พระพุทธเจ้าเมื่อเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)
ในสัปดาห์ที่ห้าได้เสด็จไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)ในสัปดาห์ที่หก ได้มีฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่เจ็ดวัน พญานาคชื่อมุจลินท์ เข้ามาวงด้วยขนดเจ็ดรอบ แล้วแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อป้องกันลมและฝนมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝนหายแล้ว ก็คลายขนดออกจำแลงเพศเป็นมาณพ เข้ามายืนเฝ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "ความสงัดเป็นความสุขสำหรับบุคคลผู้ได้สดับธรรมแล้วยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นอย่างไร ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากกำหนัดคือความล่วงกามทั้งหลาย เสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ ถือว่ามีตัวตนให้หมดได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง" ธิดาพระยามาราธิราชแสดงยั่วยวนพระพุทธองค์
เมื่อพระพุทธองค์อยู่ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ อันตั้งทางทิศบูรพาของต้นพระศรีมหาโพธิ ในสัปดาห์ที่ห้า ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ธิดามาร 3 คน คีอ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี ได้อาสาพระยามารเข้าไปเฝ้า เนรมิตอัตภาพ เป็นหญิงนานาชนิด หวังให้พระองค์พอพระทัย แต่พระองค์มิได้ใฝ่พระทัยกลับทรงขับไล่ให้ออกไป อันแสดงถึงความไม่ยอมกลับมาเป็นผู้แพ้อีก เรื่องนี้พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ในอรรถคถาธรรมบท ตปุสสะและภัลลิกะ สองพาณิชถวายข้าวสัตตุแด่พระพุทธองค์
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้สี่สัปดาห์ และได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นเกต ซึ้งได้นามว่า ราชายตนะ ได้มีนายพานิชสองคน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางมาจาก อกุกลชนบท เมื่อได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั่น มีพระรัศมีผ่องใสยิ่งนักก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงได้นำข้าวสตุก้อน สตุผง ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตนเข้าไปถวาย แล้วได้อ้างถึงพระองค์และพระธรรมว่าเป็นสรณะ นายพาณิชทั้งสองนี้ได้เป็นปฐมอุบาสก ที่ถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรม เป็นสรณะ เรียกว่า เทวาจิกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับบาตร ที่ท้าวจตุมหาราชนำมาถวาย ซึ่งพระองค์ได้ทรงอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่ใบเป็นใบเดียวกัน ท้าวจตุมหาราชถวายบาตรพระพุทธองค์
เมื่อพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และได้ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นเกต อันมีนามว่า ราชายตนะ ซึ่งอยู่ทางทิศทักษิณของต้นพระศรีมหาโพธิ ครั้งนั้นมีนายพาณิชสองคนคือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ได้น้อมนำเอาข้าวสตุก้อนและสตุผง เข้าไปถวายพระองค์ และพระองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่ขณะนั้นพระองค์ไม่มีบาตร ครั้นจะรับด้วยพระหัตถ์ ก็ผิดประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ฝ่ายท้าวมหาราชทั้งสี่ คือท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวกุเวร ทราบพุทธประสงค์ จึงต่างนำบาตรศิลาองค์ละใบเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับบาตรจากท้าวมหาราชทั้งสี่แล้ว ทรงอธิษฐานให้รวมกันเป็นบาตรใบเดียว แล้วทรงรับข้าวสตุก้อน สตุผง ของนายพาณิชทั้งสองด้วยบาตรนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์
เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ต้นเกตได้เจ็ดวัน อันเป็นสัปดาห์ที่เจ็ด หลังจากได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในเวลาเย็นแห่งวันขึ้น 14 ค่ำ ก่อนพุทธศก 45 ปี เพื่อเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยได้อยู่อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ เมื่อปัญจวัคคีย์ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาตั้งแต่ระยะไกล ปัญจวัคคีย์เข้าใจว่าพระองค์ เลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาแล้ว และคงไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษอะไร จึงนัดกันไม่ออกไปต้อนรับอย่างที่เคยปฏิบัติมา และเมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ ก็ยังใช้โวหารเรียกพระนามโดยไม่เคารพ ต่อเมื่อพระองค์ตรัสว่า
"เราได้ตรัสรู้ อมฤตธรรมโดยชอบแล้ว จะนำมาสั่งสอนพวกเธอ ถ้าพวกเธอตั้งใจฟังและปฏิบัติตาม ในไม่ช้าจะบรรลุอมฤตธรรมนั้น ปัญจวัคคีย์ระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อน จึงได้ปฏิบัติเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อน"ในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เทศนา ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ เป็นปฐมเทศนา เพื่อประกาศสัจธรรมอันประเสริฐ ทรงแสดงปฐมเทศนา
