Derrida คืออะไรก็ไม่ทราบครับ เอาเป็นว่า คงหมายถึง การคิดเสียว่า ทุกสิ่งเป็นสิ่งสมมุติ
ก็รู้สึกเห็นด้วยครับ รู้สึกสงสารประชาชนที่กลายเป็นประหนึ่งหมากให้เขาเดิน
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ เกี่ยวกับการจัดการความทุกข์นั้น ท่านไม่ได้แนะให้ไม่สนใจเสียเลย หรือปิดการรับรู้ทั้งหมด ครับ ในฐานะที่เป็นประชาชนของประเทศนี้คนหนึ่ง เรามีหน้าที่ของเรา ครับ เราต้องทำตามหน้าที่นั้น ในฐานะประชาชน จะหลีกเลี่ยงเสียมิได้ หากจะเลี่ยง คงต้องเลี่ยงไปเป็นนักบวช ครับ และถึงเลี่ยงไปเป็นนักบวชแล้ว เกิดฝ่ายที่เราไม่ได้เชียร์ชนะขึ้นมา ก็ต้องรับสภาพในฐานะนักบวชเช่นกัน ครับ
และท่านก็ไม่ได้สอนให้เราเห็นแก่ตัวนะครับ บางคนศึกษาเพียงผิวเผิน ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด เอาคำว่า เป็นทางของคน คนเดียว ไปแปลว่า อ๋อ... สอนให้เอาตัวรอดไปเพียงคนเดียว ไม่สนใจใคร ไม่แคร์ญาติ มิตร ภรรยา หรือลูก
สิ่งที่ท่านสอน ท่านสอนให้ "วาง" ครับ และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้ถึงการวางได้อย่างแท้จริง คือ มรรคมีองค์ ๘ กับมัชฌิมาปฏิปทา-ทางสายกลาง ครับ
การปิดการรับรู้ในข่าวสาร มันเหมือนการหนีปัญหาไป ครับ เมื่อไหร่เปิดการรับรู้ใหม่ มันก็ทุกข์ใหม่ ท่านสอนถึง "ปัญหา" หรือ "ความทุกข์" ที่แท้จริง ไม่ใช่แมวที่ไหน ไม่ใช่ความขัดแย้งที่ไหน ไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจที่ไหน ไม่ใช่ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาสึนามิ ไม่ใช่ปัญหาน้ำท่วมโลก หรือ โลกจะแตก แต่ปัญหาอยู่ที่ "การรับรู้" ของเรา ครับ ภาษาบาลีเรียกว่า "ผัสสะ"
ผัสสะ หรือ การกระทบประสาทสัมผัส ของเรา มีเข้ามาได้ ๖ ทาง ครับ ท่านเรียกว่า อายตนะทั้ง ๖ มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้มันมีวิธีการจัดการกับผัสสะ หลายวิธี ครับ
เอาอย่างพระสูตร อาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยของร้อน ๖ อย่าง ท่านว่า
รูป เมื่อมากระทบ ตา ทำให้เร่าร้อน
เสียง เมื่อมากระทบ หู ทำให้เร่าร้อน
กลิ่น เมื่อมากระทบ จมูก ทำให้เร่าร้อน
รส เมื่อมากระทบ ลิ้น ทำให้เร่าร้อน
โผฏฐัพพะ หรือ สัมผัส เมื่อมากระทบ กาย ทำให้เร่าร้อน
ธรรมารมณ์ เมื่อมากระทบ ใจ ทำให้เร่าร้อน
ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นข่าวทางทีวี หูได้ยินเขารายงานข่าวทางทีวี ใจก็เอาไปคิดปรุงแต่ง แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น ครับ
ถ้าเราปิดตา ปิดหู ปิดทีวีเสีย ความทุกข์ก็ไม่เกิด ถูกไหมครับ แต่เปิดเมื่อไหร่ ก็ทุกข์เมื่อนั้น
ทีนี้ พระพุทธองค์ ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับรู้ หรือ ไม่ให้คิด ครับ แต่ท่านสอนให้รับรู้ ให้สัมผัส ให้คิด แล้วก็ให้ "วาง" ครับ
