ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล
ผู้ที่ไม่รู้จักบุญ และบาปนั้น มาทำความเข้าใจว่า บวชรักษาข้อวัตร รักษาศีลเอาบุญ บุญนั้นมีอยู่นอกตนนอกตัว มีอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ เมื่อบวชได้รักษากิจวัตรแล้ว บุญนั้นจักเลื่อนลอยมา จากสถานที่ต่างๆ มีนภาลัย เวหากาศ เป็นต้น มานำเอาตัวขึ้นไปสู่สวรรค์ แลพระนิพพาน เห็นไปโดยผิดทางเช่นนี้ ล้วนแต่เป็นคนหลงทั้งสิ้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป เข้าใจว่าบาปนั้นอยู่นอกตนนอกตัว เมื่อทำบาปแล้ว บาปนั้นก็จะลุกมา แต่นรกใต้พื้นดิน มาจับกุมคุมเอาตัวลงไปสู่นรก การทำความเข้าใจอย่างนี้ ย่อมเป็นคนหลงทั้งนั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขก็ดีทุกข์ก็ดี บาปบุญคุณโทษก็ดี ย่อมอยู่ที่เรา จะเข้าใจว่า บาปบุญอยู่ภายนอกตัว ทำบุญแล้วคอยท่านบุญ จักมานำเอาตัวไปสู่สุคติ คิดอย่างนี้ ตั้งร้อยชาติแสนชาติ ก็ไม่อาจได้ อันว่าบุญบาป สุขทุกข์ย่อมไม่มี ณ ภายนอกตัว บุญกุศลแลความสุขนั้น ก็คือดวงจิต ส่วนบาปกรรม ทุกข์โทษนั้น คือหมู่แห่งตัณหา ตัณหานั้นจักมี ณ ที่อื่นนอกจากตัวตนของเราแล้ว ไม่มี ตัวบุญแลตัวบาป ก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัวไม่ชอบทุกข์ อยากได้ความสุข ก็จงพยายาม แก้ใจของเรานั้นเถิด ถ้าเราไม่เป็นผู้แสวงหาความสุข และให้พ้นจากทุกข์แล้ว ใครเขามาช่วยตัวเรา ให้พ้นจากทุกข์ ให้ได้รับความสุขได้เล่า เพราะสุขทุกข์ อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราหามิได้แล้ว ใครคนอื่นที่ไหน เขาจะมาหาให้เราได้ (บทนี้บอกถึง หน้าตาของบุญและบาป ที่แท้จริง ผู้นับถือศาสนาพุทธบางคน รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ยังมีความเข้าใจ เรื่องบุญบาปสวรรค์นรก คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาตมาเอง ก็มีความเข้าใจไม่ชัดเจน มีแต่ใช้สัญญา (ความจำ) มาตลอด ก็ถ่ายทอดไปทั้งดุ้น ตามที่ได้ฟังมา ก็ยังโชคดี ที่ถ่ายทอดไปไม่ผิด มาถึงบางอ้อจาก พระสูตรนี้เอง ที่ว่าบุญ เกิดตั้งแต่คิดจะทำ ก็คือขณะที่คิดนั้น กิเลสโลภะ - ความโลภมันลด จริงไหม ที่ว่าทำบุญเมื่อไหร่ ได้บุญเมื่อนั้น ก็ทำบุญเมื่อไหร่ ความโลภมันน้อยลง เมื่อนั้นใช่หรือไม่ ที่ว่าเขาจะเอา ปัจจัยไทยทานของเรา ไปทำอะไร ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรา หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะบุญเกิดไปแล้ว ก็ถูกอีก เพราะเขาเอาไปทำอะไร ก็ไม่มีผลอะไร กับกิเลสของเรา มีผลก็แต่ กำลังใจของเราเท่านั้น คือถ้างานมันสำเร็จสมหวัง มันก็บังเกิดปีติ ชื่นใจ มีกำลังใจทำบุญ ทำกุศลต่อไป ตรงข้าม ถ้าเกิดเหตุการณ์ อย่างสมเด็จเหนือหัว คนทำบุญก็ทดท้อ ไม่อยากทำบุญอีก เป็นต้น แต่ถ้าทำกำลังใจ ถูกต้องแต่แรก ก็ได้บุญไปเรียบร้อย ถ้าไปคิดว่าที่เขาเอาเงินเราไป ไปทำอะไรก็ไม่รู้ วัตถุมงคล ก็ไม่รู้พิธีกรรมถูกต้องหรือเปล่า เจ็บใจเหลือเกินที่ถูกหลอก นี่ก็ขาดทุน ๒ ต่อเลย เสียทั้งเงินและไม่ได้บุญ ตามคำบอกของคน ที่ได้ทิพยจักขุญาณ ท่านแสดงไว้ว่า สมมติว่าทำวิหารทาน เพื่อจะได้มีวิมานในสวรรค์ ทำปุ๊บวิมานเกิดเลย ไม่ใช่ว่าสิ่งก่อสร้าง ที่เราไปช่วยเขาสร้าง สำเร็จแล้ววิมานถึงจะเกิด ทานที่ทำไปแล้วนั้น เมื่อคิดถึงอีกเมื่อไหร่ ก็ได้บุญอีกเมื่อนั้น ก็จริงอีก เพราะขณะที่คิดถึงการให้ ความโลภในใจ มันก็ไม่มีที่อยู่ เห็นไหม ทีนี้หากว่าทำทาน เพราะอยากได้บุญ (แล้วไม่รู้ว่าบุญหน้าตาเป็นอย่างไร) อยากได้วัตถุมงคล (ถ้าอยากมากๆ มันกลายเป็นซื้อของไป เหมือนซื้อของในเซเว่นหน่ะ ได้บุญไหมเอ่ย แต่วัตถุมงคลนี่ วินิจฉัยยาก เพราะเอาไปทำกรรมฐานได้ มันจะไปได้บุญ ตอนไปทำเป็นกรรมฐาน) ทำทานเพราะหวังจะถูกหวย ทำทานเพราะอยากได้หน้า ก็ต้องพิจารณาดูกำลังใจว่า ความโลภในใจ มันลดลงหรือไม่ ถ้าลดน้อยก็ได้บุญน้อย ถ้าไม่ลดเลยหรือมากขึ้น ก็ไม่ได้บุญเลย หรือซ้ำกลายเป็นบาปแทน แล้วไฉนการโมทนาบุญ หรือที่เขาเรียกว่า มุทิตาธรรม เห็นคนทำดี แล้วยินดีชื่นใจไปกับเขา ถึงได้บุญ ก็มันไปลดความริษยา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ โทสะ - ความโกรธ ทำไมอภัยทาน ถึงเป็นทานอันยิ่ง กว่าอามิสทาน (ทานที่เป็นวัตถุ) ก็เพราะอภัยทาน มันไปลดกิเลสโทสะ กิเลสตัวสำคัญ ก็แล้วการฟังธรรม ทำไมถึงได้บุญ ไปนั่งหลังขดหลังแข็ง พนมมือ เมื่อยก็เมื่อย ไม่เห็นน่าจะได้บุญตรงไหน สู้ทำทานไม่ได้ สบายกายสบายใจกว่าอีก ที่ได้บุญก็เพราะ การฟังธรรม มันคือการทำความเห็นให้ตรง มันไปลดโมหะ - ความหลง กิเลสตัวเก่งอีกตัว ฉะนั้น การฟังธรรม ไม่จำเป็นแต่ต้องไปฟังในโบสถ์ ฟังที่ไหนก็ได้ ในรถ ในเรือ ในสวนสาธารณะ ที่ไหนท่าไหนก็ได้ ยิ่งละโมหะ อวิชชาได้มากเท่าไหร่ ก็ได้บุญมากเท่านั้น ธรรมทานก็สงเคราะห์เข้าหลักเดียวกัน อีกเรื่องคือเรื่องอานิสงส์ ตามความเข้าใจเดิมนั้น เข้าใจว่า บุญกับอานิสงส์ เป็นคนละตัวกัน สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล บุญเกิดเมื่อคิดและให้ทาน อานิสงส์เกิดภายหลัง จากที่โรงพยาบาลสร้างเสร็จ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เป็นส่วนควบของบุญ แท้จริงแล้ว ตามความในพระสูตรนี้ หาใช่เช่นนั้น อานิสงส์แปลว่า “ผล” อะไรที่เป็นผล ก็เป็นอานิสงส์หมด สิ่งที่เป็นคนละตัวกันคือ บุญกับกุศลกรรมต่างหาก สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล ด้วยความที่อยากได้หน้า นี่แสดงว่าทำบุญด้วยความโลภ ตรงนี้ไม่ได้บุญ แต่กุศลกรรม ที่ได้สร้างโรงพยาบาล ได้บรรเทาทุกข์ของผู้ที่ป่วยนั้น มีผลอยู่ จะได้เสวยผลเมื่อไหร่นั้นไม่แน่ แต่ได้เสวยผลแน่นอน ตรงนี้จะว่า ไม่มีอานิสงส์ก็ไม่ใช่ ต้องเรียกว่ามีอานิสงส์ แต่น้อยไปหน่อย)
บุญกุศล สวรรค์ และนิพพาน เกิดจากตัวเราเองไม่มีผู้ใดนำมาให้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ที่เข้าใจว่าบุญกุศล สวรรค์ แลพระนิพพาน มีผู้นำมาให้ บาปกรรมทุกข์โทษ นรกและสัตว์เดรัจฉาน มีผู้พาไปทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้หลงโลก หลงทาง หลงสงสาร บุคคลจำพวกนั้น แม้จะทำบุญ ให้ทานสร้างกุศลใดๆ ที่สุดจนออกบวช ในพระพุทธศาสนา ก็หาความสุขมิได้ จะได้เสวยแต่ความทุกข์ โดยถ่ายเดียว อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุญกับสุข หากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาป ก็ได้ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ เปรียบเหมือน เราอยากได้ทองคำ แต่เราหารู้ไม่ว่า ทองคำนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ถึงทองคำนั้นมีอยู่ แลเห็นอยู่เต็มตา ก็ไม่อาจถือเอาได้ โดยเหตุที่ไม่รู้จัก แม้บุญก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ อย่าว่าแต่บุญซึ่งเป็นของไม่มีรูปร่างเลย แม้แต่สิ่งของอื่น ๆ ที่มีรูปร่าง ถ้าหากว่าเรา ไม่รู้จักก็ถือเอาไม่ได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่ไม่รู้จักบุญแลไม่รู้จักสุข ทำบุญจะไม่ได้บุญ ไม่ได้สุขเสียเลย ตถาคตก็หาได้กล่าวเช่นนั้นไม่ ทำบุญก็คงได้บุญแล ได้สุขอยู่นั้นแล บุญแลความสุข ก็บังเกิดอยู่ที่ตัวเรานั้นเอง แต่ทว่าตัวหากไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นอันมีบุญแลสุขไว้เปล่าๆ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลจำพวกที่ไม่รู้จักบุญ คือความสุข เมื่อทำบุญแล้ว ปรารถนาเอาความสุข น่าสมเพชเวทนานักหนา ตัวทำบุญก็ได้บุญในทันใดนั้นเอง มิใช่ว่าเมื่อทำแล้วนานๆ จึงจักได้ ทำเวลาใดก็ได้เวลานั้น แต่ตัวไม่รู้ นั่งทับนอนทับบุญอยู่เปล่าๆ ตัวก็ไม่ได้รับบุญ คือความสุข เพราะตัวไม่รู้ จึงว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่เข้าใจว่าทำบุญไว้มากๆแล้ว จะรู้แลไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร บุญหากจักพาไปให้ ได้รับความสุขเองเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นคนหลงโดยแท้ เพราะเหตุไร บุญจึงจักพาตัวไปให้ ได้รับความสุข เพราะบุญกับสุขเป็นอันเดียวกัน เมื่อไม่รู้สุขก็คือไม่รู้บุญ เมื่อเรารู้สุข เห็นสุข ก็คือเรารู้บุญ เห็นบุญนั้นเอง จะให้ใครพาไปหาใครที่ไหน (พระสูตรนี้ มีผู้นำไปตีความว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง นายนิรยบาลผู้พาไปนรกไม่มีจริง จริงแล้วสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจต่างหาก ก็จริงอยู่ แต่จริงโดยส่วนเดียว ส่วนอื่นยังมีอีก กรรมมีอยู่ กุศลกรรมก็มี อกุศลกรรมก็มี บุญบาปมิได้พาไปเกิด แต่กรรมพาไปเกิดได้ จะหาศาสนาใดในโลก แจกแจงได้ แจ่มแจ้งชัดเจนขนาดนี้ เหมือนหงายของที่คว่ำ เหมือนเปิดของที่ปิด เหมือนให้แสงสว่าง แก่ที่มืด เหมือนชำระนัยน์ตาอันพร่ามัว ด้วยน้ำอมฤต ส่วนใหญ่ กระทั่งคนในศาสนาพุทธเอง เขาจะรู้จักในแง่ บุญคือทาน ทำสะสมไว้เรื่อย บุญก็จะพาขึ้นสวรรค์ไปเอง หรือเมื่อตายแล้ว พระศาสดาจะมารับไปอยู่ด้วย เสวยสุขชั่วนิจนิรันดร์ รู้จักสวรรค์แค่ชั้นเดียว รู้ชาติหน้าแค่ชาติเดียว สอนให้ทำความดี ให้ขึ้นสวรรค์ ให้ไปพระนิพพาน พระนิพพานหรือ ก็คงคล้ายๆ สวรรค์ชั้นหนึ่งกระมัง เขาว่ากันว่ามีความสุขมาก แต่ชาตินี้คงยังไม่ถึงหรอก ตั้งความหวังเอาไว้ ว่าคงจะถึงสักวันหนึ่ง แต่ไม่เคยศึกษาสนใจว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถึงพระนิพพาน เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ไม่เข้าเป้าเสียที และส่วนใหญ่ จะสอนไม่ให้คนคิด ไม่ให้สงสัย ไม่ให้ใคร่ครวญ สอนให้ไปติดสุข ติดกุศล ทำบุญทำทานมากๆ ซีแล้วจะได้ไปพระนิพพาน แท้จริงแล้ว ถ้ายังไม่ประกอบด้วยปัญญา ยังห่างไกลพระนิพพานอยู่มาก)
จะไปสวรรค์ พระนิพพาน ต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะไปนรกหรือจะไปสวรรค์ และพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่น ไปด้วยไม่ได้เป็นอันขาด อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สวรรค์ดิบในชาตินี้ กับสวรรค์สุกในชาติหน้า อย่าสงสัยว่าจะต่างกัน ถึงจะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย เมื่อต้องการความสุขเพียงใด ก็จงพากเพียรให้ได้ แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในเมืองคนนี้ จะนั่งจะนอนคอย ให้สุขมาหานั้นไม่ได้ ไม่เหมือนพระนิพพาน ความสุขในพระนิพพานนั้น ไม่ต้องขวนขวาย เมื่อจับถูกที่แล้ว นั่งสุขนอนสุขได้ทีเดียว ความสุขในพระนิพพาน จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ที่ว่ายากนั้นเพราะ ไม่รู้ไม่เห็น พาลปุถุชนคนตามืดทั้งหลาย รู้ไม่ถูกที่ เห็นไม่ถูกที่ จับไม่ถูกที่ จึงต้องพากเพียรพยายาม หลายอย่างหลายประการ และเป็นการเปล่าจากประโยชน์ด้วย ส่วนท่านที่มีปัญญา พิจารณาถูกที่จับถูกที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้ยาก หลายสิ่งหลายอย่าง นั่งๆ นอนๆ อยู่เปล่าๆ เท่านั้น ความสุขในพระนิพพาน ก็มาบังเกิดขึ้นแก่ท่านได้เสมอ เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่า ความสุขในพระนิพพาน ไม่เป็นสุขที่เจือปนไปด้วยทุกข์ (ทางไปสวรรค์ นิพพาน เป็นทางแคบ เป็นทางของคนคนเดียว เวลาเกิด เราก็เกิดมาคนเดียว พ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็เพียงแสดงความยินดี เมื่อเราเกิดมา เวลาแก่ ไม่มีใครมาช่วยแก่ เวลาเจ็บ ไม่มีใครแบ่งความเจ็บไปได้ เวลาตาย ก็มีเพียงเราผู้เดียวที่ตาย พ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งหลาย ไม่สามารถตาย ร่วมไปกับเราได้ หรือช่วยเรา จากความตายได้ คงมีแต่การ แสดงความโศกาอาดูร เอาใจช่วยเท่านั้น เช่นนี้สมเด็จพระภควันต์ จึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถพาผู้อื่น ไปด้วยได้ ต้องปฏิบัติเอง เห็นเอง รู้เอง ถึงเอง)
