาถึงอีกครั้งกับ“วันปิยมหาราช” 23 ต.ค.
       สำหรับปีนี้(2553)มีความพิเศษยิ่ง ตรงที่เป็นปีครบรอบ “100 ปี แห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5“
       โดย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 และสมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี ตลอดเวลา ที่สมเด็จพระปิยมหาราชได้เสวยราชสมบัตินั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นระยะเวลาที่อารยธรรมสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ชาติไทย และเป็นพื้นฐานให้ชาติไทยได้เจริญก้าวหน้าตลอดมาจนถึงสมัยทุกวันนี้
       พระองค์ท่านหลังทรงครองราชย์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยเป็นเวลา 42 ปี ก็ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 5 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 เมื่อพระชนมายุได้ 58 พรรษา และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ปวงประชาชาติไทยจึงได้พร้อมใจกันถวายพระนามแด่พระองค์ว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” หรือ “สมเด็จพระปิยมหาราช”
       ทั้งนี้นอกจากศูนย์รวมความเคารพของพระองค์ท่านที่“พระบรมรูปทรงม้า” หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว พระพุทธเจ้าหลวงยังมีสถานที่แทนพระองค์ให้ปวงชนชาวไทยน้อมรำลำถึงพระองค์ท่านอีกมากมายสถานที่หลายแห่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่น โดยเฉพาะกับบรรดา“วัดและวัง”ต่างๆในรัชกาลที่ 5 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่าน ซึ่งมีดังนี้

พระที่นั่งอนันตสมาคม

“พระราชวังดุสิต” เป็นหนึ่งในพระราชวังสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่เสด็จประทับชั่วคราว เนื่องจากภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับนั้น ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างที่อยู่กันอย่างแออัด ปิดทางลม ทำให้ที่ประทับร้อนจัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันเสมอ ต่อมาจึงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชวังที่ประทับถาวรจนตลอดรัชกาล
       นอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งต่างๆขึ้นเพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวังภายในพระราชวังดุสิต ประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ อาทิ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ และนีโอคลาสสิก พระที่นั่งตกแต่งด้วยหินอ่อนจากอิตาลี มีจุดเด่นที่หลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้จัดได้ว่าเป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย
“พระที่นั่งอัมพรสถาน” เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สำหรับ “พระที่นั่งอภิเษกดุสิต” ซึ่งสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีลวดลายฉลุ ประดับกระจกสี และลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน จึงทำให้พระที่นั่งองค์นี้งดงามมาก

พระที่นั่งวิมานเมฆ ในพระราชวังดุสิต

       อีกหนึ่งพระที่นั่งสำคัญในพระราชวังดุสิต คือ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังมาสร้างในพระราชวังดุสิตแทน หลังแล้วเสร็จถือเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต
       จากพระราชวังดุสิตที่ประทับถาวรจนตลอดรัชกาล มารู้จักกับ “พระราชวังฤดูร้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้สร้าง“อาคารอาไศรยสฐาน” ขึ้น 3 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานมายังเกาะสีชัง ซึ่งในขณะนั้นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีทรงพระครรภ์ใกล้มีพระประสูติการ ดังนั้น พระองค์จึงทรงสร้างพระราชฐานขึ้น และพระราชทานนามว่า “พระจุฑาธุชราชฐาน” ตามพระนาม แต่หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ.112 การก่อสร้างทั้งหมดก็ได้ชะงักลง ก็ถือเป็นการสิ้นสุดการเป็นเขตพระราชฐานนับแต่นั้นมา
       สำหรับอีกหนึ่งพระราชวังในรัชกาลที่ 5 ก็คือ “พระราชวังบางปะอิน” จ.อยุธยา ซึ่งเป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งรกร้างหลังการเสียกรุง
       กระทั่งมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระราชวังบางปะอินขึ้นมาใหม่

