การปล่อยวางจิต คือ ให้ละโลภ โกรธ หลง
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสีย ซึ่งการร้ายและ การดีที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่ายินดียินร้าย แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค เป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อนท่อนสไบ ที่อยู่ที่นอน แลเภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภความหลง ในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่าจะห้ามเสียว่า ไม่ให้กิน ไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือให้ละความโลเล ในปัจจัยเท่านั้น คือ เมื่อได้อย่างดี อย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดี อย่างประณีต ได้อย่างเลวอย่างหยาบ ก็ให้บริโภคอย่างเลว อย่างหยาบ ตามมีตามได้ ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้แล ชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้ (อันนี้ใครก็ทราบว่าให้ละโลภ โกรธ หลง แต่ใครจะทราบว่าละอย่างไร พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ ขึ้นก็เพื่อ ให้มีความมักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นสำคัญ เมื่อโลภ โกรธ หลง ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว ใจของเราก็จะ เหมือนกับปฐพี คนที่ไม่ทราบ เป้าหมายสำคัญอันนี้ ก็จะถือศีลด้วยความงมงาย บ้างก็เคร่งเกินไป บ้างก็หละหลวมเกินไป หาปัญญามิได้)
การวางใจ ปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญทั้งหมดทั้งสิ้น เหมือนดังไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้ใจให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้ อย่าหวังว่า จักได้โลกุตรนิพพานเลย (แนวการปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ๘ ปัญญา โลกธรรม ๘ บารมี ๓๐ ทัศ กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน ๔ การดูเพ่งอายตนะ ๖ อริยสัจ ๔ สามัญญลักษณะ ๓ การพิจารณาขันธ์ ๕ วิปัสสนาญาณ ๙ สังโยชน์ ๑๐ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีปลายทางเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)
ผู้ปฏิบัติอริยมรรคให้เต็มที่ จึงจะวางใจให้เหมือนแผ่นดินได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้มิได้กระทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่ ยังเป็นปุถุชน คนหนาแน่นไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้ แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย ผู้ที่วางใจ ทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้นั้น มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ และเป็นสัตบุรุษ จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะท่านไม่ถือตนถือตัว ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้ ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน ส่วนคนโง่เขลานั้น ถือตนถือตัว ถือว่าร่างกาย เป็นอัตตาตัวตน จึงปล่อยวางมิได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าบุคคลที่ถือตัวถือตนอยู่นั้น ย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง บุคคลจำพวกใด ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ก็หาความสุขมิได้ เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็หาความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์มิได้เลย
ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่จะนำตนไป ให้เป็นสุขในพระนิพพาน ต้องวางเสียซึ่งความสุขในโลกีย์ ถ้าวางไม่ได้ ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ ก็ไม่พ้นทุกข์ ด้วยความสุขในโลกีย์ เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ครั้นเมื่อถือเอาสุข ก็คือถือเอาทุกข์นั้นเอง ครั้นไม่วางสุข ก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้เลย เพราะสุขทุกข์ เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่วางสุขเสีย ก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก บุคคลทั้งหลายที่ ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้ เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์ ใครเล่าจะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ แต่เราตถาคตก็ไม่มีวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้ ถ้าหากเราตถาคต พรากสุขแลทุกข์ออกจากกันได้ เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพานทำไม เราจะถือเอา แต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลกเท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้ เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการดังนี้ (โลกียสุขนั้น หมายรวมตั้งแต่ สุขขั้นหยาบๆ ในกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ละเอียดขึ้นไป จนถึงความสุข ที่เกิดจากการให้ทาน ทำบุญ รักษาศีล สมาธิสุข ฌานสุข สุขจากการฟังธรรม เป็นสิ่งที่ต้องละทั้งสิ้น ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะรู้สึกงงๆ เพราะคุ้นเคยกับคำสั่งสอน มาตลอดว่า ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญพระกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งไม่ดี พระพุทธองค์สอนว่า เป็นสิ่งที่ดี ต้องทำให้มาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้เปรียบก็เหมือนขั้นบันได ขึ้นไปสู่พระนิพพาน เมื่อบำเพ็ญบารมี จนครบบริบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว เมื่อจะเข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องละขั้นบันไดเสีย จะแบกบันได เข้าพระนิพพานไปด้วยไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ เมื่อจิตใฝ่กุศลแล้ว ก็จะไปติดสุข ติดกุศลธรรม ติดบุญ เลยทำให้การพัฒนาจิต ไม่ก้าวหน้าต่อไป สุดท้ายก็ถึงแค่สวรรค์ แค่พรหม ไม่ถึงพระนิพพาน ส่วนนี้จะเป็นธรรมขั้นสูง เป็นสังโยชน์ข้อที่ ๙ ความฟุ้งซ่าน ของพระอนาคามี การติดกุศล จะทำให้ฟุ้งซ่าน)
ผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องพ้นจากกุศลธรรม และอกุศลธรรม
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น ได้แก่กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเอง อัพยากฤตธรรมนั้น คือ องค์พระนิพพาน ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรม และอกุศลธรรมนั้นแล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหํ และพระนิพพานโดยแท้ เมื่อบุคคล ต้องการพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งความสุขนั้นก่อน ความสุขในโลกีย์นั้นเอง ชื่อว่ากุศล จึงจักถึง ซึ่งพระนิพพาน ถ้าหากว่า ไม่มีความสามารถ คือไม่อาจทำพระนิพพาน ให้แจ้งได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน พอให้ได้ความสุข ในมนุษย์แลสวรรค์ แต่จะให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้ เมื่อรู้อยู่ว่าตนจักพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ เป็นสะพาน สำหรับไต่ ไปสู่ความสุข ถ้ารู้ว่าตนยังไม่พ้นทุกข์ ซ้ำมาวางกุศลเสียก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะเมื่อวางกุศลเสียแล้ว ตนก็จักเข้าไปกองอกุศล คือกองบาปเท่านั้น ซึ่งจะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป (เห็นไหม อารมณ์พระนิพพาน เข้าใจง่ายจะตาย แต่ปฏิบัติให้ถึงยากบรม ตรงนี้ถ้าใครเคยฟัง พระสวดศพจะเคยได้ยินว่า “กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา...” นั่นคือสวดมาติกา ในอภิธรรม ๗ บท บทสวดจะเป็นการย่อไว้เฉพาะหัวข้อธรรม บทนี้เป็นการอธิบายความ ในอภิธรรมเรื่อง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม การที่บอกให้ละทั้งกุศล และอกุศลนั้น ไม่ใช่ไปคิดว่า ถ้าเช่นนั้นต่อไปนี้ ก็ไม่ต้องทำบุญแล้ว บาปฉันก็ไม่ทำ ฉันละแล้วทั้ง ๒ อย่าง อันนี้อันตรายมาก อ่านให้ดีๆนะ ท่านว่าต้องบำเพ็ญอริยมรรค ให้ถึงที่สุด แล้วจึงวางได้ ไม่ใช่จู่ ๆ นึกอยากจะวางก็วางได้ ถ้ายังทำไม่ถึง ให้เกาะกุศลไปก่อน เชื่อไหมว่า ในคำสอนของหลวงปู่มั่น มีตอนหนึ่งว่า “ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วอีก” พระอรหันต์นี่ สอนอะไรไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ต้องขบคิดให้ลึกซึ้ง ครั้นลองใช้ปัญญา ที่มีอยู่น้อยนิดพิจารณาแล้ว ก็ได้ความว่า ติดชั่วนี่มันแก้ง่ายเพราะมันเป็นโทษ ชี้ให้เห็นโทษชัดๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ไม่ดื้อรั้นเกินไป ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกินไป มีปัญญาเล็กน้อย ก็จะละชั่วได้ แต่การติดดีนี่ โทษของมัน มองเห็นได้ยาก เพราะมันเป็นสุข หรืออาจเปรียบระหว่าง ที่เย็นกับที่ร้อน ถ้าคนอยู่ในที่ร้อน เมื่อมาสัมผัสที่เย็น ก็จะรู้ได้ไม่ยากว่ามันสบายกว่า แต่จะถอยออกจากที่เย็น ไปสู่ที่ที่พอดี นั้นยากกว่ามาก)
ผู้มีความรู้ความฉลาด สักปานใด ไม่ควรถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าว ซึ่งคำประมาท แก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่า ตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาท ดูหมิ่นในท่านผู้มีศีล บุคคลจำพวกนั้นชื่อว่า เป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่าเป็นคนหลงทาง เป็นผู้ห่างจากความสุข ในมนุษย์ แลสวรรค์ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ ในระหว่างแห่งกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่น อยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดมากมาย สักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะถือตัวว่า เป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้น