ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

08 กันยายน 2554

ตัวอย่างแนวข้อสอบสนามหลวงวิชาวินัยมุข เล่ม ๒ น.ธ.โท

images4

                            ตัวอย่างข้อสอบสนามหลวงวิชาวินัยมุข เล่ม ๒
๑. พระวินัย แบ่งออกเป็นกี่อย่าง อะไรบ้าง
ตอบ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ อาทิพรหมจริยกาสิกขาบท ๑, อภิสมาจาร ๑ ฯ

๒. อภิสมาจารคืออะไร  แบ่งเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง  ผู้ล่วงละเมิด สามารถถูกปรับอาบัติอะไรได้บ้าง  ภิกษุล่วงละเมิดจะเกิดความเสียหายอย่างไร  ภิกษุควรปฏิบัติพระวินัยอย่างไร จึงจะเรียกได้ว่า พอดีพองาม
ตอบ อภิสมาจาร คือ ธรรมเนียมของภิกษุ หรือ สิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์ มี๒ ประเภท คือ ๑. ข้อห้าม ๒. ข้ออนุญาต ผู้ล่วงละเมิด สามารถถูกปรับอาบัติถุลลัจจัย และอาบัติทุกกฎ ฯภิกษุล่วงละเมิด เพียงบางรูป บางอย่าง บางครั้งก็เสียหายน้อย แต่ถ้าล่วงละเมิดมากอย่าง หรือเป็นนิตย์ จิตภิกษุนั้นย่อมเศร้าหมองจากอาจิณกรรม และอาจทำให้เกิดความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย แตกความสามัคคีในหมู่สงฆ์ แบ่งพรรคแบ่งพวกว่าพวกนี้เคร่ง พวกนี้ไม่เคร่ง เป็นต้น ฯภิกษุควรปฏิบัติพระวินัยโดยสายกลาง คือไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงาย จนเป็นเหตุให้ต้องลำบาก เพราะเหตุธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่าย ละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนเป็นเหตุให้ตนเป็นคนเลวทราม จึงจะเรียกได้ว่า พอดีพองาม ฯ

๓. พระพุทธองค์ทรงอนุญาต ให้ภิกษุไว้ผมได้ยาวที่สุดเท่าไร ไว้ได้นานที่สุดเท่าไร
ตอบ ไม่เกิน ๒ ข้อนิ้วมือ (องคุลี) ฯ ไม่เกิน ๒ เดือน ฯ

๔. ภิกษุพึงปฏิบัติเกี่ยวกับเล็บมือเล็บเท้าของตนอย่างไร จึงจะถูกต้องตามวินัยแผนกอภิสมาจาร
ตอบ ภิกษุพึงปฏิบัติเกี่ยวกับเล็บมือเล็บเท้าของตนด้งนี้ ไม่พึงไว้เล็บยาว ๑, พึงตัดเสมอเนื้อ ๑, ไม่พึงขัดเล็บด้วยมุ่งในความสวยงาม ๑, ถ้าเล็บเปื้อน พึงขัดมลทิน หรือแคะมูลเล็บ ๑ ฯ

๕. ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติ ให้รักษาความสะอาดเกี่ยวกับร่างกายไว้อย่างไร การเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีประโยชน์อย่างไร
ตอบ มีพระพุทธบัญญัติว่าด้วยกายบริหารไว้ว่า ห้ามไว้ผมยาว ๑, ห้ามไว้หนวดเครา
๑, ห้ามไว้เล็บยาว ๑, ห้ามไว้ขนจมูกยาว ๑, เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว น้ำมีอยู่ ไม่ชำระไม่ได้ ๑, อนุญาตให้ใช้ไม้ชำระฟัน ๑, น้ำดื่มให้กรองก่อน ๑ ฯการเคี้ยวไม้ชำระฟัน มีประโยชน์ คือ
๑. ฟันไม่สกปรก
๒. ปากไม่เหม็น
๓. เส้นประสาทรับรสหมดจดดี
๔. เสมหะไม่หุ้มอาหาร
๕. ฉันอาหารมีรส ฯ

๖. ภิกษุไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ มีพระพุทธานุญาตไว้ในกรณีใดบ้างตอบ ๒ กรณี
๑. ในกรณีเข้าบ้าน มีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ
๑. คราวเจ็บไข้
๒. สังเกตเห็นว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ
๔. วิหาร คือ กุฎี คุ้มได้ด้วยดาล
๕. ได้รับอานิสงส์พรรษา
๖. ได้กรานกฐิน ฯ
๒. ในกรณีต้องไปค้างแรมที่อื่น มีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ
๑. ได้รับอานิสงส์พรรษา ๒. ได้กรานกฐิน ฯ

๗. ภิกษุใช้เครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์ปกปิดกายแทนจีวร จะผิดหรือไม่ อย่างไร
ตอบ อาจจะผิด หรือไม่ผิดก็ได้ แล้วแต่กรณี ถ้าไม่มีจีวร เนื่องจาก
๑. จีวรถูกลักไป ถูกโจรชิงไป ถูกไฟไหม้ นุ่งห่มผ้าของคฤหัสถ์ได้ ห้ามมิให้เปลือยกาย ถ้าไม่ปกปิด ต้องอาบัติทุกกฎ
๒. ไม่มีเหตุอันควร นุ่งห่มด้วยผ้าของคฤหัสถ์ ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ

๘. ขันธ์แห่งจีวร ประกอบด้วย อะไรบ้าง ทรงมีพระพุทธานุญาตไว้ อย่างไร
ตอบ ขันธ์แห่งจีวร ประกอบด้วย มณฑล อัฑฒมณฑล อัฑฒกุสิ และกุสิ ฯทรงมีพระพุทธานุญาตไว้ว่า จีวรผืนหนึ่ง ให้มีขันธ์ ไม่น้อยกว่า ๕ เกินกว่านั้น ใช้ได้แต่ให้เป็นขันธ์ที่เป็นเลขคี่ คือ ๗, ๙, ๑๑ เป็นต้น ฯ

