ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา


ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซด์สถานีวิทยุคลื่นพุทธบูชา

FM 100.25 Mhz

มาทำความรู้จักกับเราสิค่ะ

คลื่นพุทธบูชา" FM100.25 Mhz คลื่นแห่งพระธรรมและเสียงธรรม 20 ชั่วโมง

เปิดสถานี เวลา 05.00 น.-24.00 น.ทุกวันเชิญมาฟังกันนะค่ะ

11 พฤศจิกายน 2553

พระพุทธบิดา(พระเจ้าสุทโธทน)7

 picture_resize

พระพุทธบิดา

            สมัยเมื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปยังราวป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้กับพระนครพาราณาสี ได้ทรงเทศนาพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจำพระวัสสาอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน อาศัยกรุงพาราณสีเป็นที่โคจรทรงบาตร ครั้นย่างเข้าพระวัสสาคำรบสอง พระพุทธองค์ก็เสด็จไปจำพระวัสสาอยู่ ณ เวฬุวนาราม อาศัยกรุงราชคฤห์เป็นที่โคจรสถาน ย่างเข้าพระวัสสาคำรบสามและคำรบสี่ พระพุทธองค์ก็ยังคงยับยั้งอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น
            ครั้นล่วงเข้าพระวัสสาคำรบห้า จึงเสด็จมาจากเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ ไปสู่เมืองเวสาลี เสด็จสถิต ณ ภูฎาคารศาลาป่าใหญ่ใกล้พระนครนั้น เพื่อจะอนุเคราะห์แก่เวไนยมหาชน และจำพระวัสสาเป็นคำรบห้า อยู่ ณ ที่นั้น

            ในปีนั้นสมเด็จกรุงสุทโธทนมหาราช พระพุทธบิดาทรงพระประชวรหนัก บรรดากษัตริย์ศากยวงศ์ทั้งหลาย และนางพระสนม มีพระมหาปชาบดีโคตมี เป็นประธานได้ช่วยกันอภิบาล แต่พระโรคก็ไม่บรรเทา พระองค์ทรงระลึกถึงพระศาสดาอัครปิโยรสว่า ถ้าพระพุทธองค์เสด็จมาสู่ที่นี้ได้ทรงปรามาสเหนือศีรษะของพระองค์ พระนนท์และพระอานนท์ ได้ลูบพระสรีรกายซ้ายขวาทั้งสองข้างพระราหุลนัดดา ได้ลูบเบื้องปฤษฎางค์ของพระองค์ ทุกขเวทนาอาจจะบรรเทาได้

            ในลำดับสมัยนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอุฏฐาการจากสีหไสยาสน์นั้น ในเพลาปัจจุบันสมัยกาล เวลาเข้าสู่กรุณาสมาบัติ ออกจากสมาบัตินั้นก็ทรงพิจารณา ซึ่งบุคคลอันประกอบด้วยกฤดาภินิหารด้วยพระญาณ จึงเห็นพระพุทธบิดาทรงประชวรหนักควรจะกรุณา จึงทรงพระพุทธดำริว่า พระบิดาปรารถนาจะเห็นตถาคตในวันนี้ และกาลนี้ก็ควรที่พระตถาคต จะไปเยี่ยมเยียนพระบิดา จึงตรัสเรียกพระอานนท์มาตรัสบอก ซึ่งเหตุนั้นแล้ว ตรัสชวนพระอานนท์ว่า บรรดาภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นพระขีณาสพสถิต ณ ที่ใด ๆ ท่านจงไปบอกกันให้ทั่วถึงตถาคตจะไปสู่กรุงกบิลพัศด์ เพื่อจะไปเยี่ยมเยียนพระบิดา
            พระอานนท์รับพระพุทธฎีกาแล้วไปบอกเหตุนั้นแก่พระอรหันต์ทั้งปวง พระขีณาสพทั้งหลาย มีพระอัครสาวกทั้งปวงเป็นต้น ต่างถือบาตร และจีวร พากันมาสโมสรสันนิบาต คอยท่าจะตามเสด็จพร้อมกัน พระชินสีห์ก็เสด็จแวดล้อมด้วยพระขีณาสพ ๕๐๐ กระทำพุทธานุภาพปาฏิหารย์เหาะขึ้นเวหา คมนาการไปสู่กรุงกบิลพัสด์ โดยทางอากาศครั้นถึงจึงลงสู่พระราชธานี ขึ้นสมณเฑียรที่สถิตพระพุทธบิดา ทรงนิสีชนการเหนือมัญจาอาสน์ ตรัสถามพระอาการ  พระพุทธบิดา ทรงสดับพระพุทธฎีกา ก็กราบทูลว่า ทุกขเวทนานี้เหลือที่จะอดทน พ้นที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าอย่าทรงพระปริวิตก แล้วทรงเหยียดพระทักขิณหัตถ์ ทรงกระทำสัตยาธิษฐานว่า ผิว่าตถาคตบำเพ็ญพระบรมสมดึงสบารมีมาสิ้นกาลถึงสี่อสงไขยแสนกัป เพราะหมายมั่นจะทำประโยนชน์โปรดสัตว์โลก และได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล จำเริญภาวนา แม้จะปรามาสซึ่งพระเศียรแห่งพระบิดา ด้วยทักขิณหัตถ์กาลบัดนี้ ขอจงระงับดับทุกขเวทนาให้อันตรธาน แล้วลูบลงที่พระเศียรเกล้า ทุกขเวทนาในพระเศียรพระพุทธบิดาก็บรรเทาระงับดับสูญไปในขณะนั้น
            ฝ่ายพระอานนท์เถระถวายอภิวาทพระบรมศาสดา แล้วก็กระทำสัตยาธิษฐานว่า ผิว่าข้าพระองค์ติดตามพระศาสดาดุจฉายา องค์พระชินสีห์สถิตอยู่ ณ ที่ใด ข้าพระองค์ก็สถิตอยู่ในที่นั้น นี้เป็นความสัตย์แม้ข้าจะยกทักขิณหัตถ์ปรามาสพระกรเบื้องขวาแห่งพระปิตุลาธิบดี ขอจงระงับทุกขเวทนา ที่ปรากฎมีในพระพาหานั้น ให้อันตรธาน แล้วลูบลงที่พระทักขิณพาหาแห่งพระพุทธบิดา ทุกขเวทนาก็ระงับดับสิ้นไป
            พระนนทเถระถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกระทำสัตยาธิษฐานว่า ผิว่าข้าพระองค์ปฏิบัติตามโอวาทพระศาสดา พร้อมทุกสิ่ง แม้ว่าจะปรามาสพระพาหาเบื้องซ้าย แห่งพระปิตุราชขอจงระงับทุกขเวทนาในที่นั้นให้อันตรธาน แล้วลูบลงที่พระรามพาหาแห่งพระพุทธบิดา ทุกขเวทนาก็ระงับดับหายจากที่นั้น
            พระราหุลชิโนรส ก็กระทำอัญชลีกรประนมประณตพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กระทำสัตยาธิษฐานว่า กาลเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติ เป็นพระเวสสันดรมหาราชบพิตร ทรงเปลื้องเสียสละข้าพระพุทธเจ้าพระราชทานแก่ชูชกพราหมณ์ ข้าพระบาทก็ยินยอมตามพระราชา มิได้แข็งขัดโทมนัสขึ้งเครียด ในพระองค์แม้แต่น้อย ผิว่าคำอันนี้เป็นวจีสัตย์จะยกทักขิณหัตถ์ขึ้นปรามาส พระปฤษฎางค์สมเด็จพระอัยยกา ขอจงระงับทุกขเวทนนาโรคาพาธให้อัตรธาน แล้วลูบลงที่พระปฤษฎางค์แห่งพระอัยกาธิราช ทุกขเวทนาในพระปฤษฎางค์ และอุรุชาณุบาททั้งหลาย ก็เหือดหายระงับในลำดับแห่งการสัมผัสนั้น