อยากรู้ว่าได้รับความสุขหรือทุกข์ ให้สังเกตที่ใจของเราในเวลา ที่ยังไม่ตาย
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้ว่า เราจะได้รับความสุขในสวรรค์ หรือจะได้รับความทุกข์ในนรก ก็จงสังเกตดูใจของเรา ในเวลาที่ยังไม่ตายนี้ เมื่อยังเป็นคนอยู่ มีสุขหรือมีทุกข์มากเท่าใด แม้เมื่อตายไป ก็คงมีสุขและมีทุกข์มากเท่านั้น ไม่มีพิเศษกว่ากัน บุคคลผู้ปรารถนาความสุขในภพนี้ และภพหน้าแล้ว จงรักษาใจ ให้ได้รับความสุข ส่วนตัวตนร่างกายข้างนอกนั้น ไม่สำคัญ จักได้รับความสุข ความทุกข์ประการใด ก็ช่างเถิด เมื่อตายแล้ว ก็ทิ้งอยู่เหนือแผ่นดินหาประโยชน์มิได้ ส่วนใจนั้นเป็นของติดตามตน ไปในอนาคตเบื้องหน้าได้ เพราะจิตใจเป็นของไม่ตาย ที่ว่าตายนั้น ตายแต่รูปร่างกาย ธาตุแตก ขันธ์ดับเท่านั้น ถ้าจิตใจตายแล้ว ก็ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตายต่อไปอีก กล่าวคือถึงพระนิพพาน
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติ เราตถาคตก็ได้หลงท่องเที่ยว อยู่ในสังสารวัฏนี้ช้านาน นับด้วยร้อยด้วยพันแห่งชาติ เป็นอันมาก ทำบุญทำกุศล ก็ปรารถนาแต่จักให้พ้นทุกข์ ให้เสวยสุขในเบื้องหน้า เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นจากทุกข์ ครั้นเมื่อตายจริง ก็ตายแต่ธาตุแต่ขันธ์เท่านั้น ส่วนใจนั้นไม่ตาย จึงต้องไปเกิดอีก เมื่อไปเกิดอีก ก็ต้องตายอีก เป็นเช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ที่นิยมกันว่าตาย ก็คือตายเน่าตายเหม็น กันอยู่อย่างทุกวันนี้ ชื่อว่าตายเล่นตายไม่แล้ว ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย หาต้นหาปลายมิได้ ที่ตายแท้ ตายจริง คือตายทั่งรูปแตกขันธ์ดับ ตายทั้งจิตทั้งใจ มีแต่พระพุทธเจ้า กับเหล่าพระอรหันต์ ขีณาสพเท่านั้น ท่านเหล่านี้ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติเมื่อเรายังไม่รู้ เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ ทำบุญทำกุศล ก็มุ่งเอาแต่ความสุขในเบื้องหน้า ครั้นตายไปก็หาได้พ้นจากทุกข์ ตามความประสงค์ไม่ มาในปัจฉิมชาตินี้ เราจึงรู้ว่าสวรรค์แลพระนิพพานนี้ มีอยู่ที่ตัวนี้เอง เราจึงได้รีบเร่งปฏิบัติ ให้ได้ถึงแต่เมื่อยังเป็นคนอยู่ จึงพ้นจากทุกข์และได้เสวยสุข อันปราศจากอามิส เป็นพระบรมครู สั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ทุกวันนี้ (ความจริงตรงนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ ธรรมดาผู้ไม่ได้ศึกษาธรรมะ มักจะคิดว่า สวรรค์เป็นอะไรที่สุขมาก แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง นรกเป็นอะไรที่ทุกข์มาก แตกต่างจาก ตอนเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วก็แตกต่างกัน เพียงไม่มีร่างกายเท่านั้น คนจะขึ้นสวรรค์ มันมีความสุขตั้งแต่มีชีวิตแล้ว ส่วนผู้ที่จะตกนรก ก็มีแต่ความเร่าร้อน ตั้งแต่ยังเป็นคนอยู่เทียว ส่วนการที่ไม่ให้สนใจร่างกาย ก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ ละอุปาทาน คิดว่า เป็นเรา เป็นของเรา เสียนั่นเอง)