๙. ภิกษุเปลือยกายด้วยอาการอย่างไรบ้าง ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติ และไม่ต้องอาบัติ
ตอบ ถ้าเปลือยกายเป็นวัตรอย่างเดียร์ถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเปลือยกายทำกิจแก่กัน คือ ไหว้ รับไหว้ ทำบริกรรม ให้ของ รับของ เปลือยกายในเวลาฉัน และดื่มต้องอาบัติทุกกฎ แต่ในเรือนไฟ และในน้ำ ไม่ต้องอาบัติ ฯ

๑๐. ในพระวินัย ทรงอนุญาตบาตรไว้กี่ชนิด อะไรบ้าง (๔๗) วิธีใช้วิธีรักษาบาตรที่ถูกต้อง คืออย่างไร
ตอบ ทรงอนุญาตไว้ ๒ ชนิด คือ บาตรดินเผา ๑ บาตรเหล็ก สุมดำสนิท ๑ ฯวิธีรักษาบาตร คือ ห้ามไม่ให้วางบาตร เก็บบาตรไว้ในที่ที่บาตรจะตกแตก และในที่จะประทุษร้ายบาตร ห้ามคว่ำบาตรไว้ที่พื้นคมแข็ง อันจะประทุษร้ายบาตร ห้ามไม่ให้แขวนบาตร ห้ามไม่ให้ใช้บาตรต่างกระโถน คือทิ้งก้างปลา กระดูก ทิชชู่ หรืออื่น ๆ อันเป็นเดนลงในบาตร ห้ามไม่ให้ล้างมือ หรือบ้วนปากลงในบาตร ไม่ควรเอามือเปื้อนจับบาตร ฉันแล้วให้ล้างบาตร ห้ามไม่ให้เก็บทั้งที่ยังเปียก ให้ผึ่งแดดก่อน ห้ามไม่ให้ผึ่งทั้งยังเปียก ให้เช็ดจนหมาดก่อนแล้วจึงผึ่ง ห้ามไม่ให้ผึ่งไว้นาน ให้ผึ่งได้ครู่หนึ่ง ฯ

๑๑. ภิกษุพึงใช้บริขารบริโภค และเครื่องอุปโภคอย่างไร จึงจะดูน่าเลื่อมใส ของประชาชน
ตอบ บริขารบริโภค และเครื่องอุปโภคพึงใช้นั้น ภิกษุควรใช้ของปอน หรือของเรียบ ๆไม่พึงใช้ของที่เรียกว่า โอ่โถง ความประพฤติปอนของภิกษุนี้ ย่อมยังความเลื่อมใสแก่คนบางพวก ที่เรียกว่า ลูขประมาณ แปลว่า มีของปอนเป็นประมาณ คือมีของปอนเป็นเหตุนับถือ ฯ

๑๒. บริขารเหล่านี้คือ ไตรจีวร ฟูกเตียง ที่นอน หมอนหนุนศีรษะ เตียง ผ้าปูนอนผ้าเช็ดหน้า ฟูกตั่ง เบาะ ผ้านิสีทนะ อย่างไหนจัดเป็นบริขารเครื่องบริโภคอย่างไหนจัดเป็นบริขารเครื่องเสนาสนะ
ตอบ ไตรจีวร ผ้าปูนอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้านิสีทนะ จัดเป็นบริขารเครื่องบริโภค ฟูกเตียงที่นอน หมอนหนุนศีรษะ เตียง ฟูกตั่ง เบาะ จัดเป็นบริขารเครื่องเสนาสนะ ฯ

๑๓. บริขารต่อไปนี้ ได้แก่อะไรบ้าง
๑. บริขารเครื่องบริโภค
๒. บริขารเครื่องอุปโภค
ตอบ บริขารเครื่องบริโภค ได้แก่ ไตรจีวร ผ้าปูนอน ผ้าเช็ดหน้า เช็ดปาก ผ้านิสีทนะบาตร ฯ
บริขารเครื่องอุปโภค ได้แก่ กล่องเข็ม เครื่องกรองน้ำ มีดโกนพร้อมทั้งฝัก หินสำหรับลับ กับเครื่องสะบัด ร่ม รองเท้า ฯ

๑๔. เหตุที่ควรถือเป็นประมาณ ๕ ประการ ให้บริขาร ขาดอธิษฐาน มีอะไรบ้าง

ตอบ เหตุที่ควรถือ มีดังนี้ คือ ให้แก่ผู้อื่น ๑, ถูกโจรชิงเอาไป หรือลักเอาไป ๑, มิตร
ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑, ถอนเสียจากอธิษฐาน ๑, เป็นช่องทะลุ ๑ ฯ

๑๕. ผ้าสังฆาฏิ คือผ้าอะไร มีหลักฐานความเป็นมาอย่างไร
ตอบ ผ้าสังฆาฏิ คือ ผ้าสำหรับห่มกันหนาว ห่มซ้อนนอก อนุญาตเพื่อใช้ในฤดูหนาว ฯมีเรื่องเล่าว่า ในฤดูหนาวจัด ทรงทดลองห่มจีวรผืนเดียวอยู่ในที่แจ้ง สามารถกันความหนาวได้ยามหนึ่ง ถ้าอยู่ตลอดราตรี ต้องผ้า ๓ ชั้น จึงพอกันความหนาวได้ จึงทรงอนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้นเข้ากับอุตตราสงค์ชั้นเดียว จะได้เป็น ๓ ชั้น พอกันความหนาวดังกล่าวได้ ฯ

๑๖. ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติสำหรับพระภิกษุผู้รับถือเสนาสนะของสงฆ์ ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะด้วยอาการอย่างไรบ้าง
ตอบ ควรเอาใจใส่รักษาอย่างนี้ คือ
๑. อย่าทำเปรอะเปื้อน
๒. ชำระให้สะอาด
๓. ระวังไม่ให้ชำรุด
๔. รักษาเครื่องเสนาสนะ
๕. ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ไว้ให้มีพร้อม
๖. ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่ง อย่าเอาไปใช้ในที่อื่นให้กระจัดกระจาย ฯ