เชื่อไหมครับว่า พระอรหันต์นั้น ท่าน "วาง" ได้ในชั่วพริบตา ท่านจึงเป็นสุขอย่างยิ่งไงครับ ที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็เพราะท่านไม่ติดในอารมณ์ ครับ ตาเห็น หูฟัง ใจคิด เสร็จแล้วพิจารณาว่า มันเป็นสาระหรือไม่ พอทราบว่า มันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ของโลก ท่านก็วางทันที กระบวนการทั้งสิ้นนี้ เกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงวินาที ครับ
การติดในอารมณ์ หรือการไปวนเวียนครุ่นคิด บาลีเรียกว่า "อุปาทาน" ครับ
พระอรหันต์ท่านเป็นผู้มีสติบริบูรณ์ ดังนั้นพอทราบว่า อุปาทานเกิดปั๊บ ท่านละทันที ครับ สุขทันทีเหมือนกัน
ทีนี้ นั่นเป็นเรื่องของพระอรหันต์ แล้วเราปุถุชนเล่า จะจัดการเหล่าเหตุแห่งทุกข์เหล่านี้อย่างไร
ท่านสอนว่า ขั้นแรก ต้องเจริญสติสัมปชัญญะ ก่อนครับ เพราะถ้าไม่ฝึกรู้ตัว อุปาทานกินใจตอนไหน ยังไม่รู้ตัวเลยครับ ฟังข่าวปุ๊บ ความเครียดพุ่ง แล้วก็ไปนั่งโซแซด เหงาหงอย เป็นหอยป่วย โดยไม่ทราบเลยครับว่า กระบวนการเกิดความทุกข์นั้น ปาไปเป็นหลายขั้นแล้ว
ถ้าเรามีสติ คอยดูใจอยู่เสมอว่า ขณะนี้ ใจเราเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ นั่นเรียกว่า เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ครับ เหมาะกับผู้มีปัญญามาก อย่างพระสารีบุตร และท่านที่เป็นพุทธิจริต ชอบคิดเยอะ
ถ้าเรามีสติมากขึ้น เราจะเห็นทุกอย่างรอบกายช้าลง ครับ อะนั่น กำลังเปิดทีวี ... ตู๊ด ๆ ๆ ๆ (กำลังแสดงภาพสโลว์โมชั่น นึกภาพตามไปนะครับ) อะนั่น ผู้รายงานข่าว โผล่หน้าขึ้นมา ... ตู๊ด ๆ ๆ ๆ อะนั่น ผู้รายงานข่าวขยับปากพูด รายงานข่าวการเมือง ... ตู๊ด ๆ ๆ ๆ ตาได้เห็นภาพ หูได้ยินเสียง ... ตู๊ด ๆ ๆ ๆ ใจเริ่มคิด.... อุ๊ยนั่นฝ่ายที่เราเชียร์ กำลังเพลี่ยงพล้ำ ... ตู๊ด ๆ ๆ ๆ ใจคิดว่า "ไม่น่าเลย ไม่น่าเพลี่ยงพล้ำเลย" ปั่ม ป๊าม !!! เห็นไหมครับ จังหวะที่เกิดทุกข์ ทุกข์มันเกิดขึ้น ในวินาทีที่เราคิดว่า "ไม่น่าเลย ไม่น่าเพลี่ยงพล้ำเลย" และสังเกตุนะครับว่า ทุกข์มันไม่ได้เกิดที่ฝ่ายที่เราเชียร์เพลี่ยงพล้ำ แต่เกิดที่เรา "รับรู้" ว่า เพลี่ยงพล้ำ
ไอ้ความรู้ตัวนี่ มันต้องรู้ตัวขึ้นมาในวินาทีที่ความทุกข์เกิดขึ้น หรือไม่ก็ช้าไปไม่กี่วินาทีครับ ถึงจะเรียกว่า ใช้ได้ ยิ่งรู้ตัวเร็วขึ้นเท่าไหร่ ความทุกข์ก็จะน้อยลงมากขึ้นเท่านั้น ครับ
ยิ่งไปกว่านั้น พระอรหันต์บางองค์ เช่น ท่านพาหิยะทารุจิรียะ ผู้เป็นเอตทัคคะด้านบรรลุเร็ว ท่านเจ๋งกว่านั้นอีกครับ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมอย่างนี้ครับ ดูก่อน พาหิยะ เธอเห็นรูป จงสักแต่ว่า เห็นรูป นี่ละครับ พอเข้าใจไหมครับ ไอ้เรานี่ กว่าจะจับจังหวะให้รู้ถึงตัวทุกข์ขึ้นมา ก็ปาไปตอนคิดแล้วว่า "ไม่น่าเลย" ท่านพาหิยะนี่ ตัดเสียตั้งแต่ "ตาเห็นภาพ" หรือ "ตาเห็นผู้สื่อข่าว" เลยครับ ท่านรู้สึกว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็น คือไม่เอาไปคิดปรุงแต่งต่อ สุดยอดไหม ครับ