สวรรค์ นิพพาน ต้องทำเองด้วยการ ดับกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ความทุกข์ในนรก และความสุขในสวรรค์ พระนิพพาน นั้นใครจะช่วยใครไม่ได้ เมื่อใครชอบอย่างใดก็ทำอย่างนั้น แม้เราตถาคตก็ช่วยใครให้พ้นทุกข์ และช่วยใครให้ได้สวรรค์ และพระนิพพานไม่ได้ ได้แต่เพียงสั่งสอน ชี้แจงให้รู้สุขรู้ทุกข์ ให้รู้สวรรค์ให้รู้พระนิพพาน ด้วยวาจาเท่านั้น อันกองทุกข์ โทษ บาปกรรมทั้งปวงนั้น ก็คือตัวกิเลสตัณหา ครั้นดับกิเลสตัณหาได้แล้ว ก็ไม่ต้องตกนรก ถ้าดับกิเลสตัณหาได้มาก ก็ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ ถ้าดับกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง หาเศษมิได้แล้ว ก็ได้เสวยสุข ในพระนิพพานทีเดียว เราตถาคตบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น ถ้าผู้รู้ทางแห่งความสุข แล้วประพฤติตามปฏิบัติตาม ก็ได้ประสบสุขสมประสงค์ (อักขาตาโร ตถาคตา - ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ชัดเจน)
สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขทุกข์นั้นให้หมายที่จิต จิตสุขเป็นสวรรค์ จิตทุกข์เป็นนรก จะเข้าใจว่า นรกแลสวรรค์ มีอยู่นอกจิตนอกใจเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง นรกแลสวรรค์ บาปบุญคุณโทษ ย่อมมีอยู่ในอกในใจทั้งสิ้น อยากพ้นทุกข์ก็ให้รักษาจิตใจ จากสิ่งที่เป็นบาปเป็นทุกข์เสีย ถ้าต้องการสวรรค์ ก็ทำการงานที่หาโทษมิได้ แลถ้าอยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งสุขและทุกข์ คือวางจิตใจ อย่าถือว่าเป็นของๆ ตน (การที่ดูจิตแล้วพบว่า อารมณ์เศร้าหมอง หรืออารมณ์เบิกบาน ไม่ใช่หลักประกันยืนยันว่า เมื่อตายแล้วจะไปสวรรค์ หรือนรก ขึ้นกับจิตสุดท้าย ตอนตายเป็นที่สุด ดังมีตัวอย่างมาในธรรมบท เรื่องมัฏฐกุลฑลีเทพบุตร ที่พลิกโผ ทำบาปชั่วมาทั้งชีวิต ตอนตายคิดถึงพระพุทธเจ้าหน่อยเดียว ก็ไปเสวยความสุขในสวรรค์ก่อน ส่วนพระนางมัลลิกาเทวี ทำดีมาตลอดชีวิต ถึงขั้นถวายอสทิสทาน ตอนตายจิตจับอกุศลนิดเดียว ที่เคยสะดุดเท้าพระสวามี เอาเท้าไปแช่ในนรกเสีย ๗ วัน แต่จะถือเป็นหลัก ในการดำเนินชีวิตโดยประมาทว่า เดี๋ยวไปทำดีตอนตายนิดเดียว ก็ได้ไปสวรรค์ เช่นนั้นมันก็ไม่ถูก ส่วนใหญ่กรรมชั่ว มันจะดึงลงต่ำ กรรมดีมันจะดึงขึ้นสูง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีใครเป็นอย่างท่านทั้ง ๒ บ้าง ก็น้อยกว่าน้อย พระไตรปิฎกนั้น ยกขึ้นให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีนะ ไม่ใช่ไม่มี อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ - ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อัปปมาโท อมตัง ปทัง - ความไม่ประมาท เป็นทางของความเป็นอมตะ ปมาโท มัจจุโน ปทัง - ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย ส่วนใหญ่ผู้ที่จิต เป็นสุขสม่ำเสมอ ก็มีแนวโน้มจะขึ้นสวรรค์ เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ที่มีจิตเศร้าหมอง เป็นส่วนมาก ก็มีแนวโน้มจะไปอบายภูมิ)