พระบรมศาสดาได้เสด็จไปสู่สำนักปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี และได้แสดงพระปฐมเทศนา ชื่อว่า ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่างที่ไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ความพัวพันหนักในกามสุข และอัตตกิลมถานุโยค การประกอบกรรมเป็นการทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ทางแห่งอริยภูมิ ทรงชี้ทางมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งมีอยู่ 8 ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมากัมมันตา การงานชอบ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ การระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ แล้วทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์ ทุกขนิโรธ ความคับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หนทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ 1. ทรงชี้ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศก คือ แห้งใจ ความคร่ำครวญ รัญจวนใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ คับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวัง เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อขันธ์ที่ยึดไว้ทั้งห้าประการ เป็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา อันเป็นความดิ้นรนทะยานอยากของใจ อันมีลักษณะซัดส่ายไปสู่ภพ คือ ภาวะใหม่เสมอ ไปด้วยกันกับความเพลิดเพลิน ความติดความยินดี มีความเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง ในอารมณ์นั้น ๆ มีสามประการคือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกาม คือ สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในภพ คือ ความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในวิภพ คือ ความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ความดับทุกข์ คือ การดับตัณหาเสียได้หมด สละตัณหาเสียได้หมด ปล่อยคืนตัณหาเสียได้หมด พ้นตัณหาเสียได้หมด ไม่อาลัยพัวพันอยู่ในตัณหาทั้งหมด หนทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์ ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า มรรค ได้แก่ มรรค อันมีองค์แปดประการคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ทรงชี้แจงว่า รู้ที่เรียกว่าตรัสรู้นั้น เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า นี้เป็นทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ทุกข์นี้ได้กำหนดแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า เหตุแห่งทุกข์นี้ควรละ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า สาเหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่า นี้เป็นความดับทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ความดับทุกข์นี้ควรกระทำให้แจ้ง เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ความดับทุกข์นี้ได้ทำให้แจ้งแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า นี้เป็นทางปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์นี้ควรอบรมให้มีขึ้น เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาว่า ทางปฎิบัติเพื่อความดับทุกข์นี้ได้อบรมให้มีบริบูรณ์แล้ว ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นญาณ คือความหยั่งรู้ที่มีวนรอบสาม มีอาการสิบสอง จึงเรียกว่าเป็นความตรัสรู้ ท่านผู้ที่ได้มีความรู้ดังกล่าวนี้จึงเรียกว่าเป็น พุทธะ คือเป็นผู้ตรัสรู้ ถ้าจะเรียกปัญญาของท่านก็เป็นโพธิ คือความตรัสรู้ ทรงประกาศว่า เมื่อความรู้ที่มีวนรอบสาม มีอาการสิบสองดังกล่าวนี้ ยังไม่บริสุทธิ บริบูรณ์ตราบใด ก็ยังไม่ทรงปฎิญญาพระองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้ ต่อญาณดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นบริสุทธิบริบูรณ์ พระองค์จึงปฎิญญาว่าเป็นพุทธะ และเรียกว่าเป็นผู้ตรัสรู้เอง เพราะเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในธรรมะ คือ ในความจริงที่ไม่ได้ทรงเคยสดับฟังมาจากใคร ไม่ได้ทรงเคยเรียนมาจากใคร พระองค์ทรงพบขึ้นเอง เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระโกญทัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพัญตัง นิโรธธัมมัง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดาเป็นเหตุให้พระบรมศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า "โกญทัญญะรู้แล้วหนอ" แล้วพระโกญทัญญะก็กราบทูลขออุปสมบท ทรงประทานอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาพระองค์ได้เทศนาสั่งสอน จนพระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหัตผลทั้งหมด
THE BUDDHA หน้าต่อไป
0 comments :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น