แต่กลไกการเกิดทุกข์นี่ บาลีเขาเรียกว่า "ปฏิจจสมุปปบาท" มี ๑๑ ขั้นตอน ตัดตรงไหนก็ขาด เหมือนกันหมดครับ จะตัดตอนคิดว่า "ไม่น่าเลย" หรือ ตัดตั้งแต่ "ตาเห็นผู้สื่อข่าว" ก็มีค่าเท่ากัน คือ วงจรการเกิดทุกข์ขาด ครับ
คราวนี้ถ้าฝึกฝนไปจนมีสติรู้แล้วว่า ความทุกข์เกิดขึ้นตอนไหน แล้วไงต่อ บางครูบาอาจารย์ก็แนะว่า ความทุกข์จะหายไปเอง แต่ถ้าอิงในตำรา ท่านแนะว่า ให้มองโลกเป็น ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ครับ ภาษาทางการเรียกว่า ไตรลักษณญาณ
ยกตัวอย่างเช่น รู้ตัวขึ้นมาเมื่อตอนคิดว่า "ไม่น่าเลย" ก็คิดเลยครับว่า มันเป็นทุกขัง จริงไหม การเพลี่ยงพล้ำ มันไม่สามารถทนอยู่ได้นาน จริงไหม แล้วมันก็เป็นทุกข์ จริงไหม การเพลี่ยงพล้ำมันก็เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวฝ่ายโน้นก็เพลี่ยงพล้ำบ้าง ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ไม่มีความเที่ยง จริงไหม แล้วสุดท้ายทั้งสองฝ่าย ก็ซี้แหง๋แก๋ ตายเรียบ อีกไม่เกินร้อยปี มันจริงไหม กระบวนการคิดยาวเหยียดนี่ คิดซ้ำไปซ้ำมาบ่อย ๆ มันจะสั้นลง และเร็วขึ้นครับ คือ คิดครั้งแรก อาจจะนานนิดหนึ่ง เพราะต้องคิดพิสูจน์ว่ามันจริงไหม พอทำ ๆ ไป มันกลายเป็นความเคยชินครับ มันเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ของทุกสิ่งในโลกนี้ เราคิดแล้วคิดอีก เป็นพัน เป็นหมื่นครั้ง ก็จริงทุกที คราวนี้ไม่ต้องคิดแล้วครับ พอชำนาญแล้ว จิตมันจำได้เลยครับว่า มันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกข์เกิดปุ๊บ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา คิดซ้ำ ๆ ไป ซ้ำ ๆ มา วันหนึ่งก็เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ครับ หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็น zero wait state สภาวะไม่มีการรอคอย เห็นปุ๊บ รู้ด้วยปัญญาทันที(ไม่ใช่รู้จากความจำนะ)เลยว่า มันเป็นไตรลักษณ์ รู้ปุ๊บ"วาง"ปั๊บ ก็จบกิจ เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ในพระพุทธศาสนา ครับ
ง่ายไหมครับ จบกิจกันง่าย ๆ เลย แม้ไม่ได้ต้องการถึงจบกิจ แต่ถ้าฝึกไปเรื่อย ๆ ชีวิตก็มีความสุขขึ้นมาก ทีเดียวครับ ถ้าอยากจบกิจ เริ่มที่ฝึกสติ ครับ ดูข่าวไป ฝึกสติไปด้วย ครับ วิธีเจริญสติ ครับ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ
ปล. ไหน ๆ ก็ว่า เรื่องธรรมะแล้ว ใส่เสียงธรรมลงไปด้วยดีฝ่า อิ อิ ... ห่างหายไปซะนาน ๑๔ นาทีเองครับ ฟังซะหน่อย ประดับสมอง เรื่องอยู่กับงูเห่า ของหลวงพ่ชา สุภัทโท ครับ
0 comments :
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น