๑๗. จงให้ความหมายของคำดังต่อไปนี้
ก. นิสสัย
ข. วัตร
ค. อุปัชฌายะ
ง. อาจารย์
จ. สัทธิวิหาริกวัตร
ตอบ ก. นิสสัย คือ กิริยาที่พึ่งพิง
ข. วัตร หมายถึง ขนบ คือ แบบอย่าง อันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ ในกิจนั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ
ค. อุปัชฌายะ คือ ภิกษุผู้รับให้สัทธิวิหาริกพึ่งพิง
ง. อาจารย์ คือ ภิกษุผู้รับให้อันเตวาสิกพึ่งพิง
จ. สัทธิวิหาริกวัตร คือ หน้าที่อันอุปัชฌายะ จะพึงทำแก่สัทธิวิหาริก

๑๘. คำว่า ถือนิสสัย หมายความว่าอะไร
ตอบ หมายความว่า ยอมตนอยู่ในความปกครองของพระเถระผู้มีคุณสมบัติ ควรปกครองตนได้ ยอมตนให้ท่านปกครองพึ่งพิงพำนักอาศัยท่าน ฯ

๑๙. จงเขียนคำขอนิสสัยอาจารย์ พร้อมทั้งคำแปล
ตอบ “อาจาริโย เม ภนฺเต โหหิ, อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ” ซึ่งแปลว่า “ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอยู่อาศัยท่าน” ฯ

๒๐. ในบาลี แสดงเหตุนิสัย จะระงับจากอุปัชฌาย์ไว้เท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ แสดงเหตุนิสัย จะระงับจากอุปัชฌาย์ไว้ ๕ ประการ คือ อุปัชฌาย์หลีกไปเสีย ๑,สึกเสีย ๑, ตายเสีย ๑, ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ๑, สั่งบังคับ ๑ ฯ

๒๑. ภิกษุผู้ควรจะได้นิสัย มุตตกะ ต้องมีคุณสมบัติ อย่างไรบ้าง
ตอบ ผู้ควรได้นิสัย มุตตกะ มีคุณสมบัติ ดังนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีสติ
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ฟังมาก มีปัญญา
๓. รู้จักอย่างไรเป็นอาบัติ อย่างไรมิใช่อาบัติ อย่างไรเป็นอาบัติเบา อย่างไรเป็นอาบัติหนัก จำปาติโมกข์ได้แม่นยำทั้งมีพรรษาได้ ๕ หรือยิ่งกว่า ฯ

๒๒. ภิกษุเช่นไร ชื่อว่า นวกะ มัชฌิมะ เถระ
ตอบ ภิกษุมีพรรษาไม่ถึง ๕ เรียกว่า นวกะภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง ๑๐ เรียก มัชฌิมะ
ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เรียกว่า เถระ ฯ

๒๓. อาจารย์ทางพระวินัย ตามนัยอรรถกถา มีเท่าไร อะไรบ้าง อาจารย์เหล่านั้นทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร
ตอบ มี ๔ คือ ปัพพชาจารย์ ทำหน้าที่ให้สรณคมน์ เมื่อบรรพชา ๑, อุปสัมปทาจารย์ทำหน้าที่สวดกรรมวาจา เมื่ออุปสมบท ๑, นิสสยาจารย์ ทำหน้าที่ให้นิสสัย ๑ และอุทเทสาจารย์ ทำหน้าที่สอนธรรม ๑ ฯ

๒๔. อุปัชฌาย์ประณามสัทธิวิหาริก ผู้ประพฤติมิชอบ ด้วยเหตุอะไรบ้าง
ตอบ ด้วยเหตุดังนี้ คือ หาความรักใคร่ ในอุปัชฌาย์มิได้ ๑, หาความเลื่อมใสมิได้ ๑,หาความละอายมิได้ ๑, หาความเคารพมิได้ ๑, หาความหวังดีต่อมิได้ ๑ ฯ

๒๕. สัทธิวิหาริก คือใคร อุปัชฌาย์ควรมีใจเอื้อเฟื้อสัทธิวิหาริกของตนอย่างไรบ้าง พระอุปัชฌาย์ และสัทธิวิหาริก พึงปฏิบัติต่อกันอย่างไร จึงจะเกิดความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย
ตอบ คือ ภิกษุผู้พึ่งพิง ในการอุปสมบท ภิกษุถือภิกษุรูปใดเป็นอุปัชฌาย์ ก็เป็นสัทธิวิหาริกของภิกษุรูปนั้น ฯ
อุปัชฌาย์ควรมีใจเอื้อเฟื้อสัทธิวิหาริกของตนอย่างนี้ คือ
๑. เอาใจใส่ในการศึกษาของสัทธิวิหาริก
๒. สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ ถ้าของตน ไม่มีก็ขวนขวายหาให้
๓. ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสีย อันจักเกิดมีหรือได้มีแล้ว แก่สัทธิวิหาริก
๔. เมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ ทำการพยาบาล ฯพระอุปัชฌาย์ และสัทธิวิหาริก พึงปฏิบัติต่อกัน เยี่ยงบิดาและบุตร จึงจะเกิดความเจริญในพระธรรมวินัย ฯ

 

๒๖. อาการที่อุปัชฌาย์ ประณามสัทธิวิหาริก พึงทำอย่างไร
ตอบ พึงพูดให้รู้ว่า ตนไล่เธอเสีย ในบาลีแสดงไว้ว่า เราประณามเธอ เธออย่าเข้ามาณ ที่นี้ จงขนบาตร จีวร ของเธอออกไปเสีย หรือเธอไม่ต้องอุปัฏฐากเราดังนี้ หรือแสดงอาการทางกาย ให้รู้อย่างนั้นก็ได้ ฯ