ยังห่างจากพระนิพพานมาก อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะถือเอาความรู้แลความไม่รู้ เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้ เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลสโดยส่วนเดียว เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้ไม่มีความรู้มาก รู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้ (ตรงนี้มักจะมีคนที่ศีล ๕ ยังไม่ครบดี เที่ยวไปตำหนิพระ เช่น เรื่องพระสูบบุหรี่ เป็นต้น ไปพูดค่อนแคะว่า เป็นพระแล้ว ไปคาบบุหรี่มวนโต นั่งยอง ๆ คุย พูดจากูมึง คนก็ไปนับถือมากมาย ระวังเถิด เรื่องใดถ้าพระวินัยไม่ห้าม ก็อย่าไปตำหนิท่านเลย จะเป็นโทษเสียเปล่า ๆ พระท่านรู้ของท่าน)
ผู้ต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาบุคคล ผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวว่า เรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าไร ก็มิได้ถือเนื้อถือตัว เหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชน ที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัว มีมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ห่างไกล จากพระนิพพานมากเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้น คับแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียว ไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพาน ก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูงศักดิ์กว่า ท่านยิ่งถือตนถือตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพาน เข้าเท่านั้น จึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย เป็นผู้ห่างไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขา มัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่ (บทนี้กล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ความมานะถือตัว เป็นคุณสมบัติที่ ทำให้ห่างไกลพระนิพพาน มีผู้มาปรารภกับอาตมา ถึงหลักวิชาควอนตัมฟิสิกส์ ที่เป็นการต่อยอด จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ว่าเขาสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ส่วนเล็กที่สุดของอะตอม แท้จริงแล้ว เป็นเพียงคลื่น เป็นการสั่นสะเทือน ซึ่งตรงกับหลักอนัตตา ของพระพุทธศาสนา ดังนั้นควอนตั้มฟิสิกส์ ระดับที่ละเอียดซับซ้อนขนาดนั้น ถ้าศึกษาวิจัยไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริง อาตมาเห็นว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้น มันก็ดี แต่พระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยเรียนวิชาฟิสิกส์ ทำไมทราบอะไรต่าง ๆ มากมายยิ่งกว่า นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เพราะท่านค้นพบว่า การละกิเลสต่างหาก ถึงจะพาให้เข้าถึง ความจริงแท้ของสรรพสิ่ง การที่มีความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มากๆ หรือการตีความศาสนาพุทธ เป็นปรัชญายากๆ หาได้ช่วยให้เขาใกล้ พระนิพพานขึ้นเลย ถ้ามันไปสร้างความถือตัว ถือตนว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น นี่เป็นทางการเพิ่มกิเลสต่างหาก มิใช่ทางละกิเลส ยิ่งรู้มาก ตัวโมหะมันก็จะมากตาม ความหลงตัวเอง คิดว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น อันเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาที่ละได้ยากที่สุด มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าการที่เขามีความสามารถ ทางสมองเหนือคนอื่น เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ยาก จดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และสามารถเรียนรู้ในวิชาการยาก ๆ หรือธรรมะยากๆ เหล่านั้น จะเป็นการเข้าใกล้พระนิพพาน เข้าไปเรื่อยๆ ไม่จริงเลย ปัญญาในทางพุทธนี่เขาแปลว่า ความรอบรู้ในกองสังขาร รู้ต้องรู้อย่างเป็นจริงว่า มันเป็นทุกข์ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน อุปมาการถอดถอนตัวตน นี่เหมือนการถอนต้นไม้ ยิ่งความสามารถมากรู้มาก ก็ประดุจต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึก มีรากฝอยยุ่บยั่บ จะรื้อถอนก็ต้องใช้กำลังมาก ยากลำบากมาก ไม่เหมือนผู้ที่มีความสามารถน้อย รู้น้อย ก็ประหนึ่งหญ้า หรือต้นไม้เล็กๆ รากแก้วก็ไม่ลึก รากฝอยก็น้อย ปฏิบัติเพียงเล็กน้อย ก็ถอดถอนตัวตนได้เกลี้ยง กระทั่งพระที่บวชเข้ามา ท่านก็แนะไม่ควรคิดว่า ตนบรรลุธรรมขั้นไหน เป็นโสดา สกทาคา อนาคา หรือ อรหันต์ ให้ถ่อมตัวเตี้ยติดดินอยู่เสมอ ให้คิดว่าเก่งแค่ไหน ดีแค่ไหน เลิศแค่ไหน ก็ตายหมด ไม่มีใครชนะความตาย สักคนเดียว คิดไว้เสมอ ๆ ผู้ที่คิดว่าตนดี ตนเก่ง พระบรมโลกเชษฐ์ท่านเรียกว่า พาลปุถุชน)
ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล
0 comments :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น