หอวิฑูรทัศนา พระราชวังบางปะอิน

       ในขณะที่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 บางปะอินเป็นเกาะกลางน้ำมีความเงียบสงบ มีเส้นทางการเดินเรือได้หลายทาง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆในพระราชวังบางปะอินเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นที่ประทับ รับรองพระราชอาคันตุกะและพระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่างๆ
       สำหรับสิ่งปลูกสร้างในพระราชวังบางปะอินในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เด่นๆ มีดังนี้ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการและใช้เป็นที่ประทับ, สภาคารราชประยูร ปัจจุบันใช้เป็นที่แสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังบางปะอิน
"หอวิฑูรทัศนา" ใช้เป็นที่ทอดพระเนตรโขลงช้างป่า และภูมิประเทศโดยรอบพระราชวัง,อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งสวรรคตในระหว่างการเสด็จแปรพระราชฐานมายังพระราชวังบางปะอิน,พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนอันสวยงาม

ศิลปกรรมยุโรปที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

       จากพระราชวังในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกันบ้าง โดยตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน หากข้ามกระเช้าไปจะเจอกับ “วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร” ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดฯให้สร้างขึ้น เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง เป็นศิลปะแบบโกธิค

วัดเล่งฮกยี่

       ส่วนอีกหนึ่งวัดที่มีชื่อเสียงก็คือ “วัดเล่งฮกยี่” จ.ฉะเชิงเทรา เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ขยายมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา และได้ทรงพระราชทานนามวัดว่า “วัดจีนประชาสโมสร” โดยภายในวัดมีพระประธานที่ทำจากกระดาษ หรือที่เรียกว่าเปเปอร์มาเช 3 องค์ คือ พระอมิตพุทธเจ้า พระศรีศากยมุนี และพระไภษัชคุรุพุทธเจ้า และ 18 อรหันต์ ทั้งหมดนั้นนำมาจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ศิลปกรรมแบบฝรั่งเศสภายในอุโบสถวัดราชบพิธ

       จากอยุธยาเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อมาน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านรัชกาลที่ 5 ที่ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นวัดแรก หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 1 ปี เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี มีสิ่งปลูกสร้างหลักก็คือพระเจดีย์ทรงไทย ที่ล้อมรอบด้วยพระระเบียงวงกลมที่เชื่อมต่อพระวิหารและพระอุโบสถไว้ด้วยกัน ผนังระเบียงประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง กระจก ที่นับว่าวิจิตรบรรจงอย่างมาก
       ส่วนภายในพระอุโบสถเป็นงานศิลปกรรมแบบฝรั่งเศสคล้ายกับพระที่นั่งในพระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศส มีพระพุทธอังคีรส เป็นพระประธาน สร้างขึ้นโดยการหล่อทำเป็นพิธีกระไหล่ทองทั้งองค์ สิ้นเนื้อทอง 180 บาท ซึ่งเป็นทองคำที่พระองค์ใช้แต่งเมื่อทรงพระเยา
       ความสำคัญอีกส่วนหนึ่งของวัดราชบพิธคือ ที่นี่เป็นสุสานหลวงส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ที่สร้างเจดีย์สถานอุทิศแด่พระมเหษี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนเจ้าจอมทุกพระองค์สมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้วัดราชบพิตรยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

วัดเบญจมบพิตร

       ในขณะที่วัดเบญจมบพิตร อันสวยงามเป็นหนึ่งในสุดยอดสถาปัตยกรรมแห่งสยามประเทศนั้น หลายๆคนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 แต่อันที่จริงวัดนี้เป็นวัดเก่าที่ภายหลังรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า“วัดเบญจบพิตร” อันหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ พร้อมกับพระราชทานนามว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5
       และนี่ก็คือวัด-วัง ในรัชกาลที่ 5 อันโดดเด่น ที่นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีความสวยงาม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความเกี่ยวพันธ์กับพระองค์ท่านให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแล้ว วัด-วัง เหล่านี้ยังเป็นมรดกสำคัญแห่งสยามประเทศที่มีคุณค่ายิ่ง

Travel - Manager Online - รำลึกพระพุทธเจ้าหลวง กับ วัด-วัง ในรัชกาลที่ 5

0 comments :

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013