๒๗. กิจวัตรที่สัทธิวิหาริก ควรกระทำแก่พระอุปัชฌายะ ในข้อว่า เคารพในท่านนั้น ในบาลี ท่านแสดงไว้อย่างไร
ตอบ ในบาลีแสดงการเดินตามท่าน ไม่ให้ชิดนัก ไม่ให้ห่างนัก และไม่พูดสอด ในขณะที่ท่านกำลังพูด เมื่อท่านพูดผิด ไม่ทัก หรือค้านตรง ๆ พูดอ้อม พอให้ท่านได้สติ ฯ

๒๘. เมื่อภิกษุเพื่อนสหธรรมิกอาพาธ ทรงให้ใครเป็นผู้พยาบาล และทรงสั่งสอนปรารภภิกษุอาพาธไว้ว่าอย่างไร
ตอบ ทรงให้ภิกษุเพื่อนสหธรรมิกเอาใจใส่รักษาพยาบาลกันเอง อย่าทอดธุระเสีย ฯทรงสั่งสอนปรารภภิกษุอาพาธไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดาของเธอทั้งหลายไม่มี ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเองแล้วไซร้ ใครเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ภิกษุใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเรา ขอให้ภิกษุนั้นพยาบาลภิกษุไข้เถิด ฯ

๒๙. ภิกษุอยู่จำพรรษาแล้ว มีเหตุให้ไปที่อื่น คิดว่าจะกลับมาทันภายในวันนั้นมิได้ผูกใจสัตตาหะไว้ แต่มีเหตุขัดข้องให้กลับถึงเมื่ออรุณขึ้นเสียแล้ว เช่นนี้พรรษาขาดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ ถ้าไปด้วยธุระที่ทรงอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ พรรษาไม่ขาด เพราะยังอยู่ในพระพุทธานุญาตนั้นเอง ทั้งจิตคิดจะกลับก็มีอยู่ ถ้าไปด้วยมิใช่ธุระที่เป็นสัตตาหกรณียะ พรรษาขาด ฯ

๓๐. ในการทำอุโบสถสวดปาติโมกข์นั้น มีบุพพกิจอะไรบ้าง และภิกษุอาจต้องอาบัติถุลลัจจัยด้วยเรื่องอะไรได้บ้าง
ตอบ มีบุพพกิจดังนี้ นำปาริสุทธิของภิกษุผู้อาพาธมา นำฉันทะของเธอมาด้วย บอกฤดู นับภิกษุ สั่งสอนนางภิกษุณี ฯภิกษุอาจต้องอาบัติถุลลัจจัย ในเรื่องที่ว่า รู้อยู่ว่าจะมีภิกษุอื่นมาร่วมทำอุโบสถด้วยอีกแต่นึกเสียว่า ช่างปะไร แล้วสวด ฯ

๓๑. การตั้งญัตติกรรม ในเวลาทำอุโบสถ มีคำว่า ปตฺตกลฺลํ แปลว่า ความพรั่งพร้อมนั้น หมายความว่าอย่างไร
ตอบ ความพรั่งพร้อม หมายความว่า การทำอุโบสถกรรมนั้น ต้องประกอบด้วยองค์
๔ คือ ๑. วันนั้น เป็นวันอุโบสถที่ ๑๔ หรือ ๑๕ หรือวันสามัคคี วันใดวันหนึ่ง
๒. ภิกษุประชุมครบองค์ประชุม
๓. พวกเธอไม่ต้องสภาคาบัติ
๔. บุคคลที่ควรเว้น ไม่มีในที่ประชุม ฯ

๓๒. ในอาวาสแห่งหนึ่ง มีภิกษุจำพรรษาแรก ๔ รูป พรรษาหลัง ๒ รูป เมื่อถึงวันปวารณาแรก เพ็ญเดือน ๑๑ และวันปวารณาหลัง เพ็ญ เดือน ๑๒ เธอทั้ง ๖
รูปนั้น จะปฏิบัติอย่างไร (๔๗)

ตอบ เมื่อถึงวันปวารณาแรก พึงประชุมกันทั้ง ๖ รูป ตั้งสังฆญัตติ ภิกษุผู้จำพรรษาแรก ๔ รูป พึงปวารณา เมื่อเสร็จแล้ว ภิกษุอีก ๒ รูป พึงทำปาริสุทธิอุโบสถ ในสำนักภิกษุ ๔ รูปนั้น เมื่อถึงวันปวารณาหลัง พึงประชุมกัน ๖ รูป เช่นเดียวกัน แล้วภิกษุผู้จำพรรษาแรก ๔ รูป พึงตั้งญัตติสวดปาติโมกข์ เมื่อจบแล้ว ภิกษุ ๒ รูป พึงปวารณาในสำนักภิกษุ ๔ รูปนั้น ฯ

๓๓. วิธีวัตร คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ตอบ วิธีวัตร คือ วินัยที่ว่าด้วยแบบอย่าง เช่นแบบอย่างการห่มผ้า เป็นต้น ฯมีความสำคัญเพื่อเป็นเหตุให้ภิกษุมีความประพฤติสม่ำเสมอกัน แม้แบบอย่างใดล้าสมัย ก็ต้องมีแบบอย่างใหม่ขึ้นมาแทน มิฉะนั้นแบบอย่างทั้งหลาย ก็จะค่อยถูกลดเลิกไป จนภิกษุ ไม่มีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ดังนี้ ฯ

๓๔. ภิกษุเข้าไปในเจติยสถาน ควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ควรปฏิบัติอย่างนี้ คือ ไม่กั้นร่ม ไม่สวมรองเท้า ไม่ห่มคลุมเข้าไป ไม่แสดงอาการดูหมิ่นต่าง ๆ เช่น พูดเสียงดัง และนั่งเหยียดเท้า เป็นต้น ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และไม่ถ่มเขฬะ ในลานพระเจดีย์ ฯ

๓๕. ภิกษุพบพระเถระ ในเวลาเข้าบ้าน หรือเดินอยู่ตามทาง ควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ไม่ควรไหว้ ควรหลีกทาง ลุกรับ และให้อาสนะแก่ท่าน ฯ