            ณ กาลนั้น สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะ ก็มีพระโรคาพาธระงับอัตรธาน ทรงยอพระหัตถ์ถวายพระอัญชลี พระมุนีนาถราชโอรส พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระพุทธบิดาระงับทุกขเวทนาแล้ว และทรงพิจารณาเห็นพระชนมายุสังขารยังมีอยู่ประมาณน้อยนัก กำหนดยังมีพระชนม์อยู่อีกสัตตวารสมัยก็จะดับสูญสิ้นพระชนม์ ทรงทราบอุปนิสัยพระอรหัตตผลจะพึงมี จึงบัณฑูรพระสัทธรรมเทศนา พระอนิจจตาทิปิสังยุตว่า ดูกรบพิตร ชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก จะดำรงอยู่ได้โดยพลัน มิได้ยั่งยืนอยู่ช้า มีครุวนาดุจสายฟ้าแลบ อันปรากฎมิได้นาน อันว่าวัยวัฒนาการย่อมมีชราเป็นที่สุด สภาวะหาโรคามิได้ ก็มีพยาธิโทษประทุษร้ายบีทาเป็นปริโยสาน อันว่าชีวิตสังขารก็มีบรรณธรรมเป็นเบื้องหน้า ธรรมดาว่าสมบัติทั้งปวงก็ล่วงละ เพราะความวิบัติย่ำยีประเวณีนิกรสัตว์ เมื่อตรัสเทศนาเป็นอาทิ ฉะนี้แล้ว ก็ยกพระจตุราริยสัจขึ้นเป็นมกุฎโมลีแห่งธรรมทั้งปวง ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ทรงเจริญพระวิปัสนาไปตามกระแสพระอริยสัจสี่ประการ ก็ประหาณละเสียซึ่งรูปราคะ และอรูปราคะกับทั้งมานะ อุทธัจจะ อวิชาเป็นนิราวเศษ และเสีย ซึ่งสรรพกิเสศบาปธรรมทั้งปวง หายบรรลุแก่พระอรหัตตผล พร้อมด้วยพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ ในกาลแห่งวันเป็นคำรบเจ็ด จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าพระองค์นี้พ้นจากบ่วงสงสาร เห็นพระนิพพานประจักษ์จิต จะถวายนมัสการลาพระศาสดาดับขันธ์ เข้าสู่อมตมหานิพพาน ณ กาลวันนี้ จึงมีพระพุทธฎีกาว่า ดูกรพระราชสมภาร จงทรงกำหนดกาลอันสมควร
            ส่วนพระขัตติยประยูรญาติศากยราชทั้งหลาย และคณาอนงค์บริจาริกานารี มีพระมหาปชาบดีเป็นประธาน ได้สดับพระราชบรรหาร พากันพิลาปกำสรดเซ็งแซ่ พระพุทธบิดาก็ตรัสปลอบโยนว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้เศร้าโศกปริเวทนาการ ธรรมดาว่าสัตว์ในวัฏฏสงสาร ก็ย่อมวิโยคบำราศจากที่รักเจริญใจ หวั่นไหวอยู่ด้วยโลกธรรมคือ มรณทุกตัวสัตว์ไม่เว้นตน แล้วถวายอภิวาทพระทศพลกราบทูลว่า อันว่าโทษใดที่ข้าพระองค์ได้ประมาทด้วยกาย วจี จิต ในพระสุคต ขอจงอดโทษทั้งปวงแก่ข้าพระบาท ขอจงพระอนุญาตแก่ข้าพระพุทธเจ้า อันจะทูลลาเข้าสู่พระปรินิพพานในกาลนี้ ตรัสแล้วก็เอนพระองค์ลงบรรทม ก็สิ้นสูญลมอัสสาส ปัสสาส เข้าสู่พระนิพพานในกาลนั้น
            สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงทราบว่า พระพุทธบิดาดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวช แล้วมีพระพุทธฎีกาตรัสสั่งพระมหากัสสปเถระว่า  ตถาคตจะถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบิดา ท่านไปพิจารณาดูภูมิสถานอันสมควร จะกระทำฌาปนกิจนั้น เมื่อการกระทำเชิงตะกอนเสร็จแล้วก็กลับมากราบทูลพระบรมครู  พระสัพพัญญูจึงทรงยกพระอุตตมังคศิโรตม์ แห่งพระพุทธบิดาด้วยพระหัตถ์แล้ว ก็ทรงสิญจนาการด้วยสุคนธรสอุทกวารี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็ช่วยโสรจสรงหล่อลง ซึ่งสุคนโธรส สมเด็จพระโลกนายกก็ทรงยกพระศพแห่งบรมกษัตริย์ ใส่ลงในหีบแก้ว แล้วทรงยกหีบด้วยพระองค์เชิญไปสู่อาฬหนะสถาน ทรงถือเอาดวงแก้วมณีโชติรัตน์ จากท้าวสุธัมบดีแล้ว ทรงจุดอัคคีอันปรากฎจากดวงแก้ว กระทำฌาปนกิจพระบรมศพ