หากดับกิเลสทั้งห้าได้ขาด คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ ก็เข้าถึงพระนิพพาน
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน หรือเหมือนดังคนตายแล้ว คือให้ปล่อยความสุข แลความทุกข์เสีย ข้อสำคัญก็คือ ให้ดับกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเสีย
กิเลส ๑,๕๐๐ นั้น เมื่อย่นลงให้สั้นแล้วก็เหลืออยู่ ๕ เท่านั้น คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑
โลภะนั้น คือความทะเยอทะยาน มุ่งหวังอยากได้กิเลสกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑, อยากได้วัตถุกาม คือ สมบัติข้าวของ ซึ่งมีวิญญาณแลหาวิญญาณมิได้ ๑ เหล่านี้ชื่อว่า โลภะ
โทสะนั้น ได้แก่ความเคืองแค้น ประทุษร้าย เบียดเบียนท่านผู้อื่น ชื่อว่าโทสะ
โมหะนั้น คือความหลง มีหลงรัก หลงชัง หลงลาภ หลงยศ เป็นต้น ชื่อว่าโมหะ
มานะนั้น คือ ความถือตัว ถือตน ดูถูก ดูหมิ่น ท่านผู้อื่น ชื่อว่ามานะ
ทิฏฐินั้น คือความถือมั่น ในลัทธิอันผิด เห็นเป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิไป ปล่อยวางความเห็นผิดไม่ได้ ชื่อว่าทิฏฐิ
ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ได้แล้ว ก็ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นทั้ง ๑,๕๐๐ ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ไม่ได้ ก็ชื่อว่าดับกิเลสไม่ได้เลย
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ แท้ที่จริงพระนิพพานนั้น ไม่มีอยู่ในที่อื่นไกลเลย หากมีอยู่ที่จิตใจนั้นเอง ครั้นดับ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ได้ขาดแล้ว ก็ถึงพระนิพพานเท่านั้น ถ้าไม่รู้แลดับกิเลสตัณหายังไม่ได้ เป็นแต่ปรารถนาว่าขอให้ได้พระนิพพานดังนี้ แม้สิ้นหมื่นชาติแสนชาติ ก็ไม่ได้พบปะเลย เพราะกิเลสตัณหาทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ที่ตัวตนของเราทั้งสิ้น (หากสนใจจะศึกษา วิธีดับกิเลส ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก ในที่นี้ย่นย่อมาให้เพียงสังเขป) ฯ
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่วัดหลวงตาพวงนี่ท่านกำลังจะสร้างศาลาครอบองค์พระขนาด ๘ ศอกที่สร้างไว้ตากแดดตากฝนอยู่ ไหนๆ จะสร้างแล้วก็เลยจะสร้างเป็น ศาลาปฏิบัติธรรมไปเลย พระพุทธรูปองค์นี้สมัยที่เทปูนองค์พระ โยมที่อุปัฏฐากหลวงตามากว่า ๔ ปีเล่าให้ฟังว่า ไม่ทราบว่าคน แห่แหนมาจากไหน เป็นร้อยคนมาช่วยงาน ทั้งที่วัดหลวงตาก็อยู่ในป่าในดง (ขนาดไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงคิดดูละกัน ห่างจากกรุงเทพฯ แค่สองร้อยกว่ากิโล แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้) ชาวบ้านในพื้นที่แถวนั้นก็ไม่เกิน ๓๐-๔๐ คน ไม่รู้ว่าเขาทราบข่าว การสร้างพระได้อย่างไร ขนาดเจ้าคณะตำบลยังไม่ทราบเลย ในจำนวนคนที่มาช่วยเทพระนี่โยมเขาเล่าว่า บางคนก็ไม่กระพริบตา แล้วทราบมาอีกว่า ท่านไม่เคยพิมพ์ซองผ้าป่าแจกเลย ทีแรกนึกว่าวัดท่านเป็นที่พักสงฆ์ ออกซองเรี่ยไรไม่ได้ จริงๆ แล้วออกได้ แต่ที่ท่านไม่ออกซอง เพราะกลัวจะกลายเป็นการทำบุญ เพราะเกรงใจ มันจะไม่ได้บุญเท่าที่ควร นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านเห็นญาติโยม สำคัญกว่าตัวท่านเอง เป็นการสืบสาน มโนปณิธานของหลวงพ่อ ไว้อย่างเยี่ยมยอด กล่าวคือ หลวงพ่อท่าน สร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย มิใช่เพื่อตนเอง แต่ทนตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ก็เพื่อช่วยให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสทำสังฆทาน ทำวิหารทาน อันจะส่งผล ให้ไปมีวิมานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อาตมาเห็นท่านสร้างแล้ว รู้สึกอยากช่วยงานของท่าน เพราะท่านเป็นพระ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม เป็นอย่างสูง ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก เข้าป่าไปปฏิบัติในถ้ำ ด้วยตนเองมากว่า ๒๐ ปี อาหารไม่มี ก็ฉันปลากระป๋อง กับหน่อไม้มาเป็นปีๆ สมัยก่อนน้ำไม่มี ภาชนะเก็บน้ำไม่มี ก็ต้องไปแบกมาจากที่ไกล ผ่านความยากลำบาก นานัปการ ท่านก็ต่อสู้ฝ่าฟันมา จนปัจจุบัน วัดเป็นรูปเป็นร่าง มีน้ำบาดาล มีไฟปั่น มีศาลา มีกุฏิ ทว่าสังขารท่านเสื่อมโทรมไปมาก ฟันก็หลุดหมดเพราะขาดสารอาหาร (หมดเกลี้ยงเลย ไม่เหลือสักซี่) ตาข้างหนึ่งบอดไปแล้ว อีกข้างหนึ่งก็เห็นมัว ๆ ด้วยต้อหิน ไม่มีทางรักษา มีแต่จะบอดช้า หรือบอดเร็วเท่านั้น กระนั้นท่านก็ยังมีจิตเมตตา คิดจะสร้างสถานที่ แห่งนี้ไว้ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป ท่านว่ามีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ ขนาดไม่เคยเรี่ยไร ตอนนี้ยังมีคนถวายปัจจัยให้ท่านสร้าง ร่วมห้าหมื่นแล้ว อาตมาไปดูความมัธยัสถ์ของท่านแล้ว คิดว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ คงจะได้ใช้อย่างคุ้มค่า ดูเอาเถิดอย่างงานถมดิน เกลี่ยพื้นที่ให้เสมอกัน ก่อนจะขึ้นศาลา ท่านว่าประมาณ ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น งบประมาณ ในการสร้างศาลา ท่านว่าจะขึ้นเสาสัก ๑๒ ต้น งบประมาณอยู่ราวๆ แสนกว่าบาท ใครสนใจทำวิหารทาน อันเป็นอามิสทาน ที่มีอานิสงส์สูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็ขอเชิญร่วมทำบุญได้ บาทเดียวก็ได้อานิสงส์เสมอกัน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ
0 comments :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น