๓๖. วัตร ๓ หรือ วตฺตสมฺปนฺโน  คืออะไรบ้าง ภิกษุเหยียบผ้าขาว อันเขาลาดไว้ในที่นิมนต์ ผิดวัตรข้อไหน มีโทษให้เกิดความเสียหายอย่างไร
ตอบ วัตร ๓ คือ กิจวัตร ๑, จริยาวัตร ๑ วิธีวัตร ๑ ฯผิดวัตรข้อจริยาวัตร ฯมีโทษให้เกิดความเสียหาย คือ เป็นการเสียมารยาทของพระ ไม่ระวังกิริยา ทำให้ผ้าขาวมีรอยเปื้อนสกปรกน่ารังเกียจ แม้ภิกษุพวกเดียวกันจะนั่ง ก็รังเกียจ ขยะแขยงเป็นที่ตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย และอาจถูกพุทธบริษัทติเตียน ฯ

๓๗. ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ไปสู่อาวาสอื่น พึงประพฤติให้ถูกขนบธรรมเนียม
อย่างไร
ตอบ พึงประพฤติ ดังนี้
๑. ทำความเคารพในท่าน
๒. แสดงความเกรงใจเจ้าของถิ่น
๓. แสดงอาการสุภาพ
๔. แสดงอาการสนิทสนมกับเจ้าของถิ่น
๕. ถ้าจะอยู่ที่นั่น ควรประพฤติให้ถูกธรรมเนียมเจ้าของถิ่น
๖. ถือเสนาสนะแล้ว อย่าดูดาย เอาใจใส่ ชำระ ปัดกวาด ให้หมดจด จัดตั้งเครื่องเสนาสนะ ให้เป็นระเบียบ ฯ

๓๘. ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลปสาทโก ผู้ยังตระกูล ให้เลื่อมใส” เพราะมีปฏิปทา อย่างไร

ตอบ เพราะมีปฏิปทาอย่างนี้ คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระ ไม่ทอดตนเป็นคนสนิท
ของสกุล โดยฐานเป็นคนเลว และอีกอย่างหนึ่ง ไม่รุกรานตัดรอนเขา แสดงเมตตาจิต
ต่อเขา ประพฤติพอดีพองาม ยังความเลื่อมใสนับถือของเขาให้เกิดในตน ฯ

๓๙. ดิถีที่กำหนดให้เข้าจำพรรษา ในบาลีกล่าวไว้เท่าไร อะไรบ้าง (๔๕)
ตอบ กล่าวไว้ ๒ คือ
๑. ปุริมิกา วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาต้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
๒. ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ฯ

๔๐. ภิกษุผู้เข้าไปรับบิณฑบาตในละแวกบ้าน พึงประพฤติให้ถูกธรรมเนียมเช่นไร
ตอบ พึงประพฤติอย่างนี้ ๑. นุ่งห่มให้เรียบร้อย
๒. ถือบาตรไว้ภายในจีวร
๓. สำรวมกิริยาให้เรียบร้อย
๔. กำหนดทางเข้าทางออกแห่งบ้าน
๕. รับบิณฑบาตด้วยอาการสำรวม ฯ

๔๑. การแสดงความเคารพ ได้แก่ กิริยาเช่นไร ภิกษุควรงดทำความเคารพกันใน
เวลาใดบ้าง จงตอบมา ๕ ข้อ
ตอบ การแสดงความเคารพ ได้แก่ การกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม ฯ
ภิกษุควรงดทำความเคารพกันในเวลาต่อไปนี้
๑. ในเวลาประพฤติวุฏฐานวิธี คือ อยู่กรรม เพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส
๒. ในเวลาถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
๓. ในเวลาเปลือยกาย
๔. ในเวลาเข้าบ้าน หรือเดินอยู่ตามทาง
๕. ในเวลาอยู่ในที่มืด แลไม่เห็นกัน
๖. ในเวลาที่ท่านไม่รู้
๗. ในเวลาขบฉันอาหาร
๘. ในเวลาถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ฯ

๔๒. อีก ๗ วัน จะถึงวันปวารณา ภิกษุทำสัตตาหกรณียะ ไปปวารณาที่วัดอื่น เธอจะได้รับอานิสงส์การจำพรรษาหรือไม่ เพราะเหตุไร
ตอบ ได้รับอานิสงส์ การจำพรรษาเหมือนกัน เพราะวันสุดท้ายแห่งวันจำพรรษา ตกอยู่ในวันที่ ๗ ในที่อื่นบ่งให้กลับใน ๗ วันนั้นเพราะยังไม่สิ้นกำหนดวันจำพรรษา ฯ

๔๓. สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร
ตอบ คือ อาบัติที่ภิกษุต้องเหมือนกัน เพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน ไม่สามารถปลงอาบัติกันเอง กับผู้ที่ล่วงสิกขาบทเดียวกันได้ ฯ

๔๔. การจำพรรษาของภิกษุมีวิธีอย่างไร จงอธิบายพอเข้าใจ  การอธิษฐานเข้าพรรษา กับการปวารณาออกพรรษา ทั้ง ๒ นี้ อย่างไหน กำหนดด้วยสงฆ์เท่าไร และกำหนดเขตอย่างไร  ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาไม่ขาด ย่อมได้อานิสงส์เท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ การจำพรรษานั้น ในบาลีกล่าวไว้เพียงให้ทำอาลัย คือ ผูกใจว่าจะอยู่ที่นี่ เป็นเวลา ๓ เดือน ปัจจุบัน มีธรรมเนียมที่ประชุมกัน กล่าวคำอธิษฐานพร้อมกันว่าอิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เราเข้าถึงฤดูฝนในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือนการอธิษฐานเข้าพรรษา ไม่เป็นสังฆกรรม จึงไม่กำหนดด้วยสงฆ์ แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอธิษฐานเข้าพรรษาพร้อม ๆ กัน จะอธิษฐานที่ไหนก็ได้ แต่ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาในที่ไม่สมควรเท่านั้น เช่น ในโพรงไม้ บนคาคบไม้ ในตุ่ม กระท่อมผี เป็นต้น ฯและให้กำหนดบริเวณอาวาสเป็นเขต ฯส่วนการปวารณาออกพรรษา เป็นสังฆกรรม กำหนดด้วยสงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ฯ
และกำหนดให้ทำภายในเขตสีมา ถ้าต่ำกว่า ๕ รูป ท่านให้ปวารณาเป็นการคณะ ถ้ารูปเดียว ให้อธิษฐานเป็นการบุคคล ฯภิกษุผู้ไม่ขาดพรรษา ย่อมได้อานิสงส์ ๕ คือ เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ๑, เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ ๑, ฉันคณโภชน์ และปรัมปรโภชน์ได้ ๑, เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๑, จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น จักเป็นของได้แก่พวกเธอ ๑ ฯ