            กาลเมื่อสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะปรินิพพานครั้งนั้น พระยูรญาติพระศาสดาทั้ง ๖ พระนคร คือ กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองเทวทหนคร เมืองโกลิยนคร เมืองสักกบุตร เมืองสุปวาสนคร เมืองเวรัญชานคร  ชวนกันปรารภจะทำ มหายัญบูชา คือ ทานุทิศแผ่ผลเป็นธรรมบรรณาการไปให้แก่บรมกษัตริยาธิราช ก็ชวนกันมาสโมสรสันนิบาต ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์ทรงรับมหายัญญทาน เมื่อเสร็จภัตตาหารกิจแล้ว ก็กระทำภัตตานุโมทนา โดยสารพระคาถาว่า ราชาโน ขตฺติยา มาตา เป็นอาทิ  อัตถาธิบายความว่า เบื้องว่าบรมกษัตริย์ขัตติยวงศา และมารดาบิดาพี่ชายน้องหญิงญาติคณา และอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งปวงล่วงไปสู่ปรโลก มีความเศร้าโศกอาลัยด้วยไร้ที่พึ่งที่พำนัก ก็พึงกระทำยัญบูชาคือ ทักขิณาทาน โดยควรแก่กำลังของตนอุทิศผลไปให้แก่ท่านผู้มีคุณ และหมู่ญาติมิตรทั้งปวง ผลแห่งทานก็จะบังเกิดสมบัติอันบริบูรณ์ แก่ผู้กระทำกาลกิริยาไปสู่ปรโลก ทักขิณาทานอันถวายแก่พระสงฆ์นี้ จะทำให้สำเร็จประโยชน์โดยพลัน  แก่ธรรมคณาญาติมิตร และท่านผู้มีพระคุณทั้งหลายไปสู่ปรโลกนั้น  จะได้ให้บรรลุทิพยสมบัติและสุขวัฒนาสิ้นกาลช้านาน
            เมื่อสมเด็จพระศาสดาตรัสเทศนาอนุโมทนาดังนี้  และกระทำสงเคราะห์แก่หมู่ญาติทั้งหลาย แล้วจึงเสด็จไปสถิต ณ พระนิโครธาราม อันพระญาติสกุลทั้งสองฝ่าย สถาปนาถวายใกล้ฝั่งแม่น้ำโรหิณีนที อยู่ท่ามกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และเมืองโกลิยนคร ในลำดับนั้นพระมหาปชาบดีโคตมี ได้เสด็จไปสู่สำนักพระชินสีห์กราบทูลว่า  สตรีนี้จะบวชในพระพุทธศาสนาได้หรือประการใด จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ท่านจงอย่าได้ชอบใจในบรรพชา อันมาตุคามนี้จะบวชในพระพุทธศาสนามิควร  พระมหาปชาบดีกราบทูลดังนี้ถึงสามครั้ง ก็ตรัสห้ามมิได้ทรงอนุญาต พระมาตุฉาก็ทรงโทมนัส
            พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสถิต ณ กรุงกบิลพัสดุ์โดยควรสำราญพระพุทธอัชฌาสัยแล้ว ก็เสด็จจาริกไปสู่เมืองเวสาลี สถิตที่ กูฎาคารศาลาในมหาวัน  พระมหาปชาบดีมีพระกมลสันดานยินดีที่จะบรรพชา จึงปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร กับนางกษัตริย์ศากยวงศาเป็นอันมาก เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ บทจรด้วยพระบาทไปตามพระโลกนาถถึงเมืองเวสาลี  เสด็จไปหยุดยืนอยู่นอกซุ้มทวารกูฎาคารศาลา พระอานนท์ได้ทัศนาจึงออกมาไต่ถาม พระมหาปชาบดีบอกความ ที่พระสุคตมิได้ทรงอนุญาตให้บรรพชา พระอานนท์จึงเข้าไปกราบทูลพระชินสีห์ให้โปรดประทานอุปสมบทให้แก่พระมาตุฉา จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสห้ามเหมือนในหนหลัง พระอานนท์กราบทูลวิงวอนถึงสามครั้งก็ไม่ทรงอนุญาต พระอานนท์จึงกราบทูลสืบไปว่า ผิวะสตรีได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็อาจจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคามิผล และพระอรหัตถผล ได้หรือประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า อาจจะกระทำให้แจ้งได้ซึ่งมรรคสี่ผลสี่ พระอานนท์จึงกราบทูลว่า ผิฉะนั้นควรจะทรงพระอนุเคราะห์แก่พระมหาปชาบดี โปรดประทานให้บรรพชา เหตุด้วยพระมาตุฉามีพระคณูปการ ได้อภิบาล บำรุงเลี้ยงพระองค์มา ตั้งแต่พระพุทธมารดาทิวงคต ได้ให้พระขีระธารามา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตราบเท่าจนทรงพระเจริญ ควรจะสงเคราะห์ให้สมความปรารถนา จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ผิว่าพระโคตมีอาจจะรับประพฤติในครุธรรม ๘ ได้  คถาคตก็จะอนุญาตให้เป็นภิกขุนี อุปสมปทกรรม