๔๕. ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาตลอด ๔ เดือน ตลอดฤดูฝนนั้น เพราะเหตุไร
ตอบ เพราะต้องการเดือนท้ายฤดูฝนไว้เป็นจีวรกาล คราวแสวงหาจีวร คราวทำจีวร
เพื่อผลัดผ้าไตรจีวรเดิม ฯ

๔๖. กำลังสวดปาติโมกข์ค้างอยู่ หากมีภิกษุอื่นมาถึงเข้า จะปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ถ้าภิกษุผู้เข้ามาใหม่มากกว่า ภิกษุ ผู้ชุมนุมต้องสวดตั้งต้นใหม่ ถ้าเท่ากัน หรือ
น้อยกว่า ส่วนที่สวดไปแล้วก็ให้เป็นอันสวดแล้ว ให้เธอผู้มาใหม่ฟังส่วนที่ยังเหลือ
ต่อไป ฯ

๔๗. ปวารณา คืออะไร มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุเช่นไรทำปวารณาได้ และทำในวันไหน  วันปวารณา และอาการที่กระทำ คืออะไรบ้าง การตั้งญัตติในสังฆปวารณา มีกี่อย่าง อะไรบ้าง  ภิกษุจำพรรษา ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ รูปเมื่อถึงวันปวารณา พึงปฏิบัติอย่างไร  เหตุให้เลื่อนปวารณาได้ มีกี่อย่างอะไรบ้าง
ตอบ ปวารณา คือการบอกให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลาย สามารถตักเตือนว่ากล่าวตนได้มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ทำปวารณาแทนอุโบสถ ฯทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันเต็ม ๓ เดือนแต่วันจำพรรษา ฯวันปวารณา มี ๓ คือ จาตุททสี ที่ ๑๔ ค่ำ ๑, ปัณณรสี ที่ ๑๕ ค่ำ ๑, สามัคคี วันที่
ภิกษุสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ๑ ฯอาการที่กระทำ มี ๓ คือ ปวารณาต่อที่ประชุม ๑, ปวารณากันเอง ๑, อธิษฐานใจ ๑การตั้งญัตติในสังฆปวารณา มี ๕ อย่าง คือ เตวาจิกาญัตติ ๑, เทววาจิกาญัตติ ๑,เอกวาจิกาญัตติ ๑, สมานวัสสิกาญัตติ ๑, สัพพสังคาหิกาญัตติ ๑ ฯพึงปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุ ๑ รูป พึงอธิษฐานเป็นการบุคคล, ภิกษุ ๒, ๓, ๔ รูป พึงทำคณะปวารณา, ภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป พึงทำสังฆปวารณา ฯมี ๒ อย่าง คือ ภิกษุจะเข้ามาสมทบปวารณาด้วย ด้วยหมายจะคัดค้านผู้นั้นผู้นี้ ทำให้เกิดอธิกรณ์ขึ้น ๑, อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ปวารณาแล้ว ต่างจะจากกันจาริกไปเสีย ๑ ฯ

๔๘. ในการทำอุโบสถของภิกษุ การสวดปาติโมกข์ การบอกความบริสุทธิ์ และการอธิษฐาน ทรงให้ทำได้ในกรณีใด  คำบอกปาริสุทธิ ว่าอย่างไร
ตอบ ในกรณีที่มีภิกษุประชุมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ตรัสให้สวดปาติโมกข์, ถ้ามีเพียง ๓รูป ๒ รูป เรียกว่า คณะ ตรัสให้บอกความบริสุทธิ์ของตนแก่กันและกัน เรียกว่า คณอุโบสถ และปาริสุทธิอุโบสถ, ถ้ามีรูปเดียว เรียกว่า บุคคล ให้อธิษฐานใจ ว่า อชฺช เมอุโปสโถ จตุทฺทโส (ปณฺณรโส) คือ คิดว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ (๑๕ ค่ำ) ของเราเรียกว่า อธิษฐานอุโบสถ ฯสำหรับผู้แก่พรรษากว่า ว่า “ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า ๓ หนสำหรับผู้อ่อนพรรษากว่า ว่า “ปริสุทฺโธ อหํ ภนฺเต ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ” ว่า ๓ หน ฯ

๔๙. ภิกษุ พึงประชุมกัน สวดพระปาติโมกข์ ในวันเช่นไรบ้าง
ตอบ ในวันพระจันทร์เพ็ญ (ดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ) วันพระจันทร์ดับ (ดิถี แรม ๑๕ ค่ำ หรือ๑๔ ค่ำ) และวันสามัคคี ฯ๕๐. ความรู้ในการทำเสน่ห์ให้ชายหญิงรักกัน จัดเป็นดิรัจฉานวิชาเพราะเหตุไร ติรัจฉานวิชาไม่ดีอย่างไร พระศาสดาจึงตรัสห้ามไว้ ไม่ให้บอกไม่ให้เรียน
ตอบ จัดเป็นดิรัจฉานวิชา เพราะเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมวินัยของภิกษุ ติรัจฉานวิชา คือ ความรู้อันเป็นเหตุขวางมรรคผลนิพพาน ไม่ดีเพราะเป็นเหตุให้บุคคลทั่วไปสงสัยว่า ลวง หรือหลง ไม่ใช่ความรู้จริงจัง ผู้บอกเป็นผู้ลวง ผู้เรียนก็เป็นผู้หัดเพื่อจะลวง หรือเป็นผู้หลงงมงาย ฉะนั้นพระศาสดาจึงตรัสห้ามไว้ ไม่ให้บอก ไม่ให้เรียน ฯ

๕๑. วินัยกรรม คืออะไร มีกี่อย่าง อะไรบ้าง การทำวินัยกรรม มีจำกัดบุคคลหรือสถานที่ไว้อย่างไรบ้าง คำว่า อธิษฐานในวินัยกรรม คืออะไร ผ้าสังฆาฏิผืนเดิมเก่าขาดใช้ไม่ได้ จะเปลี่ยนใหม่ พึงปฏิบัติอย่างไร
ตอบ วินัยกรรม คือ การทำกิจตามพระวินัย ฯมี ๓ อย่าง คือ การแสดงอาบัติ ๑, การอธิษฐาน ๑, การวิกัป ๑ ฯ
การทำวินัยกรรม มีจำกัดบุคคล หรือสถานที่ ดังนี้
๑. แสดงอาบัติ ต้องแสดงแก่ภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน
๒. อธิษฐาน ต้องทำเอง
๓. วิกัป ต้องทำแก่สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร
สามเณรี รูปใดรูปหนึ่ง ฯส่วนสถานที่ ห้ามไม่ให้ทำในที่มืด แต่ในที่นอกสีมา ก็ทำได้ ฯอธิษฐานในวินัยกรรม คือการตั้งบริขารที่ทรงอนุญาต สำหรับภิกษุเอาไว้ใช้ส่วนตัว ฯพึงทำพินทุผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ว่า อิมํ พินฺทุกปฺปํ กโรมิ เราทำหมายด้วยจุดนี้ แล้วปัจจุทธรณ์ คือยกเลิกผ้าสังฆาฏิเดิมว่า อิมํ สงฺฆาฏึ ปจฺจุทฺธรามิ เรายกเลิกผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ต่อจากนั้นอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ว่า อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ เราตั้งเอาไว้ซึ่งผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ฯ

๕๒. วินัยกรรม กับสังฆกรรม ต่างกันอย่างไร
ตอบ ต่างกันอย่างนี้ กรรมที่ภิกษุแต่ละรูปหรือหลายรูป จะพึงกระทำตามพระวินัยเช่น การแสดงอาบัติ อธิษฐาน วิกัป เป็นต้น เรียกว่า วินัยกรรม, กรรมที่ภิกษุครบองค์สงฆ์ จตุวรรค เป็นต้น พึงทำเป็นการสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม เป็นต้นเรียกว่า สังฆกรรม ฯ

๕๓. วิบัติของภิกษุ ในทางพระวินัย มีเท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ วิบัติของภิกษุ มี ๔ อย่าง คือ ความเสียแห่งศีล ชื่อว่า สีลวิบัติ ๑, ความเสียมารยาท ชื่อว่า อาจารวิบัติ ๑, ความเห็นผิดธรรม ผิดวินัย ชื่อว่า ทิฏฐิวิบัติ ๑, ความเสียแห่งการเลี้ยงชีพ ชื่อว่า อาชีววิบัติ ๑ ดังนี้ ฯ

๕๔. ยาวกาลิก กับยาวชีวิก ต่างกันอย่างไร
ตอบ ยาวกาลิก คือ ของที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร บริโภคได้ชั่วคราว คือตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ โภชนะ ๕ นมสด นมส้ม ของขบเคี้ยว เป็นต้นส่วนยาวชีวิก เป็นของที่ให้ประกอบเป็นยา บริโภคได้เสมอ ไม่จำกัดเวลา เมื่อมีเหตุจึงบริโภคได้ เช่น รากไม้ น้ำฝาด ใบไม้ ผลไม้ ยางไม้ เกลือ เป็นต้น ฯ

๕๕. สัตตาหกรณียะ และ สัตตาหกาลิก มีอธิบายไว้อย่างไร
ตอบ มีอธิบายไว้ว่า คือภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ไปแรมคืนที่อื่น ด้วยกิจจำเป็นบางอย่างแต่กลับมาภายใน ๗ วัน เรียกว่า ไปด้วยสัตตาหกรณียะ หรือ สัตตาหะ ฯสัตตาหกาลิก คือของที่รับประเคนแล้ว เก็บไว้บริโภคได้ ๗ วัน ฯ

๕๖. ภิกษุบิณฑบาตได้สับปะรดแล้ว นำมาฉันรวมกับน้ำตาลทราย และเกลือ ซึ่งรับประเคนไว้แล้ว ๒ วัน จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่ เพราะเหตุไร
ตอบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะน้ำตาลทรายเป็นสัตตาหกาลิก เกลือเป็นยาวชีวิกเมื่อนำมาฉันรวมกับสับปะรดซึ่งเป็นยาวกาลิก จึงมีคติเป็นยาวกาลิก ทำให้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันของเป็นสันนิธิ ฯ

๕๗. อโคจร คืออะไร มีอะไรบ้าง
ตอบ อโคจร คือ บุคคล หรือ สถานที่ ที่ภิกษุไม่ควรไปสู่ ฯหญิงแพศยา ๑, หญิงหม้าย ๑, สาวเทื้อ ๑, ภิกษุณี ๑, บัณเฑาะก์ ๑, ร้านสุรา ๑ ฯ

๕๘. ภัณฑะเช่นไร ที่จัดเป็นของสงฆ์ กำหนดไว้กี่ประเภท อะไรบ้าง บิณฑบาต กุฎีที่ดิน จีวร ประคดเอว และเสนาสนะ เป็นภัณฑะประเภทไหน
ตอบ ภัณฑะที่เขาถวายเป็นสาธารณะแก่หมู่ภิกษุ ไม่เฉพาะตัว หรือ ภัณฑะอันภิกษุรับก็ดี ปกครองหวงห้ามไว้ก็ดี ด้วยความเป็นสาธารณะ แก่หมู่ภิกษุ จัดเป็นของสงฆ์ฯกำหนดไว้ ๒ ประเภท คือ ครุภัณฑ์ ๑, ลหุภัณฑ์ ๑ ฯบิณฑบาต จีวร ประคดเอว จัดเป็นลหุภัณฑ์กุฎี ที่ดิน และเสนาสนะ จัดเป็นครุภัณฑ์ ฯ