            ครุธรรมเป็นปฐม คือ ภิกขุนีแม้จะบรรพชา ได้ร้อยพระวัสสาก็ดี พึงให้กระทำอัญชลีเคารพนอบนบแก่พระภิกษุ อันได้อุปสมบทใหม่ในวันเดียว ครุธรรมคำรบสอง คือ ภิกขุนีอย่าได้อยู่จำพระวัสสาในอาวาสที่ปราศจากภิกษุ ถึงอยู่จำพระวัสสาในอาวาสที่มีภิกษุนั้น ครุธรรมคำรบสาม คือ ภิกขุนีถึงปรารถนาด้วยธรรมสองประการ คือ ถามซึ่งอุโบสถกรรม และไปรับโอวาทแต่สำนักแก่พระภิกษุทุกกึ่งเดือน ครุธรรมคำรบสี่ คือ ภิกขุนีมีวัสสาอันอยู่แล้ว เมื่อถึงวันจะออกพระวัสสา จงปวารณาในที่อันพร้อมด้วย อุภโตสงฆ์ ครุธรรมคำรบห้า คือ ภิกขุนีต้องอาบัติสังฆาทิเสส ไปอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัตในสำนักอุภโตสงฆ์ คือ อยู่อาบัตถึงกึ่งเดือนนั้น ครุธรรมคำรบหก คือ  ภิกขุนีอุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์เพื่อสมาทานในธรรมหกประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต ตราบเท่าถึงวิกาลโภชนะเป็นที่สุด มิได้ล่วงเสียและศึกษาให้รู้ในวัตคปฎิบัติต่าง ๆ สิ้นกาลถึงสองพระวัสสานั้น ครุธรรมคำรบเจ็ด คือ ภิกขุนีอย่าพึงกล่าว อักโกสกถา คือ ด่าบริภาษด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งแก่ภิกษุ ครุธรรมคำรบแปด คือ ภิกขุนีตั้งแต่วันบรรพชาพึงสดับโอวาทแห่งภิกษุ  อันกล่าวซึ่งธรรมกถาสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามภิกขุนีให้โอวาทสั่งสอนนั้น ครุธรรม ๘ ประการ ดังกล่าว ให้ภิกขุนีพึงบูชาคารวะ นับถือปฎิบัติอย่าได้ล่วงเสียตลอดชีวิต ผิว่าพระมหาปชาบดีรับครุธรรม ๘  ตถาคตก็จะอนุญาตให้เป็นภิกขุนี
            พระอานนท์เรียนเอาครุธรรมทั้ง ๘ แล้วออกมาสู่ที่สถิตพระมหาปชาบดี แจ้งเหตุตามกระแสพระพุทธฎีกา พระมหาปชาบดีรับพระพุทธโอวาท มีพระทัยโสมนัสตรัสแก่พระอานนท์ว่า มีความยินดี และรับเอาครุธรรม ๘ มาถือปฎิบัติตลอดชีวิต พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค  พระพุทธองค์ก็โปรดประทานอุปสมบท บรรพชาให้แก่ พระมหาปชาบดี กับนางขัตติยกัญญาศากยราชวงศ์ทั้ง ๕๐๐ องค์ เป็นภิกขุนีสงฆ์ สถิตอยู่ในกุฎาคารศาลานั้น
            ครั้นออกพระวัสสาปวารณาแล้ว พระผู้มีพระภาคก็เสด็จด้วยพระภิกขุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ออกจากเมืองเวสาลีไปสู่เมืองสาวัตถี ทรงสถิต ณ พระเชตวนาราม
            ฝ่ายว่ากรุงกบิลพัสดุ์นั้น เมื่อพระมหาปชาบดีเสด็จออกทรงบรรพชาแล้ว ชนทั้งหลายในพระนครนั้น มีมหาอำมาตย์ และราชปุโรหิตเป็นต้น จึงประชุมหารือกันพร้อมใจกันกระทำราชพิธีราชาภิเษกยก พระมหานามศากยราช ซึ่งเป็นพระเชษฐาโอรสแห่งพระอมิโตทนราช ผู้เป็นพระอนุชา พระเจ้าสุทโธทนะขึ้นครองราชย์ ส่วนพระยโสธราราชเทวี พระชนนีพระราหุล ได้เสด็จออกบรรพชา โดยได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปสู่เมืองสาวัตถี กราบทูลพระผู้มีพระภาคขอบรรพชา พร้อมบริวาร ๕๐๐
            พระผู้เป็นเจ้าพิมพาภิกขุนี เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา เจริญพระวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยพระจตุปฎิสัมภิทาญาณ

พระพุทธบิดา คลิกดูหน้าต่อไป

0 comments :

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

วัดพุทธบูชา

Picture 012

Picture 008 Picture 006

Picture 010 Picture 013