๕๙. มหาปเทส คืออะไร น้ำตาลสด มิได้ทรงอนุญาตไว้โดยตรง ให้ภิกษุฉันได้เหมือนน้ำอ้อย แต่ฉันได้เพราะอะไร จงตอบให้มีหลัก
ตอบ มหาปเทส คือ ข้อสำหรับอ้างใหญ่ ฯแม้มิได้ทรงอนุญาตโดยตรงให้ภิกษุฉันได้ก็จริง แต่เพราะน้ำตาลสด เป็นของมีรสหวาน สำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกันกับรสหวานแห่งอ้อย ชื่อว่าเป็นของเข้ากันกับรสหวานแห่งอ้อย ดังมีระบุไว้ในมหาปเทส ๔ ข้อว่า สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดกันต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร ฯ

๖๐. อุททิสมังสะได้แก่เนื้อเช่นไร ภิกษุฉันเนื้องู เนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติอะไร
ตอบ อุททิสมังสะ ได้แก่เนื้อที่เป็นกัปปิยะโดยกำเนิด และเขาทำให้สุกแล้ว แต่เป็นของที่เขาฆ่า เพื่อทำเป็นอาหาร ถวายพระภิกษุโดยตรง ฯภิกษุฉันเนื้องู ต้องอาบัติทุกกฎ ฉันเนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ

๖๑. การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ เรียกว่าอะไร มีกี่อย่าง อะไรบ้าง
ตอบ เรียกว่า อุปปถกิริยา มี ๓ อย่าง คือ อนาจาร ความประพฤติไม่ดีไม่งาม ๑,
ปาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม ๑, อเนสนา ความเลี้ยงชีพไม่สมควร ๑ ฯ

๖๒. ความประพฤติต่อไปนี้ จัดเข้าในอุปปถกิริยาข้อไหน
๑. ชอบเล่นคะนอง ร้องรำทำเพลง
๒. ชอบด่าว่า เสียดสี เปรียบเปรยเขา ยุยงให้เขาแตกกัน
ตอบ ๑. จัดเข้าในข้ออนาจาร ความประพฤติไม่ดี ไม่งาม ฯ
๒. จัดเข้าในข้อบาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม ฯ

๖๓. ภิกษุไม่สังวรในอุปปถกิริยา จะพึงได้รับโทษอย่างไรบ้าง
ตอบ ปรับเป็นอาบัติทุกกฎ และเป็นฐานที่สงฆ์ จะพึงลงโทษ ๔ สถาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามโทษานุโทษ คือ
๑. ตัชชนียกรรม ตำหนิโทษ
๒. นิยสกรรม ถอดยศ คือ ถอดความเป็นใหญ่
๓. ปัพพาชนียกรรม ขับไล่จากวัด
๔. ปฏิสารณียกรรม ให้หวนระลึกถึงความผิด ฯ

๖๔. ในบาลี แสดงลักษณะการถือวิสาสะไว้อย่างไรบ้าง
ตอบ แสดงไว้อย่างนี้
๑. เป็นผู้เคยได้เห็นกันมา
๒. เป็นผู้เคยคบกันมา
๓. ได้พูดกันไว้
๔. ยังมีชีวิตอยู่
๕. รู้ว่าของนั้นเราถือเอาแล้ว เจ้าของจักพอใจ ฯ

๖๕. อเนสนาคืออะไร ภิกษุทำอเนสนา ต้องอาบัติอะไรบ้าง  การแสวงหาเช่นไร จัดเป็นโลกวัชชะ มีโทษทางโลก เช่นไรจัดเป็นปัณณัตติวัชชะ มีโทษทางพระบัญญัติ
ตอบ อเนสนา คือ กิริยาที่แสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร ฯภิกษุทำอเนสนา สามารถต้องอาบัติ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ และทุกกฎแล้วแต่มูลความผิด ฯการแสวงหาในทางบาป เช่น ทำโจรกรรม และหลอกลวงให้เขาเชื่อถือ และในทางที่โลกเขาดูหมิ่น จัดเป็นโลกวัชชะ ฯการแสวงหาในทางผิดธรรมเนียมภิกษุ แม้ไม่มีโทษแก่คนพวกอื่น จัดเป็นปัณณัตติวัชชะ ฯimages9

อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมานุสาเสยฺย น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต.
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน
สอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง.(พุทฺธ) ขุ. ธ. ๒๕/๓๖.
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.
คนมีปัญญาดี ไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อ
ผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้ง (คนโง่) เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งม้าไม่มีกำลังไปฉะนั้น.
(พุทฺธ) ขุ. ธ. ๒๕/๑๘,๑๙.
โลโภ โทโส จ โมโห จ ปุริสํ ปาปเจตสํ
หึสนฺติ อตฺตสมฺภูตา ตจสารํว สมฺผลํ.
โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว
ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น
(พุทฺธ) ขุ. อิติ. ๒๕/๒๖๔. ขุ. มหา. ๒๙/๑๘.
นิทฺทํ น พหุลีกเรยฺย ชาคริยํ ภเชยฺย อาตาปี
ตนฺทึ มายํ หสฺสํ ขิฑฺฑํ เมถุนํ วิปฺปชเห สวิภูสํ.
ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงเสพธรรมเครื่องตื่น พึงละความเกียจคร้าน
มายา ความร่าเริง การเล่น และเมถุน พร้อมทั้งเครื่องประดับเสีย.
(พุทฺธ) ขุ. สุ. ๒๕/๕๑๕. ขุ. มหา. ๒๙/๔๕๗,๔๖๐.

0 